ท่อประปาโบราณ บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปทำภารกิจต่างที่ต่างถิ่นอดไม่ได้ที่จะต้องออกไปเดินสำรวจบรรยากาศของถิ่นที่ไปพยายามมองหาสิ่งที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้มาก่อน
ท่อประปาโบราณเพราะนอกจากการอ่านหนังสือแล้ว ก็มีการเดินทางท่องเที่ยวนี่ล่ะที่ช่วยเติมความรู้ทั่วไปและมักทำให้เราได้พบเห็นอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าบ้านเรายังมีเรื่องราวมากมายให้ค้นหาขึ้นอยู่กับว่าคุณจะข้ามผ่านมันไปหรือเลือกที่จะทำความรู้จักให้ถ่องแท้มากขึ้น
ผมกลับมาเยือนเมืองลพบุรีอีกครั้งเพื่อมาร่วมงานเลี้ยงที่โรงเรียนพระนารายณ์ อำเภอเมืองฯ ระหว่างที่รอร่วมงานก็อย่างที่บอกครับว่าชอบเดินสำรวจ ไปสะดุดตาตรงแท่งปูนท่อนหนึ่งที่นอนขวางอยู่เบื้องหน้า สิ่งนั้นคือท่อประปาที่อาจเรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในสยามประเทศ เป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบชาวฝรั่งเศสกับสังฆราชดาโกลีชาวอิตาลี ตั้งแต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของการประปาแห่งแรกในสยาม
จากบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นกล่าวไว้ว่าสังฆราชดาโกลีเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ. 2225 และเดินทางไปจีนในปีพ.ศ. 2227 ดังนั้นการประปาเมืองลพบุรีคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเวลาดังกล่าวคือภายหลังที่สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสร้างเมืองลพบุรีแล้วประมาณ 16 – 18 ปี
การวางท่อประปาในยุคนั้นจะใช้ท่อดินเผาซึ่งมีลักษณะเป็นท่อทรงกระบอกปลายด้านหนึ่งมีส่วนคอดเล็กลงกว่าปลายอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สวมกันเป็นท่อยาวได้ท่อดินเผานี้มีความหนาประมาณ 4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางท่อกว้างประมาณ 26 เซนติเมตร แต่ละท่อมีความยาวประมาณ 48 เซนติเมตร เมื่อเรียงสวมต่อกันแล้วจะเชื่อมหุ้มรอยต่อระหว่างท่อ ป้องกันการรั่วของน้ำด้วยปูนผสมหินโดยท่อถูกฝังไว้ใต้ดินในระดับความลึกประมาณ 1.50 เมตร จากระดับผิวดินในปัจจุบัน จากการศึกษาสำรวจและรายงานพบว่ามีการนำน้ำสะอาดจาก 2 แหล่งมาใช้ในพระราชวัง ได้แก่
น้ำจากทะเลชุบศร โดยต่อท่อผ่านประตูน้ำปากจั่นไหลลงมายังสระแก้ว(เก่า) แห่งที่ 1 ที่อยู่ในบริเวณสวนสัตว์สระแก้ว และมีการต่อท่อมายังสระแก้วแห่งที่ 2 คือวงเวียนสระแก้ว(วงเวียนศรีสุริโยทัย)ในปัจจุบัน จากนั้นจึงมีการวางท่อน้ำตรงเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรี
น้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่เกิดจากธรรมชาติ โดยไหลลงมาจากซอกเขาที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากระยะทางต้นน้ำค่อนข้างไกลมากจึงแบ่งดำเนินการเป็น 2 ช่วงช่วงแรกทำเป็นลำรางชักบังคับน้ำจากลำห้วยซับเหล็ก ทอดยาวมาจนถึงบริเวณท่าศาลา ช่วงที่ 2 จากท่าศาลาถึงตัวเมืองลพบุรีโดยวิธีการฝังท่อดินเผาลงดิน ระหว่างเส้นแนวท่อน้ำเข้าสู่เมืองลพบุรี มีการสร้างท่อ (ปล่อง) ระบายความดันน้ำไว้เป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เป็นจุดผ่อนคลายแรงดันของน้ำในฤดูที่มีน้ำมาก กระแสน้ำจะไหลแรง ป้องกันมิให้แรงดันของน้ำสูงเกินไปจนเกินกำลังของท่อดินเผา
จากหลักฐานทางโบราณคดียังพบว่าที่ตำหนักท้ายพิกุล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาทางทิศตะวันตกของกำแพงวัดพระพุทธบาทสระบุรี ยังได้ขุดค้นพบท่อดินเผาสำหรับส่งน้ำเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร สันนิษฐานกันว่าน่าจะเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเพราะเป็นการวางท่อในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมแต่หากพูดถึงความเป็นระบบระเบียบมากที่สุดก็จะเป็นที่ลพบุรีนี่แหละครับดังนั้นก็นับได้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ถือกำเนิดระบบการส่งน้ำด้วยท่อดินเผาเป็นกิจการประปาครั้งแรกในประเทศไทยที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง
ปัจจุบันห้วยซับเหล็กเป็นอ่างเก็บน้ำในเขตตำบลนิคมสร้างตนเอง เป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไปและยังมีพลับพลาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้แวะไปเยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์ ลองพาลูกหลานมาเรียนรู้เรื่องราวในอดีตกัน รับรองว่าสนุกแน่นอนครับ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล: อาจารย์ละเอียด พิเศษพงษาและอาจารย์กรองจิตต์ (สัมพัญญู) สมบัติมี
สถานที่: โรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
เรื่องและภาพ : “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพประกอบ: สหภาพ เสนาคำ
l l l l l l l l l l l l l l l l