แผ่วลมเย็นตั้งแต่แรกก้าวสู่สถานที่ อาคารสีเหลืองหม่นหลังโตโอบเอื้อต้อนรับผู้คนด้วยร่มเงาของใต้ถุนสูง และลมพัดเอื่อยผิวเหนือผืนน้ำ
หลังการประกาศขายที่ดินผืนทองของสถานทูตออสเตรเลียบนถนนสาธร Room มาเยือนสถานทูตที่เปิดทำการมาได้เป็นเวลากว่า 40 ปี และกำลังจะปิดตัวลง เพื่อย้ายสถานที่ทำการไปยังสถานทูตแห่งใหม่บนถนนวิทยุในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ครึ้มเขียวสะท้อนกระจกบานใหญ่ ลอยเหนือน้ำแน่วนิ่งตัดกับเหลืองหม่นของผิวกระเบื้องบนอาคารหลังโตคือพันธุ์ไม้ร้อนชื้นขึ้นดกหนาตั้งต้นรวมกอกันราวป่า หลายองค์ประกอบในอาคาร ให้รู้สึกคลับคล้ายคลับคลากับภาพของสถาปัตยกรรมไทยๆ ที่เคยคุ้น ตั้งแต่เสาหนุนอาคารให้สูงจนคล้ายว่าอยู่ในใต้ถุน คลองที่รายล้อมกลืนไปกับแลนด์สเคปต้นไม้ร้อนชื้น ไปจนถึงพื้นผิวของอาคาร ทั้งสีสัน และชนิดวัสดุ
ในบ่อน้ำมีเต่าและปลา… พันธุ์ไม้และบรรดาสัตว์จะไม่ล้มหายไปไหน เพราะจะถูกโยกย้ายไปยังที่ตั้งใหม่พร้อมกับบรรดาผู้คนด้วย แต่นั่นอาจไม่ได้รวมถึงอาคารหลังใหญ่หลังนี้ที่ยังไม่รู้จะอยู่…หรือไป
ผู้สร้าง
ชื่อของผู้ที่รังสรรค์สถาปัตยกรรมสีเหลืองมัสตาร์ดบนถนนสาธรหลังนี้ คือสถาปนิกผู้ล่วงลับเคน วูลลี่ (Ken Woolley) แห่งบริษัท ‘Ancher, Mortlock, And Woolley’
ในออสเตรเลีย ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ชื่อเสียงของ วูลลี่เริ่มได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมจากฝีมือของเขาได้รับรางวัลนับไม่ถ้วน และกลายเป็นภาพที่ปรากฏอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในเมืองซิดนีย์ ไม่ว่าจะเป็น Town Hall House ของซิดนีย์ ABC Radio and Orchestra Centre ที่อัลติโม Park Hyatt at Campbell’s Cove และอื่นๆ อีกมาก วูลลี่ถูกยกย่องให้เป็นต้นสายของกลุ่มผู้สร้างสถาปัตยกรรม ‘สกุลซิดนีย์ (Sydney School)’ แม้ว่าจะยังคงมีการถกเถียงกันถึงการมีอยู่ของสกุลนี้ ว่าจับต้องได้ หรือเป็นเพียงอุปทานหมู่ เพราะแม้แต่ตัววูลลี่เองก็ออกจะปฏิเสธชื่อเสียงนี้อยู่กลาย ๆ
ดังเช่นที่เขาให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร“Transition” เมื่อปี 1987 “A number of times I’ve said it didn’t exist, In the sense of a group of people getting together to form a school or even to recognise that there is one […], it didn’t exist.”
ปีค.ศ.1973 (พ.ศ.2517) วูลลี่ได้รับการติดต่อให้เป็นผู้สร้างสถานทูตหลังใหม่ให้กับประเทศของเขา บนแผ่นดินของเมืองกรุงเทพ อาคารแล้วเสร็จ และเปิดทำการในปีค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) ช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มมีการออกแบบ และสร้างอาคารสาธารณะมากขึ้น ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture)ตามกระแสนิยมทั่วโลก
สถาปนิกชาวออสเตรเลียเดินทางมาเยือนประเทศไทย มีหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล สถาปนิกไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ปรึกษาผู้พาวูลลี่ไปหาแรงบันดาลใจสำหรับสถาปัตยกรรมหลังใหม่ และทำหน้าที่เป็น Local Architectของสถาปัตยกรรมหลังนี้ ให้กับ เคน วูลลี่ เอง
สถาปัตยกรรมออสเตรเลีย ในบริบทไทย
วูลลี่กล่าวว่า ผู้ที่เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมของเขา คือเลอ กอร์บูซีเย มีส ฟานเดอร์โร และอัลวา อัลโต 3 สถาปนิกชื่อดังแห่งโลกสมัยใหม่ (Modernism)
คอนกรีต เหล็ก และกระจก วัสดุเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ก่อให้เกิดสไตล์การออกแบบแบบสากล (International Style) แต่เมื่อความงามแบบสากลนี้เดินทางมาถึงออสเตรเลีย ก็ดูเหมือนว่าจะถูกเหล่าสถาปนิกท้องถิ่นตัดต่อแต่งเติมเพื่อให้เข้ากับจริตของพวกเขาปีเตอร์ มูลเลอร์ (Peter Muller) สถาปนิกดังร่วมสมัยกับ เคน วูลลี่ เรียกวิธีการสร้างผลงานของตัวเองว่า เป็นการสร้าง ‘สถาปัตยกรรมเฉพาะที่ (Site-Specific Architecture)’
นอกเหนือจะถูกเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรม “สกุลซิดนีย์ (Syndey School)” แล้ว สถาปัตยกรรมของออสเตรเลียยังมีชื่อเล่นร่วมกันอีกว่า ‘Nut and berries style’ หรือที่โรบิน บอยด์ (Robin Boyd) สถาปนิกและนักเขียนชาวออสเตรเลีย อธิบายไว้ว่าเป็นลักษณะแบบ ‘Nutty crunchy textures’ พื้นผิวของบ้านหรืออาคารที่ประดิษฐ์ ประกอบด้วยวิธีแฮนด์เมด จากวัสดุธรรมชาติที่เหล่าสถาปนิกท้องถิ่นนี้นิยมใช้อย่างไม้ หิน อิฐ ถูกนำมาใช้เติมความเรียบแบนของอาคารโมเดิร์น
และก็คงเป็นเช่นนั้นจริง เพราะถ้าดูจากผลงานของวูลลี่ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย พื้นผิวและองค์ประกอบต่างๆ ที่สถาปนิกสร้างสรรค์นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่สถาปนิกหยิบจับมาจากสิ่งที่เขาเห็นรอบตัว
ในด้านความเป็นสมัยใหม่ คอนกรีตของวูลลี่แสดงเส้นสายชัด ทั้งโครงสร้างเสา ที่รับพื้นลอยแผ่ออกเป็นเรขาคณิตรูปทรงสี่เหลี่ยม วูลลี่ยังออกแบบให้อาคารโอบล้อมเป็นคอร์ทยาร์ด เพื่อประโยชน์เรื่องการระบายอากาศและให้แสงธรรมชาติ อาคารสูงขึ้นไปเป็นขั้นบันไดกลับหัว ชั้นบนจะบดบังชั้นล่างเล็กน้อยลดหลั่นกันลงมากลายเป็นชายคาให้ร่มเงา พร้อมกันนั้น การลดหลั่นของชั้นยังทำให้ภาพของเสาสูงที่วิ่งลงสู่ดินและน้ำเด่นชัด คล้ายบรรยากาศใต้เรือนใต้ถุนสูงอย่างไทย
วูลลี่แสดงสุนทรียะในศักยภาพของอุตสาหกรรมการก่อสร้างผ่านเส้นสายรังผึ้งของโครงสร้างพื้น (Waffle Slab) กรุผนังกระจกบานใหญ่ใส่ผนังอย่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พื้นผิวผนังนอกเหนือจากนั้นสถาปนิกสร้างเอกลักษณ์ด้วยการเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกสีเหลืองทอง จากเชียงใหม่ กรุรอบทั้งอาคารทั้งผนังและเสา และยังรวมถึงในอาคารบางส่วนด้วย พื้นภายนอกรอบๆ และในส่วนต้อนรับ ขรุขระด้วยพื้นผิวของหินชนวนสีเข้ม จากสัตหีบ นอกจากนั้นวูลลี่ยังตกแต่งภายในหลายส่วนด้วยไม้สักสีน้ำตาลทอง
ก่อนเหลือเพียงภาพถ่าย
ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเช่นนี้ ผลการครอบครองที่ดินยังไม่ปรากฏว่าเจ้าสัวคนใดจะได้ครอบครองที่ดินผืนทองของถนนสาธร
“ที่ใหม่ก็น่าชื่นชม”เอกอัครราชทูตออสเตรเลียกล่าวถึงสถานทูตหลังใหม่ของพวกเขาที่กำลังก่อสร้าง โดยบอกว่าสิ่งเดียวกันที่สถาปนิกทั้งสอง หนึ่งคือวูลลี่ และสองคือเจมส์ โกรซ (James Groseจาก BVN Architecture ผู้ออกแบบสถานทูตแห่งใหม่บนถนนวิทยุ ใกล้สถานทูตญี่ปุ่น) ต้องการคือ การผสานเอกลักษณ์ประเทศไทย เข้ากับสถาปัตยกรรมของออสเตรเลีย เหมือนการเชื่อมไมตรีที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ
สมัยเด็ก ก่อนก้าวเข้าสู่โลกของสถาปัตยกรรม วูลลี่เคยศึกษาด้านดนตรี จึงไม่น่าแปลกใจที่ในหนังสือ “Ken Woolley and Ancher Mortlock& Woolley” หนังสือรวมผลงานของเขา วูลลี่จะกล่าวถึงความคล้ายกันระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดนตรี เช่นนั้น ก็ดูเหมือนว่า ทำนองของสถาปัตยกรรมลูกครึ่งในต่างแดนของเขา คงกำลังบรรเลงมาถึงท่อนสุดท้าย
อ้างอิง
Woolley, Ken: หนังสือ Ken Woolley and Anchor Mortlock& Woolley: Selected and Current Works
- Stephen Sennott: หนังสือ Encyclopedia of Twentieth Century Architecture, Volume1, A-F
http://architecturebulletin.com.au/autumn-2015/the-sydney-school/
http://architectureau.com/articles/vale-ken-woolley-1933-2015/
https://beersingnoi.com/2014/10/27/the-australian-embassy/
เรื่อง: Korakada
ภาพ: Beer Singnoi