/ สําหรับผมแล้ว การได้อยู่กับธรรมชาติเป็นสิ่งจําเป็นกับวิชาชีพ
ในวันที่ไม่สมดุล บ้านหลังนี้รักษาสมดุลให้เรา /
จากชายหนุ่มมากความสามารถที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงมาเกือบครึ่งชีวิตในฐานะจิตรกร นักเขียน นักแปล คุณครูผู้ริเริ่มงานศิลปะบําบัดแนวมนุษยปรัชญาในเมืองไทย และนักศิลปะบําบัดที่ได้ชื่อว่างานชุกตลอดปี ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี กลับตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตบทใหม่กับ คุณจุ๋งจิ๋ง – รุ่งวิสาข์ รุ่งธนพัฒน์ ภรรยาของเขาในแบบที่ต้องการอีกครั้ง ที่ ๗ Arts Inner Place บ้านดิน และสตูดิโอ “ศิลปะด้านใน” กลางท้องนาที่ห้อมล้อมไปด้วยภูเขาอันเงียบสงบในอําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาบอกว่าการได้มาอยู่ที่นี่เป็นเหมือนพรหมลิขิตอย่างหนึ่ง
“การได้มาอยู่ที่นี่มันเป็น Destiny จุดเริ่มต้นมีอยู่ว่า ในช่วง 4 ปีมานี้เราสองคนเดินทางไปต่างประเทศกันบ่อย จนได้มีโอกาสไปเจอนักศิลปะบําบัดอยู่ในภูเขา ระหว่างไปพักอยู่ที่นั่นเราพบว่าเขา ตีเฉดสีต่างๆได้แม่นมาก ซึ่งเกิดจากการสังเกตธรรมชาติรอบตัว นี่จึงเป็นแรงดลใจให้เรากลับมาทบทวน ตัวเองว่า ชีวิตตอนนี้ไม่ได้มองท้องฟ้าเลย กรุงเทพฯมีแต่ตึก มีแต่บีทีเอส สําหรับผมแล้วการได้อยู่กับธรรมชาติเป็นสิ่งจําเป็นกับวิชาชีพ เนื่องจากเวลาคนไข้ทํางานศิลปะ ก่อนจะเข้าใจเขาได้นั้นเราต้องมีสภาวะที่สมดุล จึงต้องมีเวลาให้กับตัวเอง กับธรรมชาติ เพื่อจะได้สร้างสมดุลให้ชีวิตในฐานะนักศิลปะบําบัด” ครูมอสเล่าจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านหลังนี้ ก่อนคุณจุ๋งจิ๋งจะช่วยเสริมด้วยรอยยิ้มสดใสว่า “เขาทํางานอยู่แต่ในโรงพยาบาลมากว่า 10 ปี พอแต่งงานเราเลยคุยกันว่า ลองเปลี่ยนวิถีชีวิตกันดูไหม ลองมาอยู่กับธรรมชาติกัน”
วินาทีแรกพวกเขาไม่ได้คิดเรื่องการมาอยู่อาศัยแบบถาวรมาก่อน แต่คิดในแง่ที่ว่า จะทํางานอย่างไรมากกว่า ครูมอสจึงเริ่มต้นด้วยการหาแรงบันดาลใจจากหนังสือสตูดิโอศิลปะต่างประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองฝั่ง คั่นกลางด้วยบ่อน้ำ ฝั่งตะวันตกใช้เป็นสตูดิโอ สําหรับทํางานศิลปะ ทําศิลปะบําบัดให้กับคนไข้ รวมถึงจัดอบรม ศิลปะด้านในให้กับเด็ก ๆ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ส่วนฝั่งตะวันออกใช้เป็นที่พักอาศัย บวกกับมีโอกาสได้ไปบ้านดินของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ นักปั้นแห่งดอยดินแดง แล้วเกิดความประทับใจในความเรียบสงบ อบอุ่น จึงนําแบบบ้านไปปรึกษา แล้วแนะนําให้ อ้ายสิงห์คํา สล่าผู้เป็นทั้งเพื่อนและช่างก่อสร้างฝีมือดีที่สืบสกุลช่างล้านนามาแต่อดีตไปเรียนรู้วิธีการทําบ้านดินกับอาจารย์สมลักษณ์ ก่อนนํามาใช้กับบ้านหลังนี้
