บ้านคอนกรีต เปลือยผิวกลางป่าทรอปิคัล ตอบโจทย์การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
บ้านคอนกรีต ณ กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงประเทศมาเลเซียซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก พื้นที่ที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี แต่ด้วยความเข้าใจลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศเป็นอย่างดี ทำให้สตูดิโอออกแบบ WHBC Architects รังสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติเขตร้อนชื้นด้วยวัสดุเรียบง่ายอย่างคอนกรีต ที่ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของบ้านทรงกล่องหลังนี้ได้อย่างลงตัว บ้านคอนกรีต
เนื้อที่กว่า 245 ตารางวาของที่ดินผืนนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเอียงจากด้านหน้าที่ติดถนนลงไปยังด้านหลังของพื้นที่ สถาปนิกจึงใช้ลักษณะภูมิประเทศนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการวางบ้านให้ลอยจากผืนดิน ประหนึ่งยกใต้ถุนบ้านให้พ้นจากความชื้นและแมลงต่าง ๆ ซึ่งมักมาพร้อมกับป่าร้อนชื้น เมื่อกล่องถูกยกขึ้นทำให้ระดับของตัวบ้านเคียงเสมอกับยอดไม้ กลายเป็นเพื่อนบ้านสีเขียวชั้นดีที่คอยโอบกอดกล่องคอนกรีตนี้ไว้
ตัวบ้านออกแบบเป็นกล่อง 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 700 ตารางเมตร ห่อหุ้มไว้ด้วยฟาซาดคอนกรีตที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษ
“เราตั้งใจดีไซน์ผนังคอนกรีตโครงสร้างเสมือนลังไข่ที่ห่อกล่องสี่เหลี่ยมไว้อีกชั้น เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากตัวบ้าน และดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในเพื่อสร้างสภาวะน่าสบาย”
เปลือกอาคารจึงมีลักษณะเป็นผนังคอนกรีตที่ขัดสานกันเป็นโครงกรอบสี่เหลี่ยมในจังหวะที่แตกต่างกัน จากผนังด้านหน้าบ้านทางทิศเหนือไปสู่ด้านข้างทางทิศตะวันออกและต่อเนื่องไปยังหลังคา โดยเลือกก่อผนังทึบทางฝั่งทิศตะวันตกเพื่อป้องกันแสงแดดยามบ่าย
พื้นที่ชั้น 1 ถูกกดลงไปต่ำกว่าระดับถนนตามระดับพื้นที่ที่ลาดลง โดยใช้เป็นที่จอดรถ ห้องพักแม่บ้าน ห้องเก็บของ และส่วนเซอร์วิสต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้จากทางลาดข้างบ้านที่ขนานกับกำแพงไปยังที่จอดรถ และใช้บันไดภายในบ้านเพื่อเดินเชื่อมไปยังพื้นที่ชั้น 2 และ 3 ต่อไป