ปรุงบ้านให้เข้ารส
เบื้องต้นบ้าน HOF เป็นบ้านเปล่า ๆ 4 ชั้น มีคอนเซ็ปต์การออกแบบสเปซแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ สเปซแบบสำนักงานที่บริเวณชั้น 1 และชั้นลอย กับสเปซของโซนลิฟวิ่งบนชั้น 3 และ 4
โถงขนาดยาวที่บริเวณชั้น 1 ถูกครองด้วยโต๊ะทำงานตัวใหญ่สำหรับนั่งทำงานร่วมกัน มีชั้นเหล็กเลื่อนได้ไว้เก็บชิ้นงานศิลปะ ปูพื้นห้องด้วยกระเบื้องสีเทาแทนพื้นปูนขัดมันของเดิม หนังสือต่าง ๆ จัดไว้อย่างเป็นระเบียบบนชั้นหนังสือเหล็กบิลท์อินที่ออกแบบเอง เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของผนังซึ่งอยู่ภายในโถงดับเบิ้ลสเปซที่เชื่อมต่อกับชั้นลอย
ชั้นลอยเป็นเหมือนสตูดิโออิสระของเจ้าของบ้าน ผืนผ้าใบสูงจรดฝ้าซ้อนเป็นชั้นค้างภาพวาดหมาดสีเอาไว้ ฝุ่นดินสอฟุ้งเปื้อนกระดาษกระจายอยู่บนโต๊ะเขียนแบบ กระป๋องสีและพู่กันวางค้างอยู่ที่เดิมรอเวลาให้เจ้าของหยิบมาตวัดฝีแปรง ภายในโถงสร้างงานศิลปะของพวกเขาแห่งนี้ ใช้วางอุปกรณ์ทำงานสารพัดสิ่ง รวมถึงชิ้นงานศิลปะหลากหลายเทคนิคที่พวกเขาแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานซึ่งกันและกัน ท่ามกลางการตกแต่งด้วยโทนไม้สีเข้ม ดำ และเทา ช่วยให้โซนทำงานดูนิ่งและสงบ แต่เมื่อขึ้นมาที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นโซนลิฟวิ่งบรรยากาศจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป ด้วยผนังบ้านสีขาว มีไม้สีอ่อนเข้ามาเป็นส่วนประกอบ และโซฟาสีเทา เพื่อให้โซนนี้รู้สึกได้ถึงความสบาย อบอุ่น และชวนผ่อนคลาย” ทั้งสองคนเล่าถึงการตกแต่งสเปซให้เข้ากับวิถีชีวิตของตนเอง
ภายในชั้น 3 ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร และครัว เชื่อมต่อกันหมดด้วยพื้นไม้ลามิเนตสีอ่อนสว่างสบายตา “เบียร์เป็นคนทำกับข้าว จึงต้องการครัวที่ใช้งานได้จริงแบบครัวไทย จากแปลนเดิมที่เคยออกแบบให้เครื่องซักผ้ามารวมไว้กับชุดครัว เราได้ย้ายเครื่องซักผ้าไปไว้ในห้องน้ำชั้นลอย ทุบห้องน้ำแล้วทำเป็นห้องซักผ้าแทน” คุณกิฟท์เล่าถึงการสร้างครัวอย่างจริงจัง เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน เราจึงได้เห็นชุดเคาน์เตอร์ครัวพร้อมตู้แขวนกรุผิวไม้และกระเบื้องสีขาวที่ร่างแบบเอง มีฟังก์ชันครบครันทั้งเตาอบ เตาแก๊ส และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการทำให้ห้องเรียบง่าย
การตกแต่งคุมโทนด้วยสีสว่างนี้ยังต่อเนื่องไปถึงชั้น 4 ซึ่งพวกเขาปรับปรุงห้องนอน โดยออกแบบตู้เสื้อผ้าให้เรียบเนียนไปกับห้องใต้ฝ้าหลังคาจั่ว โดยไม่ทำให้ห้องคับแคบลงแต่อย่างใด
“ผนังตู้บิลท์อินเราทำเป็นประตูที่เปิดเข้าไปข้างในได้ พอเดินเข้าไปก็จะกลายเป็นห้องแบบ Walk-in Closet โดยอัตโนมัติ ข้างหน้าก็เป็นฟังก์ชันตู้ใส่ทีวี ใส่ของได้ ใช้วัสดุตกแต่งที่ธรรมดาและเรียบที่สุด”
“ธรรมดาที่สุดและเรียบที่สุด” จึงเรียกได้ว่าเป็นภาพลักษณ์โดยรวมของบ้านของสองศิลปินแห่งนี้ ทว่าสิ่งซึ่งทำให้ความธรรมดากลายเป็นสิ่งพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน ก็คือสีสันจากตัวตนของศิลปินทั้งคู่นั่นเอง
ไม่มีห้อง = ยืดหยุ่น
“ชอบที่สเปซมีความโปร่งโล่ง กระจกเยอะ ไม่มีอะไรกั้น เราจึงสามารถเติมหรือปรับเปลี่ยนดีเทลต่าง ๆ ได้เรื่อย ๆ แต่ถ้ามีโครงสร้างมาฟิกส์เป็นห้อง ๆ เราคงทำอะไรมากไม่ได้”
คุณเบียร์กล่าวถึงข้อดีของบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ ซึ่งเธอสามารถเติมแต่งสิ่งที่ต้องการได้ไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่บ้านทาวน์เฮาส์ทุกแบบจะถูกใจศิลปิน เพราะความเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์นั้นหมายถึงการเป็นบ้านสำเร็จรูปที่ได้รับการกำหนด ออกแบบ และสร้างมาเสร็จสรรพโดยที่ผู้เป็นเจ้าของไม่ได้เป็นผู้เลือกตั้งแต่ต้น
แต่กับที่นี่กลับมีเสน่ห์ชวนให้คุณกิฟท์ตัดสินใจยกให้เป็นบ้านหลังใหม่ “ที่นี่มีความเหมาะสมมาก เพราะเคยไปดูทาวน์เฮ้าส์หลาย ๆ ที่มา เขาออกแบบเพื่ออยู่อาศัยมากเกินไป แบ่งห้องชัดเจนมาก แต่พอมาดูที่นี่แล้ว รู้สึกว่าห้องมันน้อย ทำให้เรามองสเปซที่เหลือเป็นฟังก์ชันได้ว่าเราจะใช้ทำอะไรบ้าง”
เพราะเอกลักษณ์ของ HOF คือการปล่อยพื้นที่ให้โล่ง มีเพียงห้องนอนที่เป็นพื้นที่ใช้งานแบบตายตัวห้องเดียว ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ของบ้านได้รับการออกแบบให้เปิดโล่งมีความอิสระเต็มที่ จึงถูกใจศิลปินที่ต้องการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวเล็ก ๆ และได้ทำงานที่ตนเองรักไปด้วยในสถานที่เดียว เพราะเหตุนี้เราจึงได้เห็นสิ่งที่พวกเขาช่วยกันเติมแต่งบ้าน ผ่านผลงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนของทั้งคู่
“ ประติมากรรมหมี นอกจากการเป็นประติมากรรม ผมได้คิดฟังก์ชันเพิ่มเข้าไป คือสามารถทำเป็นเก้าอี้นั่งเล่นได้ เป็นการผสมผสานระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับสคัลป์เจอร์เข้าด้วยกัน” คุณกิฟท์เล่าถึงประติมากรรมสูงเด่นซึ่งตั้งอยู่ภายนอกในคอร์ตบนชั้น 3 ด้วยผนังที่โล่งทะลุถึงกันแบบดับเบิ้ลสเปซจึงทำให้ศิลปินอดใจไม่ไหวขอเติมงานศิลปะตามสไตล์ของตัวเองลงไป
รวมถึง “ กวางนีออน ได้มาจากงานที่ดิเอ็มควอเทียร์ ตอนนั้นเป็นงานโชว์เรื่องไลท์ติง เสร็จจากงานนั้นเราก็เลยนำมาไว้ที่บ้าน” ด็กลายเป็นผลงานซน ๆ สีสันสดใสโดดเด่นอยู่กลางผนังห้องครัว
งานศิลปะทำให้บ้านสนุกสนาน รูปแบบสำเร็จรูปของสเปซในบ้านถูกลดทอนด้วยตัวตนของผู้อยู่อาศัย พวกเขาเผยไอเดียออกมาได้อย่างเสรี ในพื้นที่ซึ่งยืดหยุ่นเปิดกว้าง ไม่ต่างจากที่พวกเขาได้ร่วมขึงผ้าใบ ละเลงสี และชื่นชมผลงานของทั้งคู่ไปพร้อมกัน
“บ้าน” จึงเป็นเหมือนเป็นงานศิลปะที่ถูกแต่งเติมอย่างไม่รู้จบ ฉันใดก็ฉันนั้น
เจ้าของ-ตกแต่ง : คุณรักกิจ ควรหาเวช และคุณพิชญา ศรีระพงษ์
ออกแบบสถาปัตยกรรม : IF (Integrated Field Co. Ltd.,)
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา