TRIMODE C ขอบเขตงานออกแบบขยายสู่แนวทางของ Craft อย่างจริงจัง - room

TRIMODE C คราฟต์คือภาษาสากล

Craft
TRIMODE STUDIO สตูดิโอออกแบบที่น่าจับตาที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนี้ ภายใต้การนำของสามดีไซเนอร์อย่าง ภิรดา- ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ ชินภานุ อภิชาติธนบดี นอกเหนือไปจากดีไซน์เซอร์วิสและแบรนด์แอ๊กเซสซอรี่ส์แล้ว สิ่งที่สตูดิโอออกแบบนี้กำลังให้ความสนใจคืองานออกแบบร่วมกับชุมชนช่างฝีมือไทย โดยการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กว่า 5 ปีที่ได้สั่งสมประสบการณ์ มาวันนี้ TRIMODE พร้อมขยายขอบเขตงานออกแบบสู่แนวทางของคราฟต์ (Craft) อย่างจริงจัง ภายใต้แบรนด์ใหม่ล่าสุด TRIMODE C ซึ่งมีการนำงานฝีมือดั้งเดิมที่สะท้อนกลิ่นอายวัฒนธรรมมาขยายความและลดทอนให้มีความเป็นสากล ใช้งานง่าย ไม่เคอะเขิน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ช่วยต่อลมหายใจงานคราฟต์ไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป

ภิรดา- ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ ชินภานุ อภิชาติธนบดี สามหัวเรือสำคัญแห่ง TRIMODE

C คือคราฟต์ คราฟต์คืออะไร

ภิรดา: TRIMODE C ต่อยอดมาจากโปรเจ็กต์ Found by Trimode ซึ่งเป็นการรวมโปรเจ็กต์งานคราฟต์ของเรา เนื่องจากเราอยากให้เกิดแบรนด์ขึ้นจริงจัง ครอบคลุมเป้าหมายได้มากขึ้น นอกจาก C จะพ้องเสียงกับคำว่า see แล้ว C ยังมีเรื่องของ Crafts, Collaboration และ Co-creation เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การทำงานครั้งนี้แตกต่างจากสองแบรนด์ที่ผ่านมา อย่าง Trimode Studio ซึ่งเป็นดีไซน์เซอร์วิส และ Trimode Accessories ที่เน้นงานประเภทจิเวลรี่ เพราะเป็นการดีไซน์งานทุกแขนง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นอะไร และมีงานคราฟต์เข้ามาผสม”

ภารดี:  “คราฟต์ที่ว่านั้นน่าจะหมายถึงเรื่องของวิถีชีวิตและความเป็นเอกลักษณ์ พอเริ่มทำงานกับชุมชนเยอะขึ้น ทำให้เราพบว่าจริง ๆ งานคราฟต์เกิดจากการสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ตอบสนองการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นงานผ้าทอ งานจักสานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นอาชีพหลักอย่างการทำเกษตรกรรม พอว่างจากงานในไร่นาชาวบ้านจึงจะหันมาทำงานคราฟต์”

ชินภานุ: “ผมคิดว่าคราฟต์เกิดจากความตั้งใจและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นเสน่ห์ซึ่งเกิดจากการไม่ซ้ำกันของชิ้นงาน ถึงจะตั้งใจเย็บผ้า หรือสานตะกร้าแค่ไหน ของแต่ละชิ้นย่อมไม่มีทางเหมือนกันเป๊ะ กลายเป็นเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่แค่รูปแบบหรือสไตล์ แต่สะท้อนให้เห็นกระบวนการทำที่ต่างจากอุตสาหกรรม”

