เราแปลกใจเล็กน้อยเมื่อมาถึงย่าน Bedok ทางฝั่งตะวันออกของเกาะสิงคโปร์ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยทิวแถวของ HDB Flat (แฟลตซึ่งจัดสรรโดย Housing and Development Board หรือการเคหะของรัฐบาล) ทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าโรงเรียน ไปจนถึงสวนสาธารณะจนคล้ายเป็นเมืองย่อม ๆอีกเมืองหนึ่ง
จุดหมายปลายทางของเราวันนี้คือบ้านของ Dr.Leonard Lim นอกจากอาชีพหลักอย่างทันตแพทย์แล้ว เขายังเป็นนักจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น (Ikebana) และเป็นประธานสมาคม Ikenobo Ikebana Society สาขาสิงคโปร์อีกด้วย
“ผมเป็นทันตแพทย์และมีคลินิกส่วนตัว ส่วนการจัดดอกไม้เป็นงานอดิเรก และอาจเป็นงานหลังเกษียณของผมด้วย เพราะหลังจากเลิกงานผมจะรับสอนและจัดเวิร์คชอปเกี่ยวกับอิเคะบะนะเดือนละ 4 วันที่โรงเรียนในสิงคโปร์”
นั่นอาจช่วยตอบคำถามว่าทำไมบ้านหลังกะทัดรัดของคุณลีโอนาร์ดจึงแตกต่างจากแฟลตทั่ว ๆ ไปของชาวสิงคโปร์ ด้วยการตกแต่งแบบ “สไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม” ที่เขาหลงใหลโดยงานนี้เขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนทนายคนสนิทอย่าง Mr. Suhaimi Lazim ที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านมาช่วยแปลงโฉมบ้านในฝันให้
“ตอนที่ผมออกแบบที่นี่ ผมพยายามให้มันมีความเป็น ‘เซน’ ทุกอย่างดูน้อยและเรียบง่าย โดยเติมกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมด้วยการเลือกใช้ประตูบานเลื่อน และออกแบบแพตเทิร์นลวดลายโครงไม้ให้เหมือนบ้านญี่ปุ่นโบราณ”
คุณสุไฮมีอธิบายพลางเดินนำเข้ามาในตัวบ้าน เราสัมผัสได้ทันทีถึงความสงบและโปร่งสบายแตกต่างจากบรรยากาศร้อนระอุและวุ่นวายภายนอก ห้องนั่งเล่นกับพื้นที่รับประทานอาหารเชื่อมต่อกันในสเปซเปิดโล่ง จัดวางเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เรียบแต่น้อยชิ้น ช่วยเน้นย้ำถึงความเป็น“เซน” อย่างที่ผู้ออกแบบตั้งใจ โดยเลือกใช้วัสดุที่สื่อถึงความเป็นธรรมชาติพื้นถิ่นอย่างไม้สีเข้ม เข้ากันดีกับผนังกระเบื้องลายหินแกรนิตสีเทา ส่วนลวดลายกราฟิกเรียบ ๆบนผนังและบานประตูสไลด์ช่วยเพิ่มกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นให้ดูโมเดิร์นขึ้น
คุณลีโอนาร์ดอาศัยอยู่กับคุณแม่ บ้านขนาดสองห้องนอนและสองห้องน้ำจึงพอเหมาะกับการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายตามวิถีญี่ปุ่นดั้งเดิมในบริบทของสังคมปัจจุบันภายในห้องนอนเลือกใช้วัสดุไม้ต่างลวดลายเพื่อสร้างความหลากหลายน่าสนใจ นอกจากนี้หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าบานตู้เสื้อผ้าทำมาจากม่านกระจูดซึ่งให้เท็กซ์เจอร์และผิวสัมผัสที่แตกต่าง เสริมด้วยไฟดาวน์ไลท์ส่องเฉพาะจุด ช่วยสร้างบรรยากาศที่แตกต่างจากห้องนั่งเล่นไปอย่างสิ้นเชิง
“จริง ๆ ในห้องนอน ผมออกแบบเตียงเสื่อทาตามิบนพื้นเรียบ ๆ แต่คุณแม่ค่อนข้างอายุมากแล้ว ก็เลยใช้เป็นเตียงธรรมดาที่มีความสูงปกติจะสะดวกกว่า ในส่วนเตียงนอนผมออกแบบให้ยกพื้นเพื่อแบ่งสัดส่วน และซ่อนไฟไว้ข้างใต้เพื่อให้เกิดมิติและใช้งานได้สะดวก”
แม้จะน้อยชิ้น แต่เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นก็สะท้อนความหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี คุณสุไฮมีใช้เวลาว่างจากการทำงานด้านกฎหมายที่ฮ่องกงในการช็อปปิ้งคอลเล็คชั่นของตกแต่งสไตล์แอนทีคสำหรับคุณลีโอนาร์ดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ทั่วทั้งบ้านยังมีคอลเล็คชั่นแจกันของเจ้าของบ้านให้เราได้ชื่นชมเป็นระยะ ช่วยให้บ้านดูน่าค้นหามากขึ้น
“ทำไมจึงอยากได้บ้านสไตล์นี้ล่ะคะ” แม้นี่จะเป็นคำถามแรก ๆ ของเราเมื่อได้ก้าวเข้าไปในบ้าน แต่เชื่อว่าคำตอบจากคุณลีโอนาร์ดเป็นบทสรุปสุดท้ายที่ดีที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้
“ผมรักประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น ผมพูดภาษาญี่ปุ่นได้ และญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองซึ่งผมคิดถึงอยู่เสมอ บ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือน Little Japan ที่ผมสามารถอยู่ได้อย่างผ่อนคลายและมีความสุข”
เรื่อง : Mone
ภาพ : จิระศักดิ์, ดำรง
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : September 2014 No.139