2017 IFLA Asia-Pacific Regional Congress โดย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย - room life

2017 IFLA Asia-Pacific Regional Congress โดย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย

การแลกเปลี่ยนแนวความคิดของคุณ ยศพล บุญสม และคุณ ประพันธ์ นภาวงศ์ดีจาก Shma และ Shma SoEn ในหัวข้อ Inclusive River

“This project is wake up call to the people of Bangkok to relook at who has the right to decide how the river should be developed.”

ภาพรณรงค์เพื่อชะลอการศึกษาโครงการพื้นที่ริมฝั่งฯเจ้าพระยาให้รอบด้านยิ่งขึ้น

ในระหว่างการพัฒนาเมือง หลายการตัดสินใจของภาครัฐมักขึ้นอยู่กับการยึดกับนโยบายในภาพกว้าง ขาดการทำความเข้าใจในรายละเอียด นโยบายที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าเมื่อเกิดการตัดสินใจรื้อหรือสร้างบางอย่างลงในพื้นที่เมือง การเปลี่ยนแปลงย่อมยังผลต่อทุกชีวิตในละแวก ในย่าน ในเมือง จนอาจถึงผู้คนทั้งประเทศอย่างเป็นห่วงโซ่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากโครงการก่อสร้างใด ๆ กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับชาติ

ประเด็นข้อทักท้วงเรื่องการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำเจ้าพระยาคือหนึ่งในตัวอย่างนั้น การสร้าง “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงและรัฐบาลก็กำลังดำเนินการอยู่เบื้องหลังอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างคน เมือง และแม่น้ำ แม่น้ำซึ่งเคยเป็นที่ตั้งรกรากของคนไทย เป็นทั้งแหล่งอาศัย และแหล่งอาหาร อาจกลายเป็นแหล่งกักขยะจากพื้นดาดคอนกรีตซึ่งยื่นล้ำไปในแม่น้ำ และเป็นเพียงกำแพงแยกน้ำกับคนออกจากกันด้วยงานออกแบบที่ผิดบริบทแทนที่จะกลายเป็นพื้นที่ของทุกคนดังที่วาดฝัน หากกระบวนการเก็บข้อมูลและการออกแบบ ไม่ได้ให้สิทธิ์กับคนทุกคนในการมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องจริงจัง

การออกแบบทางเดินบริเวณพื้นที่ชุมชน ที่มีระยะถอย และมีการกดระดับจากพื้นที่ชุมชนเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัว โดยมีขนาดทางเดินกว้าง 4 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สามารถขี่จักรยานและเป็นทางเดินสวนกันได้และ มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกแนวไม้ยืนต้นเป็นbufferระหว่างทางสาธารณะและพื้นที่ชุมชน รวมถึงการสร้างสวนลอยน้ำเพื่อเพิ่มบรรยากาศ และ สร้างความสวยงามให้กับพื้นที่ (ข้อมูลและภาพจาก Friends of River)
การพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเขตศาสนสถาน มีการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่นันทนาการ และพื้นที่จัดงานเทศกาลในโอกาสต่างๆ มีการปรับปรุงบริเวณเขื่อนคอนกรีตด้วยการเพิ่มบันไดหรือทางลาดเพื่อเชื่อมการใช้งานออก ไปยังพื้นที่ริมน้ำ (ข้อมูลและภาพจาก Friends of River)

ทัศนคติการพัฒนาเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นทัศนคติแบบ Exclusive คือการแบ่งแยก แบ่งแยกคน แบ่งแยกธรรมชาติ แบ่งแยกเมือง แบ่งแยกความร่วมมือ เป็นทัศนคติที่มองเมืองเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง หากแท้จริงแล้วเมืองนั้นเป็นดังระบบนิเวศน์ที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์ ทัศนคติของการพัฒนาเมืองจึงต้องเอื้อให้ความสัมพันธ์นั้นยั่งยืนยิ่งขึ้น การหลอมรวม หรือ Inclusion คือทัศนคติที่หมายถึงการร่วมมือ การผนวกข้อมูล ผนวกผู้คน ผนวกธรรมชาติ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เมืองให้ดีขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้

บริเวณพื้นที่สาธารณะริมน้ำ มีการการปรับปรุงพื้นที่ให้ผู้ใช้งานมีการเชื่อมต่อกับน้ำมากขึ้น เพิ่มพื้นที่ธรรมชาติริมตลิ่งด้วยการปลูกพืชพรรณชายน้ำและไม้ยืนต้นเพื่อสร้างบรรยากาศและเป็นร่มเงา รวมถึงเพิ่มบทบาท และประสิทธิภาพของพื้นที่ในการเป็นพื้นที่รับน้ำของเมือง (ข้อมูลและภาพจาก Friends of River)

“Inclusive City” คือสิ่งที่ Shma นำเสนอ ซึ่งหมายถึงเมืองที่ตอบรับกับความต้องการของทั้งผู้คนและธรรมชาติ และให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นั้นด้วยในขณะเดียวกันให้ผู้คนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิ และสถานะพลเมือง เมื่อนั้น นโยบายที่เหมาะสมก็น่าจะดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน

ดูรายละเอียด ข้อเสนอรูปแบบพื้นที่ริมน้ำในบริบทที่มีความแตกต่างกัน เพิ่มเติม คลิก


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: 2017 IFLA APR Congress และ Website IFLA

เรื่อง: Bundaree D. และ กรกฎา
ภาพ: เอกสารประชาสัมพันธ์