Jaibaan Studio (ใจบ้านสตูดิโอ) ชื่อนี้อาจฟังดูใหม่สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับแวดวงสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชน ชื่อนี้เป็นที่รู้จักมากว่า 6 ปี ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็น “กลุ่มคนใจบ้าน”
สถาปนิกกับการออกแบบเพื่อชุมชน
ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร, ทนวินท วิจิตรพร และ แพรวพร สุขัษเฐียร คือ 3 สถาปนิกผู้บุกเบิกสตูดิโอออกแบบ ซึ่งหมายมุ่งไปบนเส้นทางงานออกแบบเพื่อผู้คน สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ภายใต้บริบทของภาคเหนือมาตลอด มาถึงวันนี้ เมื่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งแวดล้อมเริ่มแพร่หลายในวงกว้าง
จึงได้เวลาที่สตูดิโอใจบ้าน (Jaibaan Studio) จะเริ่มขยายขอบเขตการออกแบบ นอกเหนือไปจากสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์ไปสู่การออกแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งตัวอาคาร ภูมิทัศน์ ไปจนถึงเกษตรกรรมนิเวศของชุมชนนั้น ๆ ด้วย และนี่เองคือเหตุผลที่ทำให้สตูดิโอใจบ้านได้มีโอกาสสัมผัสคลุกคลีกับวิถีชีวิตในชุมชนอย่างใกล้ชิด การพยายามเรียนรู้ แลกเปลี่ยนภูมิปัญญากับช่างฝีมือท้องถิ่น นำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากงานช่างในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วไป เห็นได้จากผลงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งท้องถิ่นต้นกำเนิด และกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างสถาปนิกกับชาวบ้านในชุมชน
คราฟต์ในมุมมองใจบ้าน
แพรวพร: “เรารู้สึกว่าคราฟต์คือชีวิต เวลาเราไปดื่มกาแฟหรือกินขนมที่ไหน ไม่เพียงแค่ความอร่อย แต่เรายังอยากรู้จักคนทำ ด้วย เมื่อรู้สึกถูกคอเราก็อยากไปชิมกาแฟของคน ๆ นั้นเรื่อย ๆ ซึ่งโยงไปถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงประทับใจความเป็นคราฟต์ในแต่ละถิ่นกำเนิด นั่นเป็นเพราะว่ามันมีความเป็นชีวิตของเขาอยู่ตรงนั้น ทำให้เรารู้สึกถึงความพิเศษ”
ทนวินท: “ยกตัวอย่างคราฟต์คอฟฟี่ผมว่ามันไม่ใช่แค่กาแฟ แต่ยังมีคุณค่าซุกซ่อนอยู่ คุณค่านั้นมีทั้งจากตำแหน่งที่ตั้ง รสมือของคนชงกาแฟ หรือแม้แต่บทสนทนาเป็นกันเองระหว่างเจ้าของกับลูกค้า ผมว่านี่แหละเป็นคุณค่าที่คนยุคปัจจุบันตามหา”
ศุภวุฒิ: “เราเคยคุยกันเล่น ๆ ว่าถ้าเรานำงานคราฟท์ที่สวยมาก ๆ ของญี่ปุ่นมาตั้งไว้ที่เชียงใหม่ มันจะมีความคราฟต์ไหม ผมตอบว่าไม่ เพราะไม่ใช่ของที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผมจึงมองงานคราฟต์ว่ามันคือความต่อเนื่องของวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่นที่ได้รับการสั่งสมมายาวนาน หน้าที่ของเราคือจะทำอย่างไรเพื่อต่อลมหายใจให้งานคราฟต์ท้องถิ่นยังคงอยู่ด้วยวิธีการสมัยใหม่”
สะท้อนถิ่นกำเนิด: ปรัชญา 5 ไมล์ของคานธี
