เล่าประวัติศาสตร์ = บทบาทใหม่
จากพื้นที่ปิดซึ่งยากต่อการเข้าถึงในฐานะโรงพิมพ์ธนบัตรเมื่อวันวาน สู่การเป็น ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีฟังก์ชันเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ในวันนี้ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
ส่วนที่ 1: พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งใหม่ ย้ายมาจากที่ตั้งเดิมในวังบางขุนพรหม มาอยู่ภายใน “ห้องมั่นคง” แบ่งพื้นที่จัดแสดงแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ประกอบด้วย
นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร / เรื่องเล่า ธปท. บนชั้น 2 ที่รวบรวมเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของประเทศ ตั้งแต่เปิดโรงพิมพ์ธนบัตรครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 สัมผัสประสบการณ์ที่จำลองบรรยากาศของห้องมั่นคงขนาดใหญ่ ซึ่งเคยเก็บรักษาธนบัตรก่อนนำออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมการแสดง “เรื่องเล่า ธปท.” สะท้อนภารกิจสำคัญของธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยผ่านสื่อวีดีโอความยาวราว 5 นาที
นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บนชั้น 1 แหล่งเรียนรู้ประวัติและบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีพันธกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน การกำกับดูแลและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน โดยการนำเสนอผ่านสื่อด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
นิทรรศการเงินตรา 2 บนชั้น B1 พื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยควบคู่กับวิวัฒนาการของเงินตราไทย ที่เล่าเรื่องผ่านชีวิตของชาวสยามในยุครัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงธนบัตรที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรวบรวมไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดที่นี่ที่เดียว
สุดท้ายคือ นิทรรศการเงินตรา 1 บนชั้น B2 ที่สามารถย้อนรอยอารยธรรมของเงินตรา ค้นหาที่มาของเงินซึ่งปรากฏตัวขึ้นในแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ ของโลก การแลกเปลี่ยนข้ามภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์รวมทั้งมีพัฒนาการข้ามกาลเวลา ชวนให้ค้นหาความหมายของเงินและค้นหาคำตอบว่ามนุษย์สร้างเงินขึ้นมาเพื่ออะไร