“สล่าเป็นคนเปิดใจ เรียนรู้ได้ดี เรากับเขาเข้าใจตรงกันว่าอยากให้บ้านออกมาแบบไหน ใช้เวลาสร้างเร็วมากแค่ 4 เดือนก็เสร็จแล้ว ตอนสร้างเราตั้งใจวางแนวคิดเรื่อง Healthy ผ่านองค์ประกอบธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะฉะนั้นดินที่ทําบ้านจึงเป็นสีโทนน้ำตาลและน้ำตาลอมส้มซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทางใจ เพราะใจมีผลต่อร่างกาย ช่วยให้คนที่มารับการบําบัด มีจิตใจเยือกเย็นขึ้น เพลินไปกับศิลปะการปั้นดิน ทุกอย่างล้วนเป็นธรรมชาติและออกไปทางรัสติกทั้งหมด อย่างการใช้เทคนิคปูนฉาบดินผสมฟางข้าวแบบเดียวกับดอยดินแดง ส่วนไม้ที่เห็นในบ้านก็เป็นไม้เก่าที่เราไปเลือกซื้อหามา ซึ่งเหมือนเป็นพรหมลิขิต เพราะไม้ทั้งหมดนั้นมาจากเชียงใหม่”
ยิ่งมองจากภายนอกบ้านหลังนี้ยิ่งดูโดดเด่น ทั้งความอบอุ่นของสีสันและผิวสัมผัสเฉพาะตัวของดิน ในอําเภอเชียงดาว ตลอดจนรูปทรงหลังคาที่ลาดเอียง 45 องศาเข้าหากันเป็นทรงจั่ว ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่ต้องการสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ และต้องการให้ภายในเย็นสบายแม้ไม่มีเครื่องปรับอากาศจึงออกแบบช่องลมไว้ที่ด้านบนสุดของผนัง พร้อมหน้าต่างขนาดโอเวอร์ไซส์ที่สั่งทําพิเศษจํานวนมาก ช่วยระบายอากาศและรับลมธรรมชาติได้อย่างดี
ที่ทําหลังคาแบบนี้ เพราะต้องการให้แตกต่าง จากสตูดิโอส่วนใหญ่ที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยม และต้องการให้สตูดิโอมีความสัมพันธ์กับบ้าน จึงออกแบบให้มาบรรจบเป็นจั่วเดียวกัน สองคือ ถ้าเป็นแบบแฟลต บ้านจะร้อนมาก เราไม่ต้องการให้มีฝ้า อยากให้โครงสร้างดูโปร่ง พาอากาศร้อนระบายออกไปทางช่องลม และเราต้องการความโล่งเวลาวาดรูป ไม่ต้องการให้อะไรมาทับอยู่เหนือศีรษะ”
ระหว่างนั้นครูมอสพาเราเดินดูสตูดิโอและพูดคุย เกี่ยวกับการวาดภาพสีน้ำสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงหนังสือสร้างแรงบันดาลใจวัยเด็กในห้องสมุดบริเวณ ระเบียงชั้น 2 ก่อนพาเดินผ่านทางเชื่อมที่สามารถเห็นวิวท้องทุ่งโดยรอบเพื่อไปยังอาคารอีกฝั่ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องทํางาน ห้องนอนใหญ่พร้อมห้องน้ำในตัว ส่วนชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับแขก ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องนอน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ทําจากไม้เก่าโชว์พื้นผิวธรรมชาติ