/ เราคิดไปถึงการสร้างรังของนกจากวัสดุหลากหลายแหล่ง
นำมาสานต่อรวมกัน โดยเราเชื่อว่ามนุษย์ก็สามารถอยู่อาศัยได้แบบนั้นเช่นกันจึงรวบรวมวัสดุเหลือใช้มาสร้าง บ้านโครงสร้างเหล็ก หลังนี้ /
ลองจินตนาการหากคุณได้เป็นนก หลังโบยบินอย่างอิสระจนเหนื่อยล้าเต็มที ก็ถึงเวลาหันปีกมุ่งหน้ากลับมาพักผ่อนที่รังหลังเล็กภายใต้อ้อมกอดแสนอบอุ่นของธรรมชาติ และนี่คือไอเดียเริ่มต้นที่ a21 studio ทีมสถาปนิกจากเวียดนามซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองในขณะนี้ นำมาต่อยอดเป็นผลงานออกแบบ บ้านโครงสร้างเหล็ก ย่านชานเมืองของนครโฮจิมินห์ในชื่อ “The Nest” ให้คุณ Tho Dinh Tran นักข่าวหนังสือพิมพ์
“จากเงื่อนไขของเจ้าของบ้านที่มีงบประมาณไม่มากนักกับความต้องการบ้านขนาดสองห้องนอนที่ห้อมล้อมด้วยต้นไม้เหมือนเป็น Green Box ทีมเราจึงคิดไปถึงการก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็ก ซึ่งประหยัดทั้งเวลาในการก่อสร้างและงบประมาณ แล้วเราก็คิดไปถึงการสร้างรังของนกที่เกิดจากการรวบรวมวัสดุจากหลาย ๆ แหล่งมาสานต่อกัน ซึ่งเราเชื่อว่ามนุษย์ก็สามารถอยู่อาศัยแบบนั้นได้เช่นกัน จึงรวบรวมวัสดุเหลือใช้จากผู้รับเหมานำมาสร้างบ้านหลังนี้”
เรื่องวัสดุทั้งโครงสร้างและงานภายในได้รับความช่วยเหลือจากผู้รับเหมาซึ่งมีโกดังรวบรวมวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างหรือถูกรื้อถอนจากบ้านหลังอื่น บ้านทั้งหลังจึงประกอบขึ้นจากเหล็ก มีทั้งที่เป็นโครงสร้างของตัวบ้านกับเสาขนาด 90 x 90 เซนติเมตร และคาน ขนาด 30 x 30 เซนติเมตร ผนังกรุเมทัลชีท และรั้วครอบเป็นกล่องเฟรมเหล็กขึงตาข่าย โดยเฉพาะฟาเซดด้านหน้าที่มีการจัดองค์ประกอบแพตเทิร์นจากเฟรมเหล็ก ด้านข้างปลูกไม้เลื้อยให้กิ่งก้านค่อย ๆ ขึ้นคลุมฟาเซดกลายเป็นกรีนบ็อกซ์สมบูรณ์แบบ
“เลือกใช้โครงสร้างเหล็กรียูสเพราะตอบโจทย์ได้ทุกข้อตั้งแต่การใช้เวลาก่อสร้างเพียง 3 เดือน ประหยัดค่าแรงงาน โครงสร้างน้ำหนักเบาช่วยลดค่าใช้จ่ายงานฐานรากจากปกติซึ่งอยู่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณการก่อสร้างบ้านทั้งหลัง”
นอกจากประโยชน์เรื่องงานโครงสร้างและงบประมาณแล้ว ยังมีความปลอดภัยจากตาข่ายที่ล้อมรอบตัวบ้านทุกทิศได้ลุคดูเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่หวือหวาไปกว่าเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ
คอนเซ็ปต์ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิดธรรมชาติ ถอดความเป็นรูปธรรมผ่านการอุปมาว่าบ้านนี้เหมือนรังนก “นกอาศัยอยู่บนกิ่งก้านและกลุ่มใบไม้ เราก็เลยเทียบจากพฤติกรรมได้ว่า ห้องนอนควรอยู่ชั้นบนเหมือนกับรังนก และชั้นล่างก็อาศัยร่มไม้เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักผ่อน และเปิดโล่งเพื่อให้สามารถทำกิจกรรม หรือจะเคลื่อนย้ายไปใช้งานส่วนใดก็ได้”
สองห้องนอนที่เจ้าของอยากได้จึงอยู่บนชั้นสอง ส่วนชั้นล่างเป็นห้องครัวและห้องนั่งเล่นแบบโอเพ่น ทลายเส้นแบ่งระหว่างภายนอกและภายในบ้านด้วยการเปิดออกสู่ธรรมชาติโดยไม่มีขอบเขตของผนังหรือประตู – หน้าต่างกั้นขวาง ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของบ้านก็สามารถรื่นรมย์กับต้นไม้อย่างเต็มตา หรืออาจพูดได้ว่าต้นไม้เป็นเหมือนขอบเขตของบ้าน และบ้านก็เป็นจุดเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่าง
ต้นไม้กับผู้พักอาศัย
ส่วนงานตกแต่งภายในบ้านก็ยังคงคอนเซ็ปต์การเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ อย่างกระเบื้องปูพื้นคละลวดลายที่เราเห็นกันบ่อยจนแทบจะเรียกว่าเป็นคาแร็คเตอร์ของสตูดิโอแห่งนี้ไปแล้ว “จริง ๆ เราเคยใช้งานกระเบื้องลักษณะนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเหตุผลเกิดจากการสะสมรวบรวมของเก่าแล้วนำมามิกซ์แอนด์แมตช์เข้าด้วยกัน และยังประหยัดต้นทุนอีกด้วย”
จากแนวคิดเริ่มต้น ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และกลั่นกรองทุกรายละเอียดจนออกมาเป็นบ้านรังนกส่งผลให้บ้านหลังนี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงหรือ Highly Commended ในบรรดาผู้เข้าชิงรางวัล World Architecture Festival หรือ WAF ปีล่าสุดในสาขาที่พักอาศัย ด้วยคำนิยมที่ว่า “เป็นการนำของไม่ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้งและยังเต็มไปด้วยฟังก์ชันที่มาพร้อมกับความงาม”
ออกแบบ : a21 studio
เรื่อง : skiixy
ภาพ : Hiroyuki Oki
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : March 2015 No.145
http://www.baanlaesuan.com/5941/houses/garden-embrace/
http://www.baanlaesuan.com/5962/houses/white-brick-home/