เพราะโครงสร้างเหล็กคือคำตอบที่ลงตัวของงานดีไซน์ที่ให้ลุค เบา – ลอย – โปร่ง – โล่ง แถมยังทำให้บ้านหลังนี้สร้างเสร็จในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น!
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Office AT
ความเบา – ลอย – โปร่ง – โล่ง ดูจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งของงานออกแบบบ้านที่สถาปนิกหลายคนชื่นชอบ โดยเฉพาะกับบ้านในเขตร้อนอย่างประเทศไทย การได้ทำพื้นที่ใช้งานในบ้านให้โปร่งสบายภายใต้โครงสร้างและองค์ประกอบที่ออกแบบมาอย่างเนี้ยบกริบครอบคลุมทุกสัดส่วนในบ้านอย่างลงตัว บ้านหลังนั้น ๆ ก็จะเป็นงานออกแบบที่บรรลุความพึงพอใจของผู้รังสรรค์ได้อย่างมาก
“เหล็ก” โครงสร้างสำเร็จรูปที่เที่ยงตรงและก่อสร้างง่ายจึงเป็นระบบโครงสร้างที่ตอบโจทย์งานออกแบบของผู้ออกแบบได้ในหลายมิติ แต่ในขณะเดียวกันคำถามที่ตามมาก็มักจะเป็นความไม่คุ้นชินกับโครงสร้างเหล็กของผู้อยู่อาศัย อาจด้วยความเป็นโครงสร้างที่มีภาพของความเป็นอุตสาหกรรมหนัก บ้านที่ควรจะเป็นสถานที่ที่อบอุ่น เมื่อนำเหล็กมาใช้จึงดูไม่เข้ากับความหมายของผู้อยู่อาศัยหลายคนสักเท่าไร แต่กลับไม่ใช่กับบ้าน “ U38 ”หลังนี้!
“ธรรมดาสถาปนิกอย่างเรามักจะชอบอะไรเบา ๆ บาง ๆเหล็กก็เป็นสิ่งที่เราชอบใช้ เพราะช่วยให้ตัวอาคารดูเบาขึ้น
“สำหรับบ้านหลังนี้เจ้าของตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะใช้เหล็กมาทำเป็นโครงสร้างของบ้าน เพราะเขาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงรู้ขั้นตอนและวิธีการดีว่าจะทำอย่างไรให้บ้านสร้างออกมาเสร็จไว”
ผู้ที่เล่าเรื่องบ้านหลังนี้ให้เราฟังคือ คุณสุรชัยเอกภพโยธิน และ คุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ สองสถาปนิกแห่งบริษัท Office AT เพื่อนสนิทเจ้าของบ้านจากประโยคข้างต้นคุณสุรชัยยังเสริมว่า จากความคุ้นชินและเข้าใจเรื่องวัสดุอย่างลึกซึ้ง ทำให้โครงสร้างที่น่ากลัวสำหรับหลายคนไม่ใช่เรื่องน่ากลัวของเจ้าของบ้านอีกต่อไปนอกจากนี้ยังช่วยตอบโจทย์ด้านความแข็งแรงและระยะเวลาได้อย่างดี อีกทั้งยังตรงใจผู้ออกแบบด้วย “เราอยากออกแบบบ้านที่ทำจากเหล็กอยู่แล้ว พอมาเจอโปรเจ็กต์นี้จึงสนุกและท้าทายมาก” บ้านหลังนี้จึงสร้างเสร็จในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น
“เจ้าของบ้านให้ความต้องการหลัก ๆ มาว่าต้องการห้องอะไรบ้าง และที่สำคัญต้องมีสระว่ายน้ำ แต่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแบบไหน เราจึงคิดจัดวางคร่าว ๆ ให้เหมาะสมตามหลักการใช้งาน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และครัว ควรต้องเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมดเพราะจะได้ใช้ชีวิตแบบเป็นห้องเดียวกันทั้งลูก ๆ และญาติพี่น้อง”
คุณจุฑาทิพย์กล่าวถึงฟังก์ชันของส่วนใช้งานหลักที่ชั้น 1 ที่โปร่งโล่งเชื่อมกันเป็นห้องเดียว เพราะแม้ครอบครัวเจ้าของบ้านจะเป็นครอบครัวเล็ก แต่ที่ดินยังเป็นผืนเดียวกับบ้านเดิมของครอบครัวเจ้าของบ้านฝ่ายสามี ความโปร่งโล่งนอกจากจะหมายถึงบรรยากาศโดยรวมของสถาปัตยกรรมแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ที่ปล่อยสบาย ๆ เพื่อรองรับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้แวะเวียนมาใช้งาน
สเปซที่โปร่งโล่งแสดงให้เห็นในชั้นล่างของบ้านที่ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร และครัว ทั้ง 3 มุมสามารถมองเห็นวิวสระว่ายน้ำได้เต็มตาผ่านหน้าต่างกระจกใสยาวตลอดแนว ในขณะที่ผนังทางทิศใต้ซึ่งยาวไปจนสุดแนวที่ดินตามกฎหมายไม่สามารถทำช่องเปิดได้จึงต้องปิดทึบแล้วทำตู้เก็บของบิลท์อินยาวตลอดแนวขึ้นใช้งาน พร้อมกับเป็น Double Layer ช่วยกันความร้อนได้ในตัว
ในขณะที่ชั้น 2 สถาปนิกออกแบบพื้นที่ทั้งหมดด้วยการกั้นเป็นห้อง ได้แก่ ห้องพักผ่อนรวมและห้องนอนมีผนังทึบด้านทิศใต้กรุเป็นชั้นเก็บของเหมือนชั้นล่าง ห้องทั้งหมดเชื่อมต่อด้วยระเบียงทางเดินยาวด้านทิศเหนือปิดฟาซาดด้วยบานระแนงไม้โปร่งเป็นอีก Double LayerSkin ช่วยกรองแสงและสร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ใช้งาน สมาชิกในบ้านจึงมองเห็นวิวสระว่ายน้ำและสัมผัสแสงเงาที่สวยงามยามเมื่อแสงแดดอุ่นลอดผ่านแผงระแนงอันเป็นเอกลักษณ์
สิ่งที่ทำให้บ้านกล่องโมเดิร์นมีคุณสมบัติครบถ้วนของการเป็นงานออกแบบที่ดี นอกจากองค์ประกอบของโครงสร้างที่สวยงามเหมาะเจาะ ความสบายของการอยู่อาศัยก็ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทาย
“เวลาออกแบบบ้าน ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้มีการระบายอากาศที่ดี อย่างบ้านหลังนี้มีหน้าต่างตรงกับทิศทางที่ลมธรรมชาติพัดผ่าน จึงสามารถเปิดให้อากาศผ่านได้ตลอดทั้งวัน”
ดังนั้นนอกจากผนังกระจกทางทิศเหนือที่ติดสระว่ายน้ำจะสามารถเปิดรับลมเย็น ๆ ที่พัดผ่านจากผิวน้ำเข้ามาสู่ตัวบ้านแล้ว ยังได้ออกแบบช่องเปิดเพื่อรับลมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันตกเฉียงเหนือที่เจ้าของบ้านมักเปิดไว้ตลอดเวลา ช่วยให้บ้านเย็นสบายจนแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศใด ๆ
การหาจุดที่ลงตัวให้กับบ้านที่ออกแบบคือหน้าที่ของสถาปนิกในฐานะที่เป็นผู้รวบรวมปัจจัยทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวัสดุ พื้นที่ใช้สอย บริบท แสง และลมให้ลงตัวด้วยประสบการณ์และความเข้าใจในสถาปัตยกรรมอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะถูกบีบด้วยปัจจัยใด บ้านอันน่าพึงใจก็น่าจะสำเร็จลงได้ด้วยดี
“เราภูมิใจในเรื่องที่ว่าเขาอยู่แล้วแฮ็ปปี้ เราออกแบบบ้านก็อยากให้เขาอยู่สบาย บางคนอาจจะคิดว่าอยู่บ้านโครงสร้างเหล็กแล้วไม่สบาย แต่เราสามารถทำให้มันอยู่สบายได้นะ แล้วบ้านที่เป็นกล่อง ๆ ก็สามารถรับลมเย็นและเชื่อมต่อกับบริบทภายนอกได้ด้วย” นี่คือบทสรุปจากความภูมิใจของสถาปนิกในตอนท้าย
และยิ่งได้ “ทำให้เพื่อนรักก็ยิ่งภูมิใจค่ะ” อีกสิ่งที่สถาปนิกหญิงสรุปด้วยรอยยิ้ม
เจ้าของ : คุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ และคุณนฤมล ตันติการุณย์
ออกแบบ : คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ
OFFICE AT Co., Ltd. โทร.0-2612-2477-8
เรื่อง กรกฎา, Ektida N.
ภาพ Rungkit Charoenwat, อนุพงษ์, ศุภกร