SACICT Craft Trend 2018 หมุดหมายเทรนด์หัตถศิลป์ใหม่ของปี 2018 โดย SACICT
โลกออนไลน์ที่ขยายขอบเขตอย่างไม่สิ้นสุด ผนวกกับงานฝีมือและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกพูดถึงโดยเหล่านักออกแบบรุ่นใหม่อยู่เสมอ เป็นสองปัจจัยที่สร้างแรงกระเพื่อม ให้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT (ศักดิ์สิทธิ์) วางหมุดเทรนด์งานออกแบบผ่านหนังสือ “SACICT Craft Trend 2018” ภายใต้แนวคิด “Social Craft Network” ต่อเนื่องแคมเปญสนับสนุนนักออกแบบที่ SACICT ทำเป็นประจำทุกปี โดยหนังสือเล่มล่าสุด เพิ่งได้เปิดตัว ณ TCDC แห่งใหม่ ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ภายในหนังสือ “SACICT Craft Trend 2018” SACICT ได้เชิญนักออกแบบ ศิลปิน นักเล่าเรื่อง ผู้ผลิตสื่อหลากหลายสาขา มาร่วมแสดงความเห็นในฐานะผู้เป็น “Trend Guru” เพื่อตีความคำว่า “Social Craft Network” อันเป็นแนวคิดหลักของการวางหมุดเทรนด์ดังกล่าว โดยได้การคาดการณ์เทรนด์ของงานคราฟท์ร่วมสมัยของปีนี้ไว้ทั้งสิ้น 3 ประเด็นหลัก
1. Social Craft Network
ในโลกยุคใหม่ การรวมตัวกันของกลุ่มคน หรือชุมชน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากการที่คนเข้ามาอาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกันอีกต่อไป แต่เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างอินเตอร์เน็ต ทำให้คนแม้จะอยู่ห่างไกลกันอีกซีกโลก แต่คนที่มีความสนใจเหมือนกันก็สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรของพวกเขาได้อย่างไร้ขอบเขต
“มันคือการอุดหนุน ที่ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่มันคือการอุดหนุนด้วยโอกาส ด้วยการร่วมมือ ด้วยภูมิปัญญา ด้วยการแลกเปลี่ยนวิธีการ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในสมัยก่อน หากเราไม่มีเครื่องมือการสื่อสารที่ดีอย่างในทุกวันนี้”
คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด หนึ่งใน “Trend Guru” กล่าวไว้ในวันเปิดตัวหนังสือเล่มสำคัญ ถึงความหมายของการมีพื้นที่หรือ “Network” ของคนทำงานสร้างสรรค์ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าไอเดียล้ำสมัยหรือวัตถุดิบหายาก คือพื้นที่ที่จะสามารถนำทั้งสองสิ่งมาประสานกันได้
ความสำคัญนี้ยังถูกย้ำด้วยประโยคของนักออกแบบผู้เป็น “นักเล่าเรื่อง” และเป็นอีกหนึ่ง “Trend Guru” คุณศรันย์ เย็นปัญญา
“มันเหมือนเวลาเราเห็นไวรัลคลิปต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ตัวคลิปเอง แต่มันคือ “คอมเมนท์” พื้นที่คอมเมนท์จริงๆ มันคือพื้นที่โฆษณาที่ดีที่สุด หลายๆ ครั้งเราลืมไปว่าการปฏิสัมพันธ์ของคนมันมีผลต่อสิ่งที่เราอยากจะได้ อยากจะซื้อ ผมมองว่า Social Craft Network มันคือการแลกเปลี่ยนคอมเมนท์ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็น ผู้สร้างงานทำมือ ศิลปิน นักออกแบบ หรือผู้เชี่ยวชาญระดับครูต่างๆ สิ่งที่ SACICT ทำให้เกิดขึ้น คือพื้นที่คอมเมนท์ ทั้งการพูดคุยแบบอะนาล็อก หรือแบบดิจิทัลก็ตาม”
2. Mass X clusivity
จุดเด่นหนึ่งของงานหัตถศิลป์ คือเอกลักษณ์เฉพาะของงานชิ้นนั้นๆ ที่ไม่มีชิ้นงานใดจะเสมอเหมือน เป็นความ “Exclusive” ที่แม้แต่งานออกแบบเดียวกัน ผลิตซ้ำกัน กระบวนการจากการทำมือก็จะทำให้งานแต่ละชิ้นไม่มีชิ้นใดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์
