ไม่ว่าเมืองใดในทั่วโลก ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในราคาสูงและหายาก ประกอบกับความหนาแน่นของประชากรที่หลั่งไหลเข้าสู่เมืองหลวง ที่อยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวใจกลางเมืองจึงเป็นสิ่งที่หาได้ยาก คนสมัยใหม่จึงนิยมอยู่อาศัยในบ้านแบบอพาร์ตเมนต์ คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ หรือหากเป็นบ้านเดี่ยวก็มักจะอยู่ในบ้านที่มีขนาดจำกัด เป็นหลัก
ญี่ปุ่นถือเป็นเมืองที่โดดเด่นในการสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัด ก็ด้วยเพราะที่ดินแพง และมีน้อยเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ แต่ถึงที่มีน้อย พวกคอนโดก็ไม่นิยมสร้างตึกสูง ด้วยข้อจำกัดทางภูมิทัศน์ แถม เทคโนโลยีในก่อสร้างพวกคอนกรีตเสริมเหล็กไม่นิยม เพราะจากราคาแพง ต้องนำเข้า ต้นทุนตึกสูงก็จะสูงมาก อย่างในเมืองเราก็จะมักเห็นบ้านหลังเล็กที่มีพื้นที่เพียงหัวมุมถนน หรืออพาร์ตเม้นท์ที่ปรับตัวให้อยู่ร่วมเข้ากับธรรมชาติ
ไม่เพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น ในใต้หวันก็เช่นกัน การออกแบบตกแต่งภายในที่อยู่อาศัยแบบอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมในไต้หวันจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบ่อย และไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะได้เห็นงานออกแบบที่อยู่อาศัยและงานออกแบบภายในที่โดดเด่นมากมายจากที่นี่
สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานที่ประหยัดพื้นที่แล้ว เรายังมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ กฎกระทรวงและพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เช่น ห้องนอน มีกฎหมายกำหนดว่า สามารถสร้างขนาดเล็กที่สุดได้ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร และด้านแคบที่สุดต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร (กฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543) หากเจาะลึกลงไปกว่านั้น พื้นที่ทางเดินข้างเตียงที่เหมาะสมควรเผื่อระยะไว้ที่ 75 เซนติเมตร ส่วนห้องไหนมีตู้เสื้อผ้า ควรเผื่อช่องทางเดินหน้าตู้ไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพื่อให้เพียงพอกับการใช้งาน หรือแม้แต่เรื่องของบันได ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร เป็นต้น
ส่วนบ้านที่สร้างระหว่างตึก หรือ ซอกแคบๆ ข้อกฎหมายกำหนดให้ผนังทึบต้องห่างจากแนวเขตที่ดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร ห้ามสร้างชิดเด็ดขาดนั่นเอง โดยไม่ให้ใช้ผนังร่วมกับรั้ว เพื่อป้องกันอันตรายจากการทรุดตัวนั่นเอง
did you know?
Minimum Space : บ้านที่เราพักอาศัยกันอยู่ทุกวันนี้มีสัดส่วนที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายในระดับหนึ่ง (Comfortable Scale) แต่สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัดมาก ๆ เราสามารถอ้างอิงสัดส่วนการออกแบบที่เล็กที่สุดที่มนุษย์สามารถใช้งานได้จากหลัก Human Scale หรือสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ เพราะขนาดของร่างกายมนุษย์นี้จะเป็นตัวกำหนดขนาดของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และพื้นที่ต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้จริงขณะเดียวกันก็ช่วยประหยัดพื้นที่ได้แบบสุด ๆ
แต่หากยังสงสัยว่าการออกแบบฟังก์ชั่นของบ้านให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่จำกัด การทำให้บ้านเล็ก ดูโปร่งโล่ง อยู่สบายได้อย่างไม่อึดอัดนั้นทำอย่างไร เราจะขอพาไป ถอดรหัสงานออกแบบจากบ้านหลังเล็ก ทั้ง 5 หลังนี้
ความสบายอยู่ที่แสง
1- Kyomachi House : บ้านหลังเล็ก อยู่สบายได้ทั้งสี่ฤดู
การออกแบบบ้านของญี่ปุ่นมักมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เจ้าของ บ้านหลังเล็ก ขนาด 110 ตารางเมตรนี้ ได้สัมผัสกับทั้งสี่ฤดูของญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่
บ้านหลังเล็กขนาด 110 ตารางเมตรแห่งนี้ ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนพอดี และเนื่องจากพื้นที่ดินตั้งอยู่เคียงข้างถนนชุมชนหน้าแคบ จึงไม่สามารถสร้างบ้านหลังใหญ่ได้ อีกทั้งปัญหาในเรื่องทิศทาง เพราะหัวมุมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นทิศทางที่รับแสงแดดเต็มๆ สถาปนิกจึงออกแบบให้ส่วนนี้เป็นสวนภายในบ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องแสงแดดแล้ว ยังเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมส่วนตัวแบบย่อมๆ ภายในบ้านด้วย โดยมีคีย์หลักเป็นต้นไม้ใหญ่ใจกลางสวน
การออกแบบบ้านใช้ความชาญฉลาดของการออกแบบบ้านญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเสมอ นำมาปรับใช้ให้ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวได้ในขณะเดียวกับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ ด้วยการดัดแปลงภูมิปัญญาบางส่วนจากบ้านโบราณของเกียวโตที่เรียกว่า มาชิยะ มาใช้อย่างการใช้ไม้ระแนงหน้าบ้านบังตา หรือ ทาเตโกะ พรางตาในส่วนสวนหย่อมหน้าบ้าน
ออกแบบ : Yoshitaka Kuga บริษัท Hearth Architects
อ่านต่อ : Kyomachi House : บ้านหลังเล็ก อยู่สบายได้ทั้งสี่ฤดู
2 – CASA & CAFE อบอวลความสุขในบ้านสีขาว
เป็นที่รู้กันดีว่าที่ดินในไต้หวันมีราคาค่อนข้างสูง การออกแบบบนเนื้อที่กว่า 33 ตารางเมตรแห่งนี้จึงต้องสมบูรณ์แบบและใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าที่สุด พื้นที่ทั้งหมดจึงถูกซอยจำนวนชั้นขึ้นมาใหม่ให้ภายในมีทั้งหมดสี่ชั้นสลับกันไปแบบฟันปลา เชื่อมกันด้วยโถงกลางซึ่งเป็นไฮไลท์ของบ้าน และช่องสกายไลท์ด้านบนที่ดึงแสงธรรมชาติให้สะท้อนกับผนังสีขาว ช่วยให้ตัวบ้านดูโปร่งมากขึ้น
การเลือกนำไม้มาใช้ก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ลงตัวที่สุด เพราะสามารถสร้างบรรยากาศที่ดูอบอุ่นน่าอยู่และเข้ากับสไตล์เฟอร์นิเจอร์ ทั้งยังมีการนำกระจกมาใช้เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ และเชื่อมพื้นที่จากภายนอกเข้ามาช่วยให้บ้านดูโปร่งขึ้น อีกทั้งลูกตั้งบันไดใส่ดีเทลกระจกใสเพื่อเพิ่มความโปร่งเช่นเดียวกับมุมผนังและราวกันตกในแต่ละชั้น ทำให้บ้านสามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้หลายทิศทาง
ชั้นสามออกแบบเป็นมุมสำหรับนั่งทำงานและอ่านหนังสือบนพื้นที่ที่กว้างขึ้น ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เจ้าของบ้านตั้งใจนำมาจัดวางเพื่อสร้างบรรยากาศให้บ้านดูอบอุ่น รวมถึงประตูกระจกใสรอบด้านที่สามารถเปิดออกรับลมและเดินออกไปใช้งานที่ระเบียงด้านนอกได้โดยไม่ต้องห่วงว่าบ้านข้างๆ จะมองเข้ามาเห็น เพราะสถาปนิกได้ดีไซน์ผนังทึบซ้อนอีกชั้นเพื่อช่วยบังสายตา
ออกแบบ : HAO DESIGN
อ่านต่อ : CASA & CAFE อบอวลความสุขในบ้านสีขาว