ศุภวุฒิ: “ตอนที่ผมมีโอกาสได้ไปเรียนด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่อินเดีย ผมได้แรงบันดาลใจจาก ลอรี เบเคอร์ (Laurie Baker) สถาปนิกชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย ครั้งหนึ่งเขาได้พบกับมหาตมา คานธี เขาถามท่านว่าจะช่วยเหลือท่านในการต่อสู้อย่างอหิงสาได้อย่างไร เมื่อคานธีรู้ว่าเขาเป็นสถาปนิกจึงตอบว่า สถาปัตยกรรมอาจช่วยให้คนอินเดียหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้ แล้วท่านก็แนะลอรีว่าให้ใช้วัสดุก่อสร้างอาคารที่มาจากแหล่งซึ่งไม่ควรมาไกลเกิน 5 ไมล์ ซึ่งท่านหมายถึงการใช้วัสดุท้องถิ่น เพื่อช่วยลดการขนส่งและช่วยให้คนในย่านนั้น ๆ มีงานทำ เมื่อผสมผสานกับดีไซน์สมัยใหม่ก็จะทำให้งานคราฟต์ดั้งเดิม หรือความเป็นอินเดียในท้องถิ่นนั้นยังดำรงต่อไปได้ ไม่ถูกกลืนโดยชาติตะวันตก ถ้าไปรัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของลอรีจะพบว่าบ้านเรือนสวยงามมาก เพราะทักษะแบบนี้ได้แพร่หลายออกไปโดยไม่จำเป็นต้องร่ำรวยหรือว่าจ้างสถาปนิก
“ตอนเริ่มก่อตั้งสตูดิโอนี้ เราเลยเริ่มต้นจากการใช้วัสดุง่าย ๆ ในท้องถิ่นของเชียงใหม่ เช่น อิฐมอญปั้นมือ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของสตูดิโอเราไม่ใช่ระดับท็อปเอนด์ การใช้วัสดุที่คนเข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่แพงมาดีไซน์ใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีและบรรยากาศของบริบทนั้น ๆ ผมคิดว่ามันเป็นการต่อลมหายใจให้กับเศรษฐศาสตร์ชุมชนในระดับย่อย และเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาแบบใหม่ด้วย”
เอา “ใจช่าง” มาใส่ “ใจบ้าน”
แพรวพร: “เราประทับใจกับภูมิปัญญาหรืองานช่างฝีมือของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำ 100 เปอร์เซ็นต์ของบ้านไทย หรือสไตล์ท้องถิ่นนี้มาอยู่ในงานออกแบบทั้งหมด เราพยายามเชื่อมโยงวัสดุ รูปแบบ และสเปซเข้ากับการออกแบบของเรา แล้วถ่ายทอดออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสมและช่างทำได้จริง”
ทนวินท: “ยกตัวอย่างแพตเทิร์นการก่ออิฐ เราพยายามออกแบบโดยใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป แต่แปลกใหม่ เราทดลองเรียงอิฐไปพร้อมกับช่างเลย กว่าจะได้แบบนี้เราต้องปรับแบบของผนังอิฐพอสมควร มันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน ให้เกียรติกัน แต่ก่อนคนเหนือจะเรียกช่างว่า สล่า ซึ่งให้เกียรติสูงมาก ต่อมาเรียกช่าง เดี๋ยวนี้เรียกว่าคนงาน ความหมายมันเปลี่ยนไป”
ศุภวุฒิ: “ในบริบทของไทย ช่างจะไม่ถูกเป็นที่จดจำมากนัก เขาจะให้ค่ากับผู้ออกแบบมากกว่า แต่ในความเป็นจริงเราจะทำงานไม่ได้เลย ถ้าไม่มีช่าง เราจึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน ทำไมทางอินเดียงานเขาจึงรุ่มรวยมาก เพราะสถาปนิกกับช่างของเขาทำงานใกล้ชิดกัน ไม่แบ่งแยกชนชั้นเหมือนที่ไทย ยิ่งระบบอุตสาหกรรมก่อสร้างใหม่อย่าง Precast เริ่มแพร่หลาย ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นมาก เศรษฐกิจชุมชนฐานรากอยู่ยากขึ้น คนท้องถิ่นต้องย้ายไปอยู่โรงงาน จากที่เคยเป็นช่างที่มีศักดิ์ศรีในท้องถิ่นกลับกลายเป็นคนงานราคาถูกเพราะไม่มีประกาศณียบัตรอะไร อย่างช่างที่เติบโตมาพร้อมเรา หลังจากทำที่นี่เขาก็นำรูปแบบผนังอิฐนี้ไปประยุกต์ใช้กับบ้านของตัวเอง เป็นการช่วยให้เขามองเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้น กว่าการเป็นแค่แรงงานรายวัน”
