“รถไฟจะไปโคราช ตดดังป้าดถึงราชบุรี ตดอีกทีถึงบริษัท บริษัทป้ำๆ เป๋อๆ ขอเสนอนิยายเรื่องสั้น ป้ากะปู่กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ปู่ไปเที่ยว…”
เชื่อว่าหลายๆคนคงคุ้นเคยกับบทเพลงด้านบนนี้แน่นอนแล้วเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมต้องนั่งรถไฟไปโคราชพยายามลองค้นหาข้อมูลดูก็ไม่มีที่มาที่ไปได้แต่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากการสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมานั่นเอง ด้วยความที่คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนและชอบร้องเพลง จึงได้นำเรื่องราวการนั่งรถไฟไปโคราชในสมัยนั้นมาร้องเล่นเป็นทำนองเพื่อความสนุกสนานกันมาจนถึงปัจจุบัน
ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไร แต่ว่าครั้งนี้จุดหมายปลายทางของเราคือโคราชหรือนครราชสีมาแน่นอน นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้ใช้บริการรถไฟ ส่วนตัวผมนั้นนานมากครับ ร่วม 20 ปีแล้วที่ไม่เคยได้นั่งรถไฟอีกเลย ทั้งที่ชีวิตในวัยเด็กก็ผูกพันกับรถไฟไม่น้อย เพราะว่าเวลาเดินไปโรงเรียนจะต้องผ่านทางรถไฟทุกวันพอถึงวันหยุดก็จะเดินตามรางรถไฟเพื่อไปเตะฟุตบอลที่สนามของโรงเรียนวัดราชโอรส เสร็จแล้วก็จะมากระโดดสะพานรถไฟเล่นน้ำคลอง เดี๋ยวนี้บรรยากาศแบบนั้นไม่มีแล้ว จนโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ใช้รถไฟเดินทางไกลไปสายใต้ ด้วยเหตุที่ว่าย้ายตัวเองไปเรียนที่จังหวัดตรัง นอนหน้าห้องน้ำบ้าง ยืนบ้าง เบื่อๆเมื่อยๆก็เดินไปตู้เสบียง การเดินทางด้วยรถไฟเป็นที่นิยมมากในช่วงที่ผมยังเด็ก เพราะราคาถูกมาก แถมยังมีความปลอดภัยสูง แม้จะช้าไปบ้างก็พอจะเข้าใจได้
วันนี้จะเป็นการนั่งรถไฟอีกครั้งโดยคิดเอาว่าหากนั่งรถไฟไปโคราช ดังที่เนื้อเพลงบอกไว้ เราจะได้พบเจออะไรบ้าง
ก่อนอื่นเราต้องจองตั๋วรถไฟกันครับ ปัจจุบันสามารถจองแบบออนไลน์ได้แล้วที่ www.thairailwayticket.com (จองล่วงหน้าได้ 60 วัน ก่อนเดินทาง) แต่ผมเลือกไปจองเองที่สถานีใกล้บ้าน ค่าโดยสารคนละ 100 บาท เป็นรถเร็ว ขบวนรถที่ 135 เที่ยวที่สองของวัน ออกเดินทางเวลา 6.40 น. ถึงสถานีปลายทาง 12.12 น. กับระยะทาง 259 กิโลเมตร (ข้อมูลจากกรมทางหลวง) ใช้เวลาเดินทางร่วม 6 ชั่วโมง ก็สบายๆครับกับวันหยุดที่ไม่เร่งรีบ
เพราะว่าห่างจากการใช้บริการการรถไฟมานานมาก พอได้ขึ้นรถไฟอีกครั้งก็รู้สึกตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้น บรรยากาศในรถไฟนั้นบอกเลยว่าเหมือนเดิมเปี๊ยบ ผู้คน แม่ค้าแม่ขาย ขึ้นมาขายของกันขวักไขว่ ขึ้นสถานีนี้ ลงสถานีหน้า มีให้เห็นตลอดเส้นทาง ซึ่งก็ทำให้ภาพในวัยเยาว์กลับมาอีกครั้ง ที่น่าสนใจคือผู้โดยสารส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุพอลองพูดคุยก็ได้คำตอบน่ารักๆกลับมาว่า “ป้าชอบรถไฟ มันปลอดภัยดี ป้าไม่รีบ นั่งไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ถึง”
ผมและเพื่อนร่วมทริปสนุกกับการดูวิถีชีวิตบนรถไฟมาก โดยเฉพาะการซื้อหาอาหารบนรถไฟ เผลอแป๊บเดียวก็มาถึงอยุธยาแล้ว ตลอดสองข้างจากกรุงเทพฯยังไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ กระทั่งถึงช่วงอยุธยาจะเริ่มมีวิวของซากเจดีย์เก่าให้เห็นอยู่บ้างระหว่างทาง พอเลยอยุธยาไปก็เริ่มมีวิวทุ่งนาข้าวให้ได้รู้สึกสดชื่นกัน นอกจากวิวสวยๆระหว่างทางแล้ว ผมยังคิดว่าเสน่ห์อีกอย่างของการเดินทางโดยรถไฟก็คือการได้ชมงานสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟ รวมถึงบ้านพักข้าราชการการรถไฟ ซึ่งบางแห่งยังคงเป็นอาคารไม้เก่าแบบโบราณ
