11 มกราคม 2561, 9 ศาสตรา เข้าโรงฉายวันแรกอย่างเป็นทางการ ตลอดทั้งวันเราไม่ทราบจำนวนผู้ชมแต่ละรอบ แต่ละโรงที่แน่ชัด ทว่าเวลา 4 ทุ่มตรงของคืนวันนั้น ณ โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า ทั่วทั้งโรงมีผู้ชมเพียงคนเดียว นั่นคือเรา ตั้งแต่ประตูเปิด หนังตัวอย่างเริ่มฉาย ไปจน 9 ศาสตรา จบ End Credit จำนวนผู้ชมไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ลดลงไปมากกว่านั้นแต่อย่างใด เพราะว่ายังคงเหลือ “เรา” นั่งอยู่จนถึงนาทีเกือบสุดท้าย
“อ๊อด” เด็กหนุ่มผู้ถูกชะตาลิขิตให้ต้องหนีจากเกาะกลางโพ้นทะเลเพื่อมากอบกู้อาณาจักรรามเทพนคร แผ่นดินปิตุภูมิของเขาให้รอดพ้นอำนาจทมิฬของยักษา ร่วมด้วยตัวละครเพื่อนพ้องคนสำคัญนำโดย “เสี่ยวหลาน” โจรสลัดอากาศชาวจีนแสนงาม ผู้เป็นนักแม่นปืนแห่งกองเรือเหาะทะยานเมฆ พร้อมด้วย “วาตะ” ลิงทโมนตัวแสบ และ “อสูรสีชาด” ยักษ์ปักหลั่นตัวสีแดงแต่ใจดี
นี่คือบทคร่าวๆ ของ “๙ ศาสตรา” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นแนวแอ็คชั่นแฟนตาซี ที่เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ “อ๊อด” ตัวละครเอกของเรื่องโดยใช้ศิลปะการต่อสู้มวยไทยที่ร่ำเรียนและฝึกฝนมากับครูมวยอันดับหนึ่งของแผ่นดินเป็นอาวุธ
เราไม่ใช่สื่อหรือเพจวิจารณ์หนัง ตั๋วในมือวันนี้ก็เป็นเงินส่วนตัวที่เราเลือกสละ เพื่อแลกกับสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นจากหนังเรื่องนี้ โดยไม่มีทีมงานเบื้องหลังมาร้องขอให้ช่วยโปรโมทแต่อย่างใด เพียงแต่เราต่างหากที่ร้องขอ ขอให้เราไม่พบเจอกับความผิดหวังได้ไหม แล้วสุดท้าย เราก็ได้สิทธิ์นั้นจริงๆ
แม้เก้าอี้ที่เว้นว่างจะปลุกบรรยากาศชวนให้วังเวงได้พิลึก แต่น่าประหลาด เมื่อทุกท่วงท่าที่อ๊อดออกหมัด เท้า เข่า ศอก ส่งเสียงอึกทึกรอบทิศทาง กลับชวนให้เราจดจ่อและตื่นเต้นไปกับ CG ฝีมือคนไทยจนลืมบรรยากาศวังเวงนั้นไปอย่างสิ้นเชิง
บาทาลูบพักตร์ ยกเท้าเหยียดแล้วเหยียบไปที่ยอดหน้า ฤๅษีบดยา เหินหาวเอาศอกปักลงกลางกระหม่อม หักคอเอราวัณ เอามือโน้มคอแล้วงอเข่ากระทุ้งเข้ากระโดงคาง และอีกสารพัดท่วงท่าที่ “อ๊อด” งัดมาต่อสู้กับ “เทหะยักษา” น่าชื่นชมทีมงานเบื้องหลังที่นอกจากจะกำหนดโครงเรื่องให้น่าสนุกแล้ว ยังสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครโดยเลือกใช้แม่ไม้มวยไทยเป็นอาวุธลับ ซึ่งช่วยส่งเสริมศิลปะการป้องกันตัวอันเป็นเอกลักษณ์ไทย ให้ก้าวออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติไปโดยปริยาย
นอกจากนี้รายละเอียดของฉากต่างๆ ยังมีการนำเสนอความเป็นไทยสอดแทรกลงไปให้เห็น ทั้งงานสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ วิถีชีวิต และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ผสมผสานไปกับโลกแห่งจินตนาการ ทั้งสลัดอากาศนำทัพกองเรือเหาะทะยานเหนือน่านฟ้า ถ้ำในหมู่เกาะกลางโพ้นทะเล ตลอดจนอาณาจักรรามเทพนครซึ่งเป็นหมุดหมายหลักของอ๊อดซึ่งถูกลิขิตให้เป็นผู้กอบกู้ ที่คล้ายกับว่าได้ย้อนไปสู่อาณาจักรอยุธยาในอดีตในโลกแอนิเมชั่น
ทั้งนี้ เสียงดนตรีประกอบฉากโดย Ryan Shore และวงอออร์เคสตราระดับโลก ยังสร้างความฮึกเหิม ชวนลุ้นระทึกไปในฉากบู๊และผจญภัย หรือว่าในฉากที่พระ-นางอ๊อดและเสี่ยวหลาน บังเอิญประชันดนตรีโดยเป่าสังข์และกู่เจิงบนเรือเหาะที่ไพเราะมากๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งแสง สี เงา และงานออกแบบกราฟิกที่ดูมีมิติสมจริง ชวนเพลิดเพลินสมกับการได้เบื้องหลังคนไทยมืออาชีพที่เคยผ่านการทำงานกับ DreamWorks Animation และ Pixar Animation Studios มาช่วยการสร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้เวลาในกระบวนการผลิตกว่า 4 ปีเต็ม
แม้หนังจบ แต่อารมร์ยังคุกรุ่น นี่ฝีมือคนไทยจริงเหรอ? เป็นสถาปนิกหันมาทำหนังการ์ตูนแฟนตาซีด้วยเหตุใดแถมทำออกมาได้ดีเสียด้วย? จะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อว่าหนังเรื่องนี้ดีจริง เพราะหนังไม่อยู่ในกระแสแบบนี้เสี่ยงต่อการโดนเมินสูงมากนะ? (เหมือนเช่นรอบ 4 ทุ่มที่เงียบกริบจนเราเหมาโรงดูคนเดียว) ทำไมถึงกล้าทำหนังแอนิเมชั่นต้นทุนสูงเอาเรื่องขนาดนี้ทั้งที่ไม่เคยทำหนังใหญ่มาก่อน? และอีกหลายคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัว เช้าวันรุ่งขึ้นเราจึงรีบต่อสายหา เหว่ง – ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ ทันทีเพื่อค้นคำตอบที่เราสงสัยให้กระจ่างคลี่คลาย
Did you know?
ทีมเบื้องหลังนำโดยสองโปรดิวเซอร์ อภิเษก วงศ์วสุ และ ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และสองผู้กำกับฯ ณัฐ ยศวัฒนานนท์ และกันย์ พันธ์สุวรรณ ต่างก็ไม่เคยทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นฟอร์มใหญ่ใช้ทุน 230 ล้านบาทขนาดนี้มาก่อน
อ่านต่อหน้าถัดไป: สนทนากับสถาปนิกและคุณพ่อเพจดัง Little Monster เหว่ง – ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ หนึ่งในหัวเรือผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางอันยาวนานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันฉายของ 9 ศาสตรา ผลงานสุดท้ายที่เขาขอทิ้งทวนแล้วหันหลังให้กับวงการแอนิเมชั่นเพื่อให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มตัว คลิกที่นี่