คราฟต์แบบองค์รวม: มากกว่าสถาปัตยกรรมคือ “นิเวศ”
ศุภวุฒิ: “ความเป็นคราฟต์ไม่ใช่แค่ Object หรือสถาปัตยกรรม ในการออกแบบเราต้องพยายามเข้าใจระบบนิเวศของแต่ละชุมชน ต้นไม้ พืชพรรณ สิงสาราสัตว์ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร แล้วจึงเริ่มปั้นความคราฟต์ขึ้นจากตรงนั้น ยกตัวอย่างงานแลนด์สเคป เราไม่ได้แค่ซื้อต้นไม้มาปลูกแล้วเสกให้เป็นสวนเอเดน แต่เราต้องรู้ว่าแมลง นก หรือกระต่ายป่าเขาอยู่กันอย่างไร องค์ประกอบที่เราเติมเต็มผ่านการดีไซน์ต้องแน่ใจว่าไม่กระทบวิถีชีวิตของสิ่งเหล่านั้น จากการที่เราเคยได้ไปเดินป่า ไปดูไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ผมว่าเป็นแลนด์สเคปที่สวยมาก มันออกแบบไม่ได้ เราเขียนขึ้นมายังไงก็ไม่สวย เพราะต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล วิถีชีวิต ความเชื่อ เราเลยคิดว่าแลนด์สเคปของใจบ้านต้องไปให้ถึงตรงนั้น เจ้าของโครงการต้องมีส่วนร่วมในการทำ ริเริ่มและเข้าใจ ไม่ใช่ว่าคุณมีเงินแล้วจะเสกแลนด์สเคปขึ้นมา ถ้ามีที่เราจะปลูกต้นไม้หลักไปก่อน ปีแรกวางระบบสระน้ำ แล้วค่อยเพิ่มพรรณไม้ประดับตกแต่งบางส่วน แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก มันอาจจะดูเป็นแลนด์สเคปแบบรกชัฏ มีความดิบเป็นธรรมชาติ แต่สื่อสารกับคนในชุมชนนั้น ๆ ได้ เราอยากให้บ้านหรือสถาปัตยกรรมสะท้อนวิถีชีวิตของเจ้าของ ไม่ใช่สไตล์ของใจบ้าน เราไม่มีสไตล์ มีแต่แนวคิด เพื่อให้ความงามนั้นงอกเงยขึ้นมาจากตัวตนของเจ้าของบ้านหรือผู้ใช้งานเอง”
โรงคั่วกาแฟ อาข่า อ่ามา
โปรเจ็กต์ล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นของใจบ้านสตูดิโอ เมื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอาข่าวางแผนสร้างศูนย์เรียนรู้และโรงคั่วกาแฟ ใจบ้านจึงเริ่มต้นต่อยอดจากสิ่งที่ท้องถิ่นนั้นมี เมื่ออาชีพหลักของชาวอาข่าคือเกษตรกรรม ดังนั้นในปีแรกจึงเริ่มต้นการออกแบบด้วยการฟื้นฟูสภาพดิน ขุดสระ วางระบบน้ำ วางระบบนิเวศ ชวนอาสาสมัครไปปลูกต้นไม้ ปีที่ 2 จึงเริ่มสร้างอาคารด้วยวัสดุท้องถิ่นให้เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยดึงวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมของชาวอาข่ามาใช้ อย่าง การโล้เสาชิงช้าก่อนการเก็บเกี่ยว ด้วยการนำโครงสร้างไม้ไผ่มาเป็นหัวใจของโครงการ พยายามผสมผสานทั้งแนวคิดปรัชญา และวัสดุมาประกอบใหม่ผสมความทันสมัยเข้าไป
นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อชุมชนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกป่าของ SCG การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและรากฐานวิถีชุมชนในเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการออกแบบโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารให้เข้ากับวิถีวัฒนธรรม ทดแทนแบบโรงพยาบาลตามแบบแผนราชการ
“ตอนนี้อะไร ๆ ก็คราฟต์ ทุกอย่างดูสโลว์มาก แต่ก่อนหน้าที่เราจะมาสโลว์แบบนี้ เราเร่งรีบกันมามาก คงเป็นธรรมชาติที่ต้องหาสมดุลเหมือนการแกว่งของชิงช้า ซึ่งผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ” – ศุภวุฒิ
เรื่อง Monosoda
ภาพ นันทิยา, ภาพประชาสัมพันธ์