เห็นแล้วมันก็ดูคลาสสิกดีรวมถึงสถานที่ที่เป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติเรา โดย สถานีหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากก็คือสถานีรถไฟผาเสด็จ ก่อนจะถึงสถานีมีหน้าผาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเคยเสด็จมาเมื่อคราวเปิดเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2438 และทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. ไว้บนหน้าผาแห่งนี้ เลยจากสถานีผาเสด็จไป 9 สถานี จะถึงสถานีคลองขนานจิตร ซึ่งตั้งอยู่ข้างเขื่อนลำตะคอง ก็มีวิวที่สวยงามมาก ถ้ามาจากกรุงเทพฯแนะนำให้นั่งฝั่งขวามือ
หลังจากนั้นนั่งมาอีก 11 สถานีก็จะถึงสถานีนครราชสีมา เวลาตอนนั้นคือเที่ยงกว่าๆ ผมยังไม่เหนื่อย ก็เลยขอเดินเที่ยวต่อ สิ่งแรกที่ทำก็คือกราบขอพรย่าโมที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน
ด้านหลังของอนุสาวรีย์จะมีประตูเมืองชื่อว่า “ประตูชุมพล” แม่ค้าแถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ถ้าชายใดได้เดินลอดประตูนี้จะได้กลับมาเป็นเขยโคราช อันนี้ไม่รู้จริงหรือเปล่า เป็นเพียงแค่เรื่องที่เล่าต่อๆกันมาจากนั้นเดินเท้าต่อไปทางซ้ายมือของย่าโมเดินเลยสี่แยกไปนิดหนึ่ง ขวามือจะเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ ซึ่งรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) อดีตพระเถระสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ขนาดไม่ใหญ่มากภายในพิพิธภัณฑ์ยังได้จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลองมโหระทึกสำริด ศิลาจารึก พระพุทธรูปสมัยต่างๆ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจมาก
ตกกลางคืนผมมาฝากท้องไว้ที่ตลาดเซฟวัน ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพเป็นตลาดที่ใหญ่มากมีขายทั้งของเก่าและของใหม่มากมาย อาหารการกินก็มีให้เลือกหลายอย่าง ผมว่าถ้ามาถึงโคราชแล้วไม่รู้จะไปไหน มาตลาดนี้ก็เข้าท่าอยู่นะครับส่วนที่พักนั้นราคาไม่แพงมีให้เลือกหลายที่หลายราคา ผมเลือกพักหลังห้างเดอะมอลล์ เนื่องจากเดินทางไปไหนมาไหนสะดวก
สำหรับขากลับกรุงเทพฯผมนั่งรถด่วนขบวนจากอุบลราชธานีกลับ ค่าตั๋ว 200 บาท รถออกจากสถานีนครราชสีมา 10.15 น. ถึงกรุงเทพฯเวลา 14.55 น. ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เร็วกว่าขาไป
เพราะการเดินทางคือการเรียนรู้อย่างหนึ่งของชีวิต สิ่งที่ผมได้เห็นจากการนั่งรถไฟไปโคราชในครั้งนี้คือมิตรภาพ และน้ำใจไมตรีของผู้ร่วมเดินทางในขบวนรถไฟนอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาก็คือความประทับใจในวิวสองข้างทาง และบริการจากเจ้าหน้าที่การรถไฟที่ดูแลประชาชนผู้โดยสารเป็นอย่างดี นิยามการท่องเที่ยวของผมคือ “การใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่น” ไม่คาดหวังว่าสถานที่นั้นๆจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปตามรอยใคร คิดอย่างเดียวคือ ไปแล้วใจต้องเป็นสุข แค่นั้นก็พอแล้ว
เรื่องและภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ : สมศักดิ์ แสงพลบ
นอนหนาวข้างเขาที่… เจ็ดคด – โป่งก้อนเส้า
สัมผัสชีวิตบ้านสวนที่ สวนภูมิใจ อีกหนึ่งสวนน่าเที่ยวในกรุงเทพฯ
“ คีรีวง ” หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าอากาศดีที่สุดในประเทศไทย