SACICT Craft Trend 2018 : หมุดหมายเทรนด์หัตถศิลป์ใหม่ของปี 2018

คราฟต์คือภาษาสากล

ภิรดา: “จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับหลาย ๆ ชุมชน นอกจากการเน้นแรงบันดาลใจที่เกิดจากงานฝีมือในที่ต่าง ๆ ของไทยแล้ว เรายังต้องผสมผสานแรงบันดาลใจที่มาจากที่อื่นในโลกด้วย เช่น เทคนิคการดุนลายโลหะจากเชียงใหม่ นอกจากบ้านเราเทคนิคนี้ยังปรากฏให้เห็นในหลายวัฒนธรรม เราจึงใช้แพตเทิร์นที่มาจากหลาย ๆ ประเทศเข้ามาเบลนด์จนกลายเป็นแพตเทิร์นใหม่”

ภารดี: “ยิ่งเราค้นคว้าลงลึกไปมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้ค้นพบว่าหลาย ๆ เทคนิคเป็นความรู้ที่เหมือนกันทั่วโลก ไม่แน่วัฒนธรรมนั้นอาจมีที่มาจากจุดเดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละท้องถิ่นล้วนได้รับอิทธิพลต่าง ๆ กัน ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในแบบฉบับของตัวเอง เช่นเดียวกันเมื่อแรงบันดาลใจบางอย่างผ่านมาที่ TRIMODE ก็ควรจะผ่านกระบวนการความคิดอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่”

ชินภานุ: “ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกวัฒนธรรมสามารถผสมผสานกันได้หมด ฉะนั้นงานคราฟต์หรืองานออกแบบควรสามารถถ่ายทอดเส้นทางอารยธรรมได้ด้วย ผมว่าคราฟต์เหมือนเป็นของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ เพียงแต่ธรรมชาติสร้างเส้นใยให้แต่ไม่ได้สร้างเลเยอร์ ดังนั้นเราจึงต้องคิดวิธีนำเส้นใยธรรมชาติมาทำให้เกิดเลเยอร์ ไม่ว่าจะเป็นการสาน การทอ แล้วนำผลผลิตนั้นมาใช้ เช่น ผ้าบุโคมไฟ เสื้อผ้า ฯลฯ เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานที่เรียกว่างานคราฟต์นั่นเอง”

ปรับตัวเพื่อสืบทอด

ชินภานุ: “ในมุมมองของผมคุณค่าของทุกอย่างแปรผันตามเวลา ยุคนี้คุณค่าใหม่ของเราคือ “คุณค่าของการใช้งาน” แต่ก่อนเราอาจตั้งคุณค่าว่างานคราฟต์และงานศิลปะคือคุณค่าทางเทคนิคการทำเป็นสำคัญ แต่ตอนนี้มาตรฐานของงานฝีมืออาจหย่อนลงบ้างก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะเราอยากให้เกิดการใช้งานจริงชีวิตประจำวัน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนเครื่องมือหรือนำเครื่องจักรมาใช้บางส่วน ก็ไม่ได้ทำให้คราฟต์เปลี่ยนไป เพราะถือว่ามันต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว”

ภารดี: “ยกตัวอย่างงานเคาะดุนลายซึ่งเป็นคอลเล็คชั่นใหม่ของเรา มีการนำเรื่องของอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยเพื่อให้เหมาะกับกระบวนการผลิตปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนทำให้เสน่ห์ของงานคราฟต์เปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้เหมือนกัน เช่น การเลือกใช้แพตเทิร์นที่ไม่สมบูรณ์แบบมาใช้ในการปั๊มลายแบบอุตสาหกรรมแทนการดุนลายด้วยมือทั้งหมด เป็นการปรับตัวให้เข้ายุคสมัยเพื่อให้งานคราฟต์แบบนี้มันยังคงอยู่ได้จริง”

ชินภานุ: “เรามองลึกไปถึงเรื่องของการทำให้ช่างฝีมือรุ่นเก่าเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำแล้วถ่ายทอดให้ลูกหลานทำต่อ และเด็กรุ่นใหม่ที่สืบทอดก็ต้องเห็นคุณค่าด้วย เราไปในหลายชุมชนช่างฝีมือที่เป็นเหมือนอาจารย์ไม่ยอมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้งาน ให้เข้าเมืองไปทำอาชีพอื่น จึงทำให้ขาดคนสืบทอดและขาดความภูมิใจในการทำงานคราฟต์ เป้าหมายของเราคืออยากปรับงานคราฟต์ให้น่าสนใจและให้คนยุคใหม่ยอมรับ”

ภิรดา: “เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ งานคราฟต์น่าจะอยู่ในบริบทของคนที่เห็นถึงคุณค่าของมัน ถ้าคนไม่ได้เห็นถึงเสน่ห์ ย่อมบอกว่าลวดลายจากงานมือและอุตสาหกรรมไม่ต่างกัน ตอนนี้เราจึงอยากผสมผสานงานคราฟต์เข้ากับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ”

ปัญหาไม่ใช่อุปสรรค

ชินภานุ: “อีกสิ่งที่ยากในงานลักษณะนี้คือการเข้าหาชุมชน เราต้องไปแบบไม่มีอัตตา เปิดใจกว้าง และมีทักษะในการพูดคุย ถ้าเราไปแล้วคิดว่าเขาเป็นแค่ช่างที่ทำงานให้ เราก็จะทำงานด้วยกันไม่ได้”

ภิรดา: “เนื่องจากช่างท้องถิ่นเขาคลุกคลีกับสิ่งที่ชำนาญมาหลายปี ยังไงเราก็รู้ได้ไม่ลึกเท่าเขา จึงต้องเรียนรู้การทำงานจากเขา ส่วนเขาก็ได้มุมมองใหม่ ๆ จากเรา เรามีการคุยกันตลอดว่าจะต้องยอมรับข้อจำกัดของแต่ละที่ที่ไปร่วมงานด้วย พอทำงานกับชุมชนได้สัก 4-5 ปี ช่วยให้เรามีวิธีคิดต่างออกไป ก่อนจะเริ่มต้นทำงานจับมือกับใคร ต้องศึกษาตัวตนความเป็นเขาก่อน ถ้าเราไม่ยอมรับข้อจำกัดของกันและกันแล้ว ทำงานกันไปก็จะไม่ลงตัว เราจึงพยายามสร้างอะไรให้เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วใช้ดีไซน์มาช่วยแก้ปัญหา บางทีเราก็ไม่ได้ออกแบบเฉพาะแค่โปรดักต์ แต่เราต้องออกแบบไปถึงกระบวนการด้วย”

ชินภานุ:  “เช่น ถ้ามองว่าช่างทำงานไม่เนี้ยบ เราจะดึงความชุ่ยมาสร้างเสน่ห์ในงาน มันอยู่ที่มุมมอง เราไม่ได้มองปัญหาเป็นอุปสรรค แต่มองปัญหาเป็นประสบการณ์ ส่วนเราเองก็ต้องเรียนรู้กระบวนการผลิตของช่างด้วย คนที่ไม่เคยปฏิบัติคราฟต์ด้วยตัวเองถือว่าเข้าไม่ถึงคราฟต์ เพราะว่าคราฟต์ไม่สามารถมานั่งถ่ายทอดจากการบอกกันได้  ต้องลองทำจริง ๆ เข้าใจจากการปฏิบัติเท่านั้น และเราก็จะเรียนรู้จากการแก้ปัญหาพอแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดสิ่งใหม่ไปเรื่อย ๆ”

ภิรดา:   “พื้นฐานนักออกแบบคือออกแบบให้ดีขึ้น ถ้าเราไม่รู้ว่าเดิมเขาทำอย่างไร เราจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร คุณสมบัติที่ดีคือควรจะรอบรู้ให้หมด จำเป็นต้องทำเองทุกชิ้นไหมไม่สำคัญ เพราะอยู่ที่การเริ่มต้น ดังนั้นก่อนเริ่มผลิตอะไร เราจะทดลองทำเองก่อน แล้วจึงส่งเข้ากระบวนการผลิต”

 เมื่อคราฟต์วิวัฒน์: อ่านต่อมุมมองคราฟต์ไทยกับดีไซน์ยุคใหม่ของ TRIMODE C ได้ที่นี่

http://www.baanlaesuan.com/40302/material-product/crafts-2/