ประโยคที่ว่า นี่เป็นสวนลอยน้ำแห่งแรกในเมืองไทย คงไม่ใช่แม่เหล็กที่ดึงความสนใจมากพอ เท่ากับคำบอกเล่าจากปากภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบสวนลอยน้ำแห่งนี้ว่า มันสามารถสร้างได้จริง
คำทักทายแรกจากห่วงยางสีนีออนเจิดจ้าวางเรียงรายตั้งแต่สนามหญ้าก่อนเข้าสู่ท่าเรือตึก CAT เมื่ออยู่ในน้ำ ห่วงยางอาจทำให้รู้สึกปลอดภัย แต่สีสันและการจัดวางแบบ Installation Art บนสนามหญ้า ก็เปลี่ยนความรู้สึกมั่นใจให้กลายเป็นความสนุกครื้นเครงและผ่อนคลายในทันที ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าห่วงยางหลากสีนี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมสวนพื้นดินสู่สวนลอยน้ำ บนเรือขนที่ทรายที่จอดเทียบท่าอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา
สวนลอยน้ำ Floating Park นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2018 เทศกาลแสดงงานศิลปะและการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย โดยกระจายจัดแสดงตามย่านสำคัญในกรุงเทพฯ อย่างเจริญกรุง คลองสาน พระราม1 และสุขุมวิท ซึ่งในย่านคลองสาน ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC แห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับเลือกสำหรับโชว์ศักยภาพด้านงานออกแบบของคนไทยด้วย
ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์สวนลอยน้ำคือ คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกมากความสามารถจาก บริษัท ฉมา จำกัด เขาเคยได้รับรางวัลระดับโลกอย่าง Highly Commended ในหมวด Future Master Planning Project จากเวที World Architecture Festival 2016 ณ ประเทศเยอรมนี มีผลงานการออกแบบแลนด์สเคป มานักต่อนัก ทั้งพื้นที่ส่วนกลางของโครงการหมู่บ้านจัดสรรชื่อดัง ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงสนามเด็กเล่น แต่ครั้งนี้การตีความของเขาเต็มไปด้วยสีสันผ่านมุมมองทางสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แตกต่างจากที่ผ่านๆมา
“แนวคิดเรื่องสวนลอยน้ำมาจากวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เราต่างรู้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติของเมืองไทย ซึ่งก็เป็นพื้นที่สีเขียวอีกแห่ง แต่หลายครั้งเราต่างละเลยที่จะดูแล และค่อยๆทิ้งห่างวิถีชีวิตเหล่านี้ ในอีกมิติเราต่างเรียกร้องพื้นที่สีเขียวบนพื้นดินอีกมากมาย อยากได้แหล่งเรียนรู้สาธารณะ จะดีกว่าไหมหากเราสามารถเชื่อมหลายสิ่งที่ว่านี้ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มันจึงเป็นการตั้งคำถามให้คนได้จุดประกายมากกว่า เป็นไปได้ไหมที่จะรวมความต้องการเหล่านี้เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งเราก็ต่อยอดไปอีกว่า ถ้าพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนลอยน้ำล่ะจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คำถามเหล่านี้จึงเกิดแบบจำลองสวนลอยน้ำแห่งนี้ขึ้น”
คุณยศพลเล่าต่อว่า “เราหยิบภาพคุ้นตาที่เห็นทุกครั้งในแม่น้ำเจ้าพระยานั่นคือเรือขนทราย แม้จะมีเรือโดยสารลอยล่องข้ามสองฟากฝั่ง หรือเรือหางยาวที่แล่นสวนทางไปมาในทุกวัน แต่เรือขนทรายเป็นสิ่งคุ้นเคยที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้สัมผัสมันจริงๆ ตอนแรกเราทดลองออกแบบโดยใช้แท่นโป๊ะดูก่อน แต่ด้วยรูปแบบที่แบนเรียบทำให้เกิดความโยกเยกเวียนหัวมากเกินไป เรือขนทรายจึงเป็นสิ่งที่เราเลือก ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของงานวิศวกรรม ทั้งเรื่องน้ำหนักของดิน ต้นไม้ วัสดุอุปกรณ์ และงานโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน แต่ละรอบที่เปิดให้คนเข้าชมอยู่ที่ประมาณ 30-40 คนเท่านั้น”
จากแนวคิดที่กระตุ้นในคนในสังคมหันมามองถึงความเป็นไปได้ ประกอบร่างกลายเป็นเรือที่บรรทุกสวนไว้ลำนี้ ซึ่งเป็นแบบจำลองที่แสดงให้เห็นภาพของสวนลอยอย่างเด่นชัด โดยออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แบ่งกลุ่มเป็น 3 ส่วน และมีการใช้งาน 4 ส่วน ได้แก่
Urban Farming สวนคนเมือง เลือกใช้พรรณไม้อย่างสมุนไพรพื้นบ้าน ที่นิยมใช้จัดสวนอย่างหญ้าหนวดแมว ฟ้าทะลายโจร เตยหอม ตะไคร้หอม ซึ่งทำให้เราเห็นภาพสวนผักของคนเมืองได้ชัดเจนขึ้น
BBL-Brain Based Learning สนามเด็กเล่นที่จะเป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็ก บริเวณนี้เป็นพื้นทรายที่มีความเชื่อมโยงกับประเภทของเรือ เป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้สวนกับเรือขนทรายเป็นเรื่องเดียวกัน
Installation Art ห่วงยางยังคงเป็นไอคอนของงานศิลปะ จากสนามหญ้าบนดินสู่พื้นทรายบนเรือ ต่อยอดไปถึงโครงเหล็กที่ประดับด้วยห่วงยาง ทำหน้าที่บังแดดให้ร่มเงา นักออกแบบตั้งใจให้มองