สนทนากับสถาปนิกและคุณพ่อเพจดัง Little Monster เหว่ง – ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ หนึ่งในหัวเรือผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางอันยาวนานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันฉายของ 9 ศาสตรา ผลงานสุดท้ายที่เขาขอทิ้งทวนแล้วหันหลังให้กับวงการแอนิเมชั่นเพื่อให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มตัว
หลายคนมักตั้งคำถามกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นฝีมือคนไทย และมีความเชื่อฝังอยู่ในใจว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีน้อย ส่วนหนึ่งเพราะตลาดภาพยนตร์แอนิเมชั่นในเมืองไทยไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก รวมถึงค่อนข้างเสี่ยงต่อการขาดทุนมากกว่าทำรายได้ (โดยเฉพาะหากเข้าฉายแค่ภายในประเทศอย่างเดียว) คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าคนไทยส่วนหนึ่งคาดหวังไว้สูงกับ 9 ศาสตรา ทว่าก็ไม่ผิดเช่นกันที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะ “ไม่ผิดหวัง” เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเช่นเรา
อ่านบทความย้อนหลัง: ความอลังการที่รอให้ลองไปพิสูจน์ฝีมือคนไทย ในภาพยนตร์แอนิเมชั่น “9 ศาสตรา”
Room: สิ่งที่ยากที่สุดในช่วงกระบวนการผลิตอันยาวนาน
ภูศณัฎฐ์: 4 ปีคือโปรดักท์ชั่นเต็มๆ นะ ถ้าระยะเวลาทั้งหมดคือ 5 ปีกว่าด้วยซ้ำ ทั้งในการที่เอาหนังไปขายด้วย ถามว่ายากตรงไหน ถ้าเป็นสถาปนิก ออกแบบบ้าน เราจะต้องเขียนผัง เขียนแปลน คิดคอนเซ็ปต์ไว้ก่อนที่จะเริ่มสร้างบ้าน ถ้าเทียบกันคือเราสร้างไปแก้ไป เปลี่ยนแปลนไป มันจะมีโครงอยู่แล้วว่าเป็นสไตล์ไหน แต่มันจะต้องทำไปทุบไป งบมันก็จะบานปลาย มันยากตรงความชำนาญเราไม่ได้มากพอสำหรับงานสเกลใหญ่ขนาดนี้ ทุกอย่างเรียนรู้ไปพร้อมกัน ตอนขายยิ่งยาก ต่างประเทศบอกว่าไปทำให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาขายใหม่ โดยรวมดีนะ คาดไม่ถึงเลยว่าทำในงบประมาณเท่านี้ เขาถามกลับเลยว่ารับจ้างเขาทำไหมจะส่งงานให้ เพราะอย่างเรื่องเราถ้าทำที่เมืองนอกอย่างน้อยต้อง 40 ล้านเหรียญฯ
Room: รวมเบื้องหลังคนไทยฝีมือฉมังแห่งวงการแอนิเมชั่น
ภูศณัฎฐ์: ทีมงานที่มาทำมีคนที่อยู่ Sony Pictures Animation คนนี้เขาทำ Hotel Transylvania ทำ Angry Birds มาก่อน ชื่อช้าง เป็นรุ่นน้องผมที่สถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ที่ได้ไปเรียนต่อด้านแอนิเมชั่นที่ต่างประเทศ ตอนนี้เขาก็มีสตูดิโอของเขา ก็กลับมาช่วยดูเรื่องไลท์ติ้งดีไซน์และเรนเดอร์ มาช่วยเป็นคอนเซาท์ซึ่งก็จะมี Head อีกคนที่ทำงานอยู่ที่แคนาดาชื่อ Third คือสองคนนี้ทำงานประสานกัน ต้องรับบทหนักมาก เพราะต้องสอนคนจำนวนเยอะในการเรนเดอร์ออกมาให้สวยและทั้งเรื่องแสง อีกคนคือวินที่น่าจะอยู่ DreamWorks มาก่อน วินเก่งเรื่องอาร์ต ก็มาช่วยเรื่องคอนเซ็ปต์ดีไซน์ ทำ Key visual จะคอยปรึกษากับณัฐ (ณัฐ ยศวัฒนานนท์ หนึ่งในผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์) วินจะช่วยเยอะมาก อีกคนคือตุลย์ (วีรภัทร ชินะนาวิน) เจ้าของ RiFF Studio เป็นเทพแอนิเมเตอร์ไทย ที่เป็นคนแนะนำคนเก่งๆ เข้ามาในโปรเจ็กต์นี้ มีพี่ๆ ที่ Exformat Films มาเป็นที่ปรึกษา ฯลฯ ฉะนั้นมันเป็นโปรเจ็กต์ที่มีการบอกต่อ คนเหล่านี้พอเห็นโปรเจ็กต์นี้แล้วอยากยกระดับมันขึ้นมาต้องหาใครอีก ตรงนี้ขาดใครอีก เราต้องมีคนมาช่วยทำระบบให้แน่น
Room: ใช้จินตนาการสูงกว่าการออกแบบสถาปัตยกรรม
ภูศณัฎฐ์: ต้องชมณัฐที่มีไอเดีย เขาจบสถาปัตย์ฯ จุฬา ณัฐเป็นคนอ่านการ์ตูนเยอะ เล่นเกม อ่านนิยายเยอะตอนวัยเด็ก พอวัยทำงานมันก็ถูกนำมาใช้ในเรื่องของหนัง มีการผูกโครงเรื่องขึ้นมา 9 ศาสตรา เราไม่ได้วางโครงเรื่องให้ซับซ้อน เด็กสามารถดูได้ การทำตลาดกลุ่มนี้เราไม่สามารถทำหนังให้ซ่อนเงื่อนมากขนาดนั้นได้ มันต้องเล่าง่าย ย่อยง่าย มีความแฟนตาซี มีหักมุม ตลกเล็กน้อย แต่เน้นไปที่แอ็คชั่น มันอาจจะมีจุดที่ดี บางคนอาจจะบอกว่ามีจุดที่ไม่ถึงบ้าง ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละบุคคล
Room: งานสถาปัตยกรรมในโลกแฟนตาซี
ภูศณัฎฐ์: เราเรียนสถาปัตยกรรมมาอยู่แล้วทั้งทีมอาร์ตที่นำโดยณัฐ เขาก็มีความเชี่ยวชาญด้านดีไซน์ ทำงานเป็นสถาปนิก เราก็จะเอาทุกอย่างมาผสม สถาปัตยกรรมไทย จีนด้วย ทีมดีไซน์เขาก็มี Creative ของเขาด้วย บางคนไม่ได้เรียนสถาปัตย์มาแต่ว่าเขารู้ ก็มีการผสมผสานดีไซน์ฉาก เพราะพวกคอมโพสิชั่นต่าง ๆ มันก็จะวางให้มีแนวคิดที่ค่อนข้างมีเรื่องเต็ก (สถาปัตยกรรม) มาผสม หรือการจัดเรียงต้นไม้มันก็มีการเล่าแบบเต็ก
Room: เบื้องหลังการคิดฉากแฟนตาซี เหาะ เหิน เดินอากาศ
ภูศณัฎฐ์: ด้วยความเป็นหนังแอ็คชั่นแฟนตาซี แน่นอนถ้าอยู่บนดินอย่างเดียวมันก็คงไม่สนุกเท่าไหร่ ตอนแรกมีผีเสื้อสมุทรด้วยนะ หรือเรียกว่ายักษ์ในน้ำแล้วกัน เพราะยักษ์มีหลายประเภท แต่ตอนหลังมีเรื่องงบประมาณ และเรามองว่าถ้าเราใส่ไปตะลุยน้ำแล้วเนี่ย หรือมีป่าชายเลนด้วยมันคงทำไม่เสร็จ แล้วต่างประเทศก็มองว่าฉากแบบนี้มันยาวเกินไป เพราะความยาวไม่ควรเกิน 90-100 นาที จริงๆ ยังมีฉากที่ตัดออกไปอีกเยอะ ซึ่งเวอร์ชั่นที่จะนำไปฉายต่างประเทศก็จะเป็นเวอร์ชั่นนี้แหละ
Room: ไฮไลต์ที่อยากบอก ฉากที่ถูกตัดออกแล้วเสียดาย
ภูศณัฎฐ์: ฉากเมืองนาคาวัน (ฉากพระเอกกินไก่ด้วยความหิวโซ) เสียดายเหมือนกันที่ฉากปูเรื่องถูกตัดทิ้งไปเยอะ ที่จริงฉากเปิดของเมืองนาคาวันไม่ได้อยู่ตรงฉากพระเอกกินไก่ มันเปิดตอนพระเอกเดินเข้าเมืองมาแล้วก็เจอสัตว์หลายเผ่าพันธุ์เยอะไปหมด แล้วพระเอกก็เดินด้วยความหิว ท้องร้อง แล้วเห็นพญานาคที่มีหลายเศียร และมีเรือเหาะมาจอดเทียบท่า ตรงนี้ทำเสร็จหมดแล้วแต่ถูกตัดทิ้งเพราะเราต้องทำให้หนังไม่ยืด อย่างที่บอกเราทำโปรดักชั่นพร้อมกับพรีโปรดักชั่น แล้วเขียนบทกับสตอรี่บอร์ดไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นหนังยังไม่ทันจบเลยฉากจะถูกตัดออกไปเยอะมาก ฝรั่งมองว่าแบบนี้ขายไม่ได้แน่ๆ แบบนี้ขายเฉพาะในไทยไม่ต้องลงโรงฝรั่งเลยแล้วกัน ทำรอบไม่ได้แล้วยังโนเนมอีกต่างหาก ทางรอดเดียวคือต้องตัดให้กระชับ เล่าเรื่องให้ครบตามฟอร์แมตที่ควรจะเป็น เราต้องตัดน้ำออก เอาเนื้อเรื่องที่เล่าให้ได้ก่อน ถ้าเรามีเวอร์ชั่นไดเร็กเตอร์คัตงบประมาณการทำซาวด์ก็จะเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งแก้ยิ่งบวม ทำขนาดนี้คนยังไม่เชื่อเลย มองว่าโกหก จ้างมาโปรโมท หนังกากๆ แค่ภาพแค่นี้ก็ห่วยแล้ว คนด่าเต็มไปหมดเลย (ทั้งที่บางคนยังไม่ทันได้ดู)
Room: คำสบประมาทเหล่านี้บั่นทอนจิตใจทีมงานขนาดไหน
ภูศณัฎฐ์: ไม่บั่นทอนหรอก แค่รู้สึกว่าคนอื่นเขาตัดสินโดยใช้ความรู้สึกในอดีต ซึ่งเราก็ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาจะคิดว่าจะสำคัญอะไรหนักหนาทำไมถึงต้องไปดู แต่ผมมองโอกาสตรงนี้มากกว่า ถ้าคนไปดูแล้วเนี่ยรู้สึกดี รู้สึกชอบ แล้วบอกต่อ มันโอเค มันดี มันพอไปได้ อาจจะมีไม่ดีบ้างก็แล้วแต่ความเห็น แต่ในภาพรวมมันคุ้มค่าแก่การไปดูสักครั้งหนึ่ง เชื่อว่ากระแสบอกต่อจะเป็นกระแสสำคัญที่ไม่ใช่การจ้าง เป็นกระแสที่คนบอกกันเองว่าต้องไปดู ไม่อย่างนั้นวงการนี้มันอาจจะลำบากได้ ไม่เกี่ยวกับวงการก็ได้ แค่ไปดูว่ามันดีโดยที่เราไม่ได้ไปจ่ายตังให้เขาไปเขียนกันน่าจะช่วยเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย
Room: ณ โรงภาพยนตร์ย่านปิ่นเกล้า รอบ 4 ทุ่ม ในวันแรกของการออกฉาย 9 ศาสตรา มีคนดูทั้งโรงแค่คนเดียวคือเรา
ภูศณัฎฐ์: จริงเหรอ! ผมว่ายังมีคนที่ไม่เชื่อเยอะ สิ่งที่ทุกคนคิดคือเห็นในสื่อทั้งหมดนั้นเป็นการตลาดที่เราจ่ายเงินไป จริง ๆ ไม่ใช่ เราจ่ายเงินไปไม่ได้เยอะแยะอะไร เพราะเราไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนมาก เราอาศัยเชิญมาดูหน่อยได้ไหม ถ้าดีก็บอกต่อ ช่วยเราหน่อย เรามาแนวนี้ สมมุตินะ ถ้าเรื่องนี้ Exformat Films ลงทุนขนาดนี้ แล้วทีมงานไม่ว่าจะเป็น Igloo หรือทีมงานแต่ละคนเต็มที่ที่สุดแล้ว เอาฮอลลีวู้ดมาดูแล้ว แล้วคนไทยไม่ได้ซัพพอร์ต ก็คงจะไม่มีหนังในสเกลนี้ออกมาอีกแล้ว เพราะว่ามันยาก
Room: มุ่งตลาดต่างประเทศ
ภูศณัฎฐ์: หนังแอนิเมชั่นไทยมักตกม้าตายทั้งเรื่องบท ทั้งดีไซน์ เรื่องเทคนิค ขนาด Pixar หรือ Disney มาฉายในไทยยังไม่สามารถทำเงินได้มาก เพราะฉะนั้นมันลำบากที่เราจะลงทุนขนาดนี้แล้วจะรอด ดังนั้นเราก็ต้องตั้งเป้าหมายไปที่ตลาดต่างประเทศด้วยอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เราเป็นมือใหม่ มีคนช่วยเราเยอะ ต่างประเทศช่วยเยอะมาก แล้วผมมองว่ามันน่าจะมีดีลดีๆ เกิดขึ้น อย่างจีนนี่ดีลน่าจะใกล้จบหรืออาจจะจบแล้วก็ไม่รู้นะ แต่จะเสียใจมากที่ในไทยคนกลัวจนไม่ดู เพราะคิดว่ามันคงไม่ดีหรอก ดูแล้วก็แค่นี้แหละ
Room: แต่เพจวิจารณ์หนังชื่อดังยังเทคะแนนให้ในระดับ 8+
ภูศณัฎฐ์: คนเขานึกว่าเราจ่ายตังโปรโมทอยู่ดี
Did you know?
ก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์แอนิเมชั่น “9 ศาสตรา” ได้เสียงตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์หนังและเพจดังบนโลกโซเชี่ยลตั้งแต่ก่อนเข้าฉายจริง เช่น เพจหนังโปรดของข้าพเจ้า และอวยไส้แตกแหกไส้ฉีก สองเพจวิจารณ์หนังที่มีผู้ติดตามแตะหลักล้านต่างก็ให้คะแนนรวมของหนังเรื่องนี้ไว้ที่ 8 เต็ม 10 เช่นเดียวกับเพจ Drama-addict ที่ให้คะแนนเรื่องนี้ในระดับ 8
อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าจะได้ลองไปพิสูจน์ฝีมือคนไทยใน ภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ 9 ศาสตรา ” ทุกโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ส่วนใครที่ดูแล้ว ชอบ อยากบอกต่อ เพื่อช่วยกันผลักดันภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ไปให้ไกลที่สุด ก็สุดแล้วแต่ความเต็มใจ เราก็ได้แต่หวังว่า 9 ศาสตรา รอบฉายต่างๆ เก้าอี้ที่เคยว่างเว้นจะถูกจับจองให้เต็ม ไม่เหมือนเช่นรอบ 4 ทุ่มเมื่อวันวานที่เราต้องเจอ แค่นั้นพอ
เรื่อง : Nawapat D.
ภาพ : www.9satramovie.com
Did you know?
“ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำเรื่องนี้ทิ้งทวน ทำมันดีที่สุดแล้ว แล้วก็ลาออกจากบริษัทของตัวเองเรียบร้อย ผมเป็นตัวอย่างคนหนึ่งแล้วกันของคนที่อยู่วงการแอนิเมชั่นมา 10 ปีแล้วต้องเลิก เพราะเรารู้สึกไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย”
9 ศาสตรา ผลงานสุดท้ายที่ เหว่ง – ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ ขอทิ้งทวนแล้วหันหลังให้กับวงการแอนิเมชั่น เพื่อให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มตัว พร้อมมาปั้นเพจ Little Monster ขึ้นมาจนมีแฟนเพจติดตามมากกว่า 1.8 ล้านคน
ส่องเบื้องหลังการออกแบบตัวอักษร เท่ๆ ในแอนิเมชั่นฝีมือคนไทย “9 ศาสตรา”