ทว่าความ “Exclusive” นี้ ย่อมตามมาด้วยราคาที่สูง และการเข้าถึงสินค้าที่ยากมากขึ้น
“ถ้าคุณอยากได้ของที่มีความ Exclusive คุณต้องจ่ายแพง..ใช่ไหม? เพราะมันทำน้อย ทำยาก แต่ว่า สมการนี้มันสามารถเปลี่ยนได้ เพียงแค่คุณเอาคราฟท์เข้าไปเป็นส่วนผสมของการพัฒนา สัดส่วนของมันว่ามันจะเป็น Craft มากขนาดไหน หรือเป็น Industrial มากขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการปรุงรสของ Curator ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นผู้ออกแบบเท่านั้น อาจเป็นช่างก็ได้ หรือแม้แต่ผู้ใช้งาน”
คุณเจรมัย ให้ความหมายของ “Mass X Clusivity” ที่กล่าวถึงแนวคิดการเชื่อมจุดที่ไม่ลงรอยกันระหว่างงานทำมือและงานอุตสาหกรรม นักออกแบบสามารถเผยแพร่งานออกไปได้อย่างเป็นวงกว้างด้วยการใช้กระบวนการการผลิตจำนวนมากกับชิ้นส่วนบางชิ้น ในขณะที่ก็ยังสามารถค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะของตนผ่านวัตถุดิบและงานหัตศิลป์ที่คนอื่นลอกเลียนไม่ได้
3. Digital Detoxing
หากคุณสมบัติของพื้นที่ดิจิทัลคือความรวดเร็ว คุณสมบัติของงานสร้างสรรค์ทำมือก็คือการสัมผัส
ในโลกยุคที่หน้าจอป้อนข้อมูลสู่เราในทุกนาทีไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาวะ “ข้อมูลท่วมหัว” หรือ Information overload ก็อาจทำให้เราเบลอไปกับสิ่งที่ผ่านตามากเกินไป
จนบางทีเราควรจะถอนพิษ
“Digital Detoxing” คือหัวข้อสุดท้าย ที่คุณเจรมัยจบด้วยการให้ความหมายของงานคราฟท์ที่น่าจะมีคุณค่ามากไปกว่าความเป็นวัสดุธรรมชาติ แต่ความ “ช้า” ของงานคราฟท์น่าจะเป็นยารักษา “โรคความเร็ว” ที่เราเป็นแทบทุกคน
“คราฟท์มันสามารถเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้เราสามารถแยกแยะการเชื่อมต่อที่มันมหาศาล ทำให้เรารู้สึกตัว ถ้าจะบอกว่าเทรนด์นี้มันคือการกลับไปสู่ธรรมชาติ มันก็ใช่ แต่ผมไม่อยากให้รู้สึกว่า มันคือการกลับไปสู่สีเอิร์ธโทน หรือการใช้ไม้ เพียงเท่านั้น มันไม่ใช่คอนเซ็ปต์ มันน่าจะกว้างๆ เพียงแค่ว่า เทรนด์งานคราฟท์ที่มันจะมีต่อไป มันน่าจะทำให้เรารู้สึกว่าได้พัก เบรกจากความยุ่งเหยิง ถอนพิษที่เกิดจากความมึนเมาจากการรับสื่อ”
กล่าวได้ว่างานคราฟท์นั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องของของเก่า หรือสิ่งล้าสมัย งานออกแบบแบบดั้งเดิมนั้นย่อมยังต้องมี แต่ไม่ใช่คำตอบของคำว่า “หัตถศิลป์” เพียงอย่างเดียว
หากทั้งผู้สร้างสรรค์ ผู้ครอบครองภูมิปัญญา และผู้ใช้ที่ปลายทาง มองเห็นหัตศิลป์ด้วยมุมมองที่ตรงกันตามบริบทที่เปลี่ยนไปของโลก งานสร้างสรรค์ด้วยมือ ก็ดูจะสามารถคงคุณค่า และดำเนินไปได้ในทิศทางอันดี
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ “ SACICT Craft Trend 2018 ” รวมถึง SACICT Craft Trend ของปีก่อนหน้า ได้ฟรี ที่ www.sacict.net/scripts/news_sub.php?id=1439
สำหรับใครที่อยากร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง Communi-Craft โดย ICA2017 และ SACICT พบกันได้ในงานเสวนา DESIGN TALK : Modern Tropical (re)Design วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคมนี้ 14.00 น. @งานบ้านและสวนแฟร์ มิดเยียร์ 2017, Hall 100 ไบเทคบางนา สำรองที่นั่งฟรีที่ www.baanlaesuan.com/designtalk-register
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา