10 ศัพท์กาแฟ น่ารู้

10 ศัพท์กาแฟ น่ารู้

6. Agtron

ขอบคุณภาพจาก : www.stir-tea-coffee.com/

อักตรอน คือ ระบบการวัดค่าสีของเมล็ดกาแฟคั่วที่จะบอกระดับความเข้มได้เข้าใจตรงกันทั่วโลก ใช้ตัวเลข 0-100 ในการบอกสีของกาแฟ ตัวเลขน้อยหมายถึงคั่วเข้มกว่า ตัวเลขที่มากขึ้นไปบอกถึงระดับการคั่วที่อ่อนลง โรงคั่วกาแฟหลายแห่งไม่ได้ระบุระดับการคั่วว่า อ่อน (Light) กลาง (Medium) หรือเข้ม (Dark) ซึ่งมักจะไม่ตรงกันสักแห่ง แต่ใช้ค่า Agtron บอกไว้แทน ระดับที่ควรรู้ไว้ คือ Agtron#75 = คั่วอ่อน (Light Roast)  Agtron #55 = คั่วกลาง (Medium Roast)  Agtron #35=คั่วเข้ม (Dark Roast) อยากซื้อกาแฟสักถุงไปชง ถ้ามีตัวเลขนี้ระบุไว้ด้วย อย่าลืมดูให้แน่ใจว่าจะได้กาแฟที่มีระดับการคั่วตามที่ต้องการ

7. Cascara

ขอบคุณภาพจาก : www.hackberrytea.com

“ชาเปลือกกาแฟ” เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Cascara ซึ่งในภาษาสเปน แปลว่า ผิวหรือเปลือกของผลไม้ ทำจากเปลือกของผลเชอร์รี่กาแฟที่ถูกสีออกมาระหว่างการแปรรูปแบบ Wet Process เพื่อนำเมล็ดด้านในไปใช้ ส่วนของเชอร์รี่กาแฟนี้จะถูกนำไปตากแห้ง บดแบบหยาบๆ และนำไปชงด้วยน้ำร้อนแบบเดียวกับการชงชา จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มประเภท tea-like เปลือกเชอร์รี่แห้งมีกลิ่นคล้ายๆ ลูกเกดผสมลูกพรุน ชงออกมาจะมีรสชาติเฉพาะตัว หวานอมเปรี้ยว มีวิตามิน น้ำตาลธรรมชาติ และสารต้านอนุมูลอิสระ แต่เห็นเป็นชาสมุนไพรอย่าคิดว่าจะจิบเพลินๆ ได้ตลอดวัน เพราะยังอุดมไปด้วยคาเฟอีนไม่แพ้กาแฟ

8. Geisha

ขอบคุณภาพจาก : www.lagunasadventures.com

สายพันธุ์หนึ่งของกาแฟอาราบิก้าที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในปี ค.ศ.2004 จากการประกวดกาแฟที่เรียกว่า Cup of Excellence (COE) ในประเทศปานามา ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวสวนกาแฟในประเทศปานามาส่งกาแฟเข้าแข่งขัน โดยที่มีตัวแทนบริษัทกาแฟทั่วโลกเดินทางไปชิมกาแฟและประมูลซื้อ มีกาแฟหนึ่งหมายเลขที่มีรสชาติโดดเด่น หวานกลมกล่อม เต็มไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ รสชาติผลไม้เมืองร้อน มะม่วง ส้มแมนดาริน และอีกสารพัด ทิ้งความหอมหวานยาวนานอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน กลายเป็นกาแฟดาวเด่นที่เปล่งประกายในการประกวดกาแฟในช่วงปี 2004-2009 จนมีผู้ให้สมญาว่า God in the Cup

9. Nitro Cold Brew

ขอบคุณภาพจาก : www.majalah.ottencoffee.co.id

วิธีการชงกาแฟแบบสกัดช้าๆ โดยไม่ได้ใช้ความร้อน ได้รับความนิยมในช่วงสองสามปีมานี้ โดยใช้กาแฟบดหยาบแช่สกัดในน้ำเย็นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้องในระยะเวลา 8-24 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อกรองแยกกากออกมาสามารถบรรจุขวดเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เมื่อนำกาแฟโคลด์บริวนี้ไปบรรจุในถังอัดก๊าซไนโตรเจนและเสิร์ฟโดยใช้หัวจ่ายแบบเดียวกับดราฟต์เบียร์หรือเบียร์สด ก็จะได้กาแฟไนโตรโคลด์บริวที่รสชาติหวานซ่อนเปรี้ยว ซาบซ่าถึงใจ หอมนุ่ม ให้อารมณ์คล้ายๆ ดราฟต์เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์แต่อุดมด้วยคาเฟอีน

10. Cupping

ใครบางคนบอกไว้ว่าการคั่วหรือชงกาแฟที่ปราศจากการ Cupping ก็เหมือนเชฟที่ทำอาหารโดยไม่รู้รสวัตถุดิบ Cupping คือ การชิมทดสอบกาแฟในถ้วย เพื่อประเมินคุณภาพของกาแฟแต่ละตัวว่าดีไม่ดี มีข้อบกพร่องหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ (Defect) อะไรบ้าง และมีกลิ่นรสอะไรโดดเด่น เนื้อสัมผัสเป็นอย่างไร ทิ้งรสชาติค้างอยู่ในปากหรือไม่ สำหรับคนปลูกกาแฟ Cupping จะทำให้รู้ว่ากาแฟตัวเองมีคุณภาพเป็นอย่างไร คนคั่วกาแฟรู้ว่ากาแฟตัวนี้มีกลิ่นรสอะไร ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ คั่วแบบไหนถึงจะเหมาะ เพื่อนำไปบอกลูกค้าหรือบาริสต้าต่อ ซึ่งมีการสร้างมาตรฐานคะแนนในการ cupping ที่เข้าใจตรงกัน เป็นที่ยอมรับทั่วโลกขึ้นมาใช้อ้างอิงเวลาชิมกาแฟ คนที่สามารถชิมทดสอบกาแฟและให้คะแนนอย่างเป็นทางการเรียกว่า Q Grader ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนรับรู้รสชาติได้พอกับนักชิมกาแฟ แต่การแยกแยะรายละเอียดและระบุออกมานั้นต้องอาศัยทักษะ การฝึกฝน และเป็นเรื่องของประสบการณ์ สำหรับคนดื่มกาแฟอย่างเรา การ Cupping จะทำให้รับรู้รสชาติแตกต่างที่มีอยู่ในกาแฟและทำให้เรารื่นรมย์กับกลิ่นรสกาแฟได้มากขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติมHow it Works : Coffee Maker และ How it Works : Coffee Maker EP.2

 

เรื่อง : “อรุษ”

ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร