A PLACE OF PAPER - room

A PLACE OF PAPER

ใครจะคิดว่า “กระดาษ” วัสดุธรรมดา ๆ ที่เราสนิมสนมกันมาตั้งแต่วัยเริ่มหัดพับจรวด เรื่อยมาจนวัยแบกตำราเรียนเล่มหนาและเขียนบันทึกความทรงจำลงในไดอะรี่ขนาดกะทัดรัด ก่อนผันตัวมารับจ๊อบเป็นคุณ ส.ค.ส. บอกความรู้สึกช่วงโอกาสพิเศษต่าง ๆ ในวัยที่การแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องสุดเคอะเขิน เรื่อยมาจนถึงงานศิลปะและงานดีไซน์ที่นำกระดาษมาแปลงร่างเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด วันนี้จึงขอพาทุกคนออกเดินทางไปทำความรู้จักกับ 3 สถานที่ทำงานของคนที่หยิบจับวัสดุแสนสามัญอย่างกระดาษมาแปลงร่างสร้างเรื่องได้อย่างสร้างสรรค์ด้วยใจรักและชัดเจนในแนวทางของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน

 

Paper_01

Paper_13

01 TEASPOON STUDIO
www.facebook.com/teaspoonstudio.bkk

สตูดิโอออกแบบที่เกิดขึ้นจากความฝันที่อยากมีผลิตภัณฑ์กระดาษเป็นของตัวเอง สู่นักเล่าเรื่องที่มีตัวละครเป็นกระดาษ พร้อมจินตนาการไม่รู้จบเป็นท่าไม้ตายของ คุณพิม จงเจริญ หญิงสาวผู้หลงใหลในความเรียบง่ายของกระดาษ โดยนำมาสร้างสรรค์เป็นข้าวของเครื่องใช้ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น กระดาษห่อของขวัญ สติ๊กเกอร์ ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ตลอดจนงานประติมากรรมกระดาษดีไซน์เหนือจริงที่มีทั้งงานที่สนองความสนุกส่วนตัวและความต้องการของลูกค้า อย่างงานออกแบบแพ็คเกจจิ้ง ภาพประกอบสื่อสิ่งพิมพ์แบบสองมิติและสามมิติ พร็อปส์หน้าตาเก๋สำหรับถ่ายแฟชั่น หรือแม้กระทั่งการเนรมิตพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นดินแดนใหม่ด้วยเทคนิคที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างการพับ ตัด แปะ

“เสน่ห์ของกระดาษในมุมมองของเราคือเป็นแมทีเรียลที่ทุกคนเห็นมาตั้งแต่เกิดและเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด ใครจะหยิบไปทำอะไรก็ได้ ไม่เหมือนงานไม้ งานเหล็กที่ต้องมีความรู้เฉพาะ หรือเครื่องมือพิเศษในการเหลาหรือตัด งานกระดาษเป็นงานทำมือที่มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง แต่ส่วนตัวเราไม่ค่อยชอบอะไรที่เหมือนจริงเท่าไหร่ เวลาทำงานทุกครั้งจึงแค่พยายามทำภาพจินตนาการในหัวให้ออกมามากกว่า”

ทุกวันนี้ห้องสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัดแห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ทดลองวิธีการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ด้วยการผสมผสานกระดาษเข้ากับสิ่งต่าง ๆ เช่น งานไม้ งานวาด งานภาพพิมพ์ และงานวิดีโอ โดยมีความสนุกเป็นที่ตั้ง พร้อมกับเปิดโอกาสให้นัก (อยาก) เล่าเรื่องด้วยกระดาษได้มาลองทำเวิร์คชอปด้วยกัน

 

