หนึ่งไอเดียสำหรับใครที่คิดจะ รีโนเวทบ้านเก่า ที่ทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะตึกสูงเสียดฟ้า รถราขวักไขว่ พื้นที่ในเมืองใหญ่เล็กลงทุกที แม้แต่การมีบ้านสักหลังก็จำเป็นต้องจัดสรรพื้นที่ให้ลงตัวไม่ต่างจากอยู่ในห้องสตูดิโอของคอนโดมิเนียมเลย อย่างเช่น บ้านหลังนี้ที่เกิดจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่อยากอาศัยอยู่ในบ้านเก่าหลังเดิมที่มีอายุมากกว่าห้าสิบปี
“คิดเอาไว้นานแล้วว่าอยาก รีโนเวทบ้านเก่า ให้อยู่สบายขึ้นเพราะตัวบ้านเก่าและทรุดโทรมมาก ทั้งยังค่อนข้างต่ำกว่าระดับพื้นถนน เวลาฝนตกหนัก ๆ น้ำระบายไม่ทัน ไหลจากถนนเข้าตัวบ้าน ลำบากทั้งตอนอยู่และตอนทำความสะอาด” คุณต้น – ประเสริฐ ชัยสิทธิฤกษ์กุล เจ้าของบ้านที่พ่วงตำแหน่งมัณฑนากรบอกยิ้ม ๆ
กระทั่งเมื่อได้โอกาสเหมาะทั้งเขาและภรรยา คุณอ้อ -ภุมมรี บวรวิวุฒิ จึงตัดสินใจเปลี่ยนที่อยู่จากห้องชุดกลางเมืองมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านไม้สองชั้นหลังนี้อย่างจริงจัง
// งานออกแบบที่ดีไม่ใช่แค่รูปลักษณ์
แต่ต้องรวมการใช้งานเข้ากับความเป็นไปได้
เพื่อผลลัพธ์ที่ถูกจริตถูกใจ //
ความคิดแรกที่แวบเข้ามาคือ “รื้อหมดทั้งหลังให้เหลือแต่ที่” ดินเปล่า แล้วสร้างใหม่เลยครับ แต่เขาทำได้เพียงแค่คิด เพราะหัวใจสำคัญของบ้านคือคุณปู่คุณย่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้มาเนิ่นนาน ไม่ใช่เพียงข้าวของประดามีหรือความคุ้นเคยในพื้นที่ แต่เป็นภาพความทรงจำ เรื่องราวต่าง ๆ ที่อาจเลือนหายไป ซึ่งทั้งเขาและคุณอ้อไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย
“ด้วยความที่คุณปู่คุณย่าของเยอะ และทุกชิ้นก็มีเรื่องราว พวกท่านตัดใจทิ้งไม่ได้ เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนให้น้อย เลือกใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มากที่สุด สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องดี เพราะให้อารมณ์ความรู้สึกถึงบ้านไม้หลังเดิม ในขณะที่การใช้งานก็สะดวกสบายขึ้น”
การปรับปรุงเริ่มจากรื้อภายในทุกอย่างออก แล้วคงไว้เพียงโครงสร้างไม้ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของพื้นที่ในบ้านว่าจะแบ่งการใช้งานเป็นอย่างไรดี คุณต้นบอกว่าเมื่อพิจารณาจริง ๆ แล้ว เขาและภรรยาไม่ได้ต้องการความกว้างขวางใหญ่โต แต่อยากเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่เอื้อต่อคนทุกรุ่นในครอบครัว
“เสน่ห์บ้านเก่าคือ มันเย็นสบาย ชั้นล่างจึงทำเป็นพื้นที่เปิดโล่งทั้งหมด รับลมจากด้านหน้า มีทั้งส่วนรับแขกส่วนกินข้าว และครัว เสร็จสรรพในสเปซเดียว”
ส่วนเรื่องสไตล์ทั้งคู่บอกว่าผสมผสานกันทั้งของเก่าของใหม่ เพราะของเก่าหลายชิ้นเมื่อนำมาประยุกต์ ปรับนิดเปลี่ยนหน่อยก็ดูโก้เก๋ใช้งานสะดวกขึ้น ในขณะที่ของใหม่ก็ช่วยเฟรชอัพให้บางจุดบางมุมดูสดใสมีมิติกว่าเดิม
นอกจากพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของบ้านแล้ว ยังมีห้องนอนเล็กสำหรับคุณปู่คุณย่าที่คุณต้นออกแบบให้อยู่ชั้นล่างเพื่อให้พวกท่านใช้งานสะดวก รวมถึงห้องน้ำสองห้องที่ใช้ได้ทั้งคนในบ้านและแขกที่มาเยี่ยมเยือน
“ปัญหาน้ำจากถนนไหลเข้าบ้าน ผมใช้วิธีทำยกพื้นซีเมนต์กั้นหนึ่งชั้นก่อนเข้าบ้าน ส่วนภายในก็ปรับยกพื้นขึ้นมาแค่นิดหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นหัวจะชนคานบ้าน แล้วเจาะช่องวอยด์ (void) เพื่อเปิดฝ้าเพดานไปจนถึงชั้นสองให้ดูโปร่งโล่งแทน”
และเมื่อถูกเจาะไปเกินครึ่ง พื้นที่ชั้นสองจึงเป็นเหมือนไพรเวตโซน มีเพียงห้องนอนควบรวมกับห้องทำงานเท่านั้นซึ่งก็เพียงพอต่อการใช้งานจริงของเจ้าของบ้าน
“พอทำแล้วก็รู้สึกดีครับ เพราะยังดูคล้าย ๆ บ้านเก่าเพียงแต่อยู่ดีขึ้น อยู่สบายขึ้น แฮ็ปปี้มาก ๆ ไม่ต้องออกไปข้างนอก ใช้เวลาอยู่ในบ้านก็โอเคแล้ว”
ความสุข ความสบาย บางทีก็หาง่ายและใกล้ตัวกว่าที่คิดจริง ๆ
เรื่อง : มนตรา ศิริขันธ์
ภาพ : จิระศักดิ์ ทองหยวก, นันทิยา บุษบงค์
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : April 2015 No.146