“การทําบ้านริมน้ำครั้งนี้ มีทางเลือกอยู่ว่าจะปลูกบ้านบนที่ดินแล้วมีบางส่วนยื่นลงไปในน้ำ หรือปลูกบ้านเสร็จแล้วขุดดิน แต่แบบนี้ก็จะเสียเนื้อที่ดินอีก เลยเลือกทําโครงสร้างในน้ำแทน และเพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัว จึงต้องลงไปตอกเสาเข็มกันในน้ำช่วงน้ำลดต่ำสุด โดยเปลี่ยนเป็นเสาเข็มสปันแบบเดียวกับเสาเข็มตอม่อสะพาน เพราะนอกจากต้องรับแรงของตัวบ้านแล้ว ยังต้องรับแรงกระแทกจากน้ำด้วย”
เริ่มต้นจากการปักผังไม้สนทําแบบก่อน แล้วค่อยตอกเสาเข็มไม้ไล่จากบนฝั่งลงไปในน้ำ การตอกเสาเข็มในน้ำต้องรอฤดูแล้งที่น้ำลดระดับต่ำสุด แล้วตอกเสาเข็มให้ลึกที่สุดเพื่อความแข็งแรงของตัวบ้าน เมื่อโครงสร้างเสร็จสิ้นแล้วก็ต้องรอหน้าน้ำลดอีกรอบ เพื่อฉาบแต่งให้ตอม่อ และคานบ้านดูเรียบร้อย เวลาน้ำลดจะได้ดูเนี้ยบสวยทั้งบ้าน ส่วนสระว่ายน้ำใช้การฝังท่อเดรนในพื้น ให้คอนกรีตเป็นตัวซีลท่อให้แนบสนิท ป้องกันน้ำจากบึงซึมเข้าในสระว่ายน้ำ
ส่วนงานตกแต่งภายในเราสะดุดตากับหน้าบันกระจกใสตลอดแนวตัวบ้าน ทีมออกแบบเล่าที่มาของไอเดียนี้ว่า “พอแต่ละห้องกั้นขอบเขตกันด้วยผนัง จะทําอย่างไรให้พื้นที่ภายในบ้านมีความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งหมด จึงใช้การเปิดสเปซใต้หลังคาต่อเนื่องกันทั้งหลัง ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของบ้านก็จะรับรู้ได้ถึงช่วงเวลา สภาวะอากาศด้านนอก และรับรู้ถึงอีกห้องหนึ่งอย่างตอนกลางคืนจะเห็นชัดเลยว่าถ้าห้องไหนเปิดไฟ แสดงว่ายังมีคนใช้งานอยู่”
เพราะไม่ได้เป็นบ้านที่ใช้งานประจํา จึงจําเป็นต้องทําความสะอาดง่าย ประกอบกับมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นภูมิแพ้ งานตกแต่งจึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ลอยตัวแบบมีขา สอดคล้องกับพื้นไม้มันปูที่นํามาใช้ปูพื้นทั้งภายในและภายนอกเข้ากับบรรยากาศธรรมชาติที่รายล้อมอยู่รอบๆ นับว่าความพยายามสร้างฟีลลิ่งของชีวิตริมน้ำประสบผลสำเร็จ เห็นได้จากความสนุกสนานของลูกหลานที่มารวมตัวกันสังสรรค์ริมน้ำ และกระโดดน้ำเล่นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ “บรรยากาศแบบนี้เป็นฟังก์ชันแบบไทยๆ ถึงหน้าตาของดีไซน์และสเปซจะดูใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีใช้งานและการสื่อสารว่าจะทําอย่างไรให้อยู่ร่วมกับวิถีชีวิตแบบไทยได้อย่างไม่เคอะเขิน”
เจ้าของ : คุณวสันต์ เจริญนวรัตน์
ออกแบบ :Monotello
เรื่อง : skiixy
ภาพ : จิระศักดิ์, ศุภกร
วีดีโอ : Teerapong
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : October 2015 No.152