คู่มือเที่ยว งานสถาปนิก '60 แบบวันเดียวจบ - room

คู่มือเที่ยว งานสถาปนิก’60 แบบวันเดียวจบ

งานสถาปนิก ’60 ในชื่อ “บ้าน บ้าน” ปีนี้ดำเนินเวลามาได้ครึ่งทางแล้ว (งานมีตั้งแต่วันที่ 2 – 7 พฤษภาคม)และยังคึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถาปนิก, วิศกร, ซัพพลายเออร์, นักธุรกิจ, เจ้าของบ้านฯลฯหลั่งไหลจนพื้นที่บนพรมทางเดินสีแดงในโถง Challenger Hall ของอิมแพ็คเมืองทองธานีคล้ายว่าจะเล็กลงไปถนัดตา

ไฮไลต์ของงานปีนี้ ผู้จัดเน้นไปที่นิทรรศการเรื่อง “บ้าน”อัดแน่นกันอยู่ในใจกลางของห้องโถงใหญ่ในโซนที่เรียกว่า “ASA Zone”ล้อมรอบไปด้วยบูทสินค้าและวัสดุก่อสร้าง หากใครเพิ่งเคยมาเดินแฟร์ประจำปีของนักออกแบบบ้านเป็นครั้งแรก ก็อาจจะสับสนกับทางเดินอันซับซ้อนกับบูทที่มีอยู่นับร้อยเอาได้ง่าย ๆ เอาเป็นว่า ใครที่อยากเก็บเรื่องราวภายในไฮไลต์ของนิทรรศการให้ครบทุกรส เดินตามแผนผังนี้รับรองว่าไม่มีหลง

โซนด้านหน้า

ประตูเข้าสู่โถงจัดงานจะแบ่งเป็น 3 ประตูหลัก คือ Challenger 1, 2, 3 เพื่อให้เข้าชมนิทรรศการเรื่องบ้านที่ผู้จัดออกแบบเรียงลำดับไว้ แนะนำให้เข้าจากประตู Challenger 2 ก็จะพบกับนิทรรศการนั้นในทันที

งานสถาปนิก'60

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯนิทรรศการ “สถาปนิกแห่งแผ่นดินบ้านบ้านในพระราชานิยม (Architect of the land)”คือนิทรรศการแรกที่ผู้เข้าชมจะได้พบหลังจากก้าวพ้นประตู

กล่องแสดงงานขนาด 9×9 เมตร แสดงแนวคิดเรื่องพระราชานิยมในเรื่องที่อยู่อาศัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ภายในจัดแสดงวิดีโอเกี่ยวกับพระองค์และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่และสิ่งแวดล้อมยาวประมาณ 5 นาทีต่อรอบ ผ่านสื่อมัลติมีเดียสุดล้ำโดยการฉายภาพเคลื่อนไหวจากโปรเจคเตอร์ลงบนพื้นและผนังรอบทิศทางที่ผู้จัดบอกว่าเหนือกว่าการฉายภาพ (Mapping) ธรรมดา ๆ

ทีเด็ดคือแว่นวีอาร์ (Visual Reality)ที่วางอยู่ในห้องฉายหนังนั้น ที่หากสวมแล้วก็คล้ายจะพาผู้ชมเข้าไปอยู่ในโครงการในพระราชดำรินั้น ๆ ได้ในทันที !

เสร็จจากบูทพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หันซ้าย – ขวา จะเจอบูทที่ละลานตาไปด้วยแท่นวางกับหุ่นจำลอง แถมชื่อยังคล้ายกันอีก เอาเป็นว่ามันประกอบไปด้วย

 

1.บ้าน บ้าน ตัวอย่าง (Baan Baan Case Study)– คือนิทรรศการแสดงตัวอย่างรูปแบบบ้านเปรียบเทียบให้เห็นจาก 2 ปัจจัยหลักที่คนที่กำลังมองหาบ้านคำนึงถึงอยู่เสมอนั่นคือ ขนาดพื้นที่ใช้สอย กับ ราคา

วิธีเดินเล่น ในนิทรรศการ ให้สังเกตเสารูปทรง 3 เหลี่ยม เสาจะบอกข้อมูลขนาดพื้นที่ใช้สอยของบ้านไว้ด้านหนึ่ง มีตั้งแต่0-50จนถึง 2000 ตารางเมตร และบอกราคาค่าก่อสร้างไว้ด้านหนึ่งมีตั้งแต่ 0-1 ล้าน จนถึงมากกว่า 50 ล้าน และรูปภาพตัวอย่างของบ้านจากสถาปนิก ไว้อีกด้านหนึ่ง

เจ้าของบ้านสามารถเริ่มดูตัวอย่างของบ้านจากขนาดพื้นที่ใช้สอยก่อนก็ได้ หรือจากราคาค่าก่อสร้างก่อนก็ได้ หรือจากสไตล์ที่คิดว่าชื่นชอบก่อนก็ได้ต้องการบ้านกี่ตางรางเมตร ราคาประมาณเท่าไร ก็เดินไปยังจุดนั้น ๆ ได้ตามต้องการ ให้นึกภาพคล้ายกราฟแคตาล็อกบ้าน 3 มิติที่ปรากฏบนพื้นให้เลือกเดินทะลุทะลวงได้ตามใจ

2.บ้าน บ้าน จำลอง (Baan Baan Mock Up)–คือจุดแสดงหุ่นจำลองที่พักอาศัยมากกว่า 100 แบบจากเหล่าสถาปนิก มีตั้งแต่สเกลครอบครัวจนถึงตึกสูงร่วมส่งผลงานโดยสถาปนิกและบริษัทออกแบบทั่วประเทศเพื่อแสดงรูปแบบที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย คล้ายเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เข้าชม ถ่ายรูป เก็บข้อมูล และได้เห็นภาพของรูปแบบที่อยู่อาศัยที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน

ถัดจากนั้นเข้ามาอีกนิด ข้างนิทรรศการของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วยนิทรรศการอันเป็นเนื้อหาหลักของงานด้านหนึ่งคือหัวใจของคำถามประจำงานสถาปนิกในปีนี้ “นิทรรศการ บ้าน บ้าน (Reconsidering Dwelling)”จัดแสดงเป็นซุ้มทางเดิน ให้ผู้คนเดินผ่านเส้นทางที่เล่าเรื่องราว พร้อมฝากให้ครุ่นคิด ทบทวน ถึงรูปแบบที่อยู่อาศัยรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ที่นอนของคนไร้บ้าน, เพิงพักของคนงานก่อสร้าง, กุฏิพระ, บ้านจัดสรร, แฟลต เรื่อยไปจนถึงบ้านที่มีเจ้าของเป็นสถาปนิกออกแบบบ้านตนเอง

นิทรรศการเล่าเรื่องราวของ “บ้าน” ปนไปกับวิถีชีวิต จากปากของผู้อยู่อาศัยเอง คล้ายสารคดีเรื่องยาวที่ให้ผู้เข้าชมได้นั่งคุยกับเจ้าของบ้านตัวเป็น ๆ

ปิดท้ายด้วยของเล่นสนุก ๆ ภายในบูทป้าย “บ้านของฉัน” และ “บ้าน (ในฝัน) ของฉัน” เปิดให้ผู้คนมาบอกเล่าความคิดความฝันเกี่ยวกับบ้านบนโพสอิทได้อย่างอิสระ

งานสถาปนิก '60

หากเดินข้ามไปอีกด้านหนึ่ง ก็จะเจอ“นิทรรศการ บ้านไทย บ้านใคร (Traditional and Vernacular Thai Dwelling)” – จัดแสดงหุ่นจำลองที่อยู่อาศัยที่พบเห็นได้ในถิ่นแถบของคนไทยในอดีต

หุ่นจำลองมากกว่า 10 ชิ้น หลากหลายด้วยขนาด และรูปแบบของยุคสมัย ทั้งเรือนพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ, เรือนเครื่องสับของเจ้านาย, เรือนห้องแถวของพ่อค้าชาวจีน และอีกมากมาย แต่ละชิ้นงดงามและละเอียดละออด้วยผ่านการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง นอกจากจะสวยไม่วางตายังชวนให้ผู้คนทำความเข้าใจรากเหง้าตนเองได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง

ติด ๆ กันนั้นก็ยังมี “นิทรรศการ บ้าน บ้าน รูปเล่าเรื่อง (Baan Baan Photo Essay)” – อีกหนึ่งนิทรรศการที่ประวิงเวลาผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้ไม่น้อยนิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายภายใต้ความคิดในการร่วมกันค้นหาความหมายของคำว่า “บ้าน” จากผู้คนทุกสาขาอาชีพที่ถูกคัดเลือกแล้ว

และท้ายสุด “นิทรรศการคบหุ่นสร้างบ้าน (Tectonic and Techonology)”ที่จะพาไปฉายภาพโลกอนาคต และยุคต่อไปของเทคโนโลยีการอยู่อาศัย – เป็นไปได้หรือที่เราสามารถ “ปริ้น” ของใช้อะไรก็ได้ที่เราต้องการไว้ใช้ในบ้าน, เป็นไปได้หรือที่เราจะสามารถเข้าไปเดินเที่ยวสถาปัตยกรรมที่ไหนก็ได้โดยแค่นั่งอยู่ที่บ้านของตัวเอง

เป็นไปได้หรือที่เราจะมี “หุ่นยนต์” มาแทนการสร้างบนด้วยฝีมือคน ผู้จัดบอกว่าเป็นไปได้แน่ และกำลังจะเป็นไปได้ในเวลาอันใกล้เสียด้วย เหมือนกับแขนหุ่นยนต์ที่ก้มหน้าก้มตาก่ออิฐทั้งวันอย่างไม่พักเลยสักนาที ที่พวกเขาพกมาโชว์ในงานคราวนี้นั่นเอง