Paper_02

Paper_14

02 MAHAASAMUD
www.facebook.com/mahaasamudhandcraft

Mahaasamud (มหา-สมุด) แบรนด์สมุดทำมือและงานเครื่องหนังทำมือของ คุณเจษฎา แก้วบุดตา และ คุณจุฑามาศ แก้วเรือนศิลป์ ซึ่งมีความหมายว่า เทคนิคอันหลากหลายไม่รู้จบของการทำสมุด ถึงแม้จะขึ้นต้นชื่อด้วย “มหา” แต่งานทุกชิ้นของพวกเขากลับเริ่มต้นขึ้นจากห้องทำงานเล็ก ๆ ในบ้านหลังน้อยแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม และก็เป็นไปตามความหมายของชื่อ สมุดแต่ละเล่มของที่นี่มีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่หาได้ในแต่ละครั้ง เช่น ชุดภาพเก่า รูปเด็ก ชุดภาพเก่าขาว – ดำ ชุดภาพทิวทัศน์ของนครพนมที่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว โดดเด่นด้วยเทคนิคการย้อมกาแฟดำ เพื่อให้ได้อารมณ์เก่ากรุ่นกลิ่นกาแฟหอม ๆ และแน่นอนว่าเนื้อสีที่เกิดจากการย้อมนั้นไม่ซ้ำกันเลยสักแผ่น กระดาษที่ใช้มีตั้งแต่กระดาษถนอมสายตา กระดาษภาพวาด กระดาษจากร้านขายหนังสือเก่า และหนังวัวแท้

ทั้งคู่เล่าว่า แม้จะเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เบื่อที่จะตื่นขึ้นมาย้อมกระดาษ ตัดแผ่นหนัง เย็บสมุด เพราะ Mahaasamud เริ่มต้นจากความชอบในกลิ่นกระดาษ ในผิวสัมผัสของหนัง และการทำสิ่งที่รักด้วยสองมือ แถมมีความสุขขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่ามีคนรักและคนใช้ผลงานที่เกิดจากห้องทำงานเล็ก ๆ แห่งนี้อย่างคุ้มค่า ซึ่งทั้งคู่ตั้งใจว่าจะเริ่มทำสตูดิโอขนาดอบอุ่นขึ้นเพื่อทำงานสมุด เครื่องหนัง และจัดแสดงงาน ควบคู่ไปกับการแบ่งปันความรู้ให้กับคนรัก การทำสมุดและเครื่องหนังผ่านเวิร์คชอปขนาด 2 – 3 คนในอนาคตอันใกล้

 

Paper_03

Paper_15

03 PUB • PIAB • RIAB • ROY
www.facebook.com/PubPiabRiabRoy

ดูเหมือนว่างานกระดาษกับงานดอกไม้สดของไทยจะเป็นอะไรที่ไม่น่าเข้ากันได้ แต่เมื่อ 2 ส่วนผสมนี้นำมาหลอมรวมเข้าด้วยกันผ่านมุมมองและฝีมือของ คุณวิริน เชาวนะ ผลที่ได้จึงเกิดเป็นงานหัตถกรรมดอกไม้ มาลัย พานพุ่ม เครื่องแขวน และตาข่ายดอกไม้ที่แปลกใหม่ ทั้งจากการทดแทนความอ่อนช้อยด้วยเหลี่ยมมุมของรูปทรงเรขาคณิต แทนสีสันฉูดฉาดด้วยสีโมโนโครม แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยและวิธีการร้อยดอกไม้สดดั้งเดิมไว้อย่างครบเครื่อง

แม้งานดอกไม้กระดาษของคุณวิรินจะดูเรียบง่าย แต่เมื่อได้เห็นการทำงานของเธอในห้องทำงานส่วนตัวที่เต็มไปด้วยกระดาษ ไม้บรรทัด คัตเตอร์ และสมุดโน้ตที่มีร่องรอยการร่างแบบ ก็จะพบว่าเส้นสายที่ลดทอนนั้นได้ผ่านการคิดเทคนิค ปรับแพตเทิร์นมาอย่างรอบคอบ และมีวิธีการพับที่ซับซ้อนกว่าที่คิด เพื่อเล่นกับแสงเงา เพิ่มความประณีตให้ผลงาน

“ไม่ว่าจะตัด ดัด พับ เราก็สามารถสร้างผลงานได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องมือเฉพาะทาง นั่นคือความง่ายของกระดาษ ส่วนความยากคือเราต้องวางแผนการทำงานให้ดี เพราะกระดาษเป็นวัสดุสำหรับการบันทึก นอกจากการเขียนแล้วกระดาษยังบันทึกรอยพับ รอยขูดขีด รอยเปื้อน ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นระหว่างทำงานเราต้องมีสมาธิ และการทำซ้ำ ๆ ก็ช่วยให้เราได้เทคนิคใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องได้ด้วย”

 

เรื่อง : ploythinkp+
ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา, Teaspoon, Mahaasamud, พับ เพียบ เรียบ ร้อย
คอลัมน์ : Go Around
Room Magazine : OCTOBER 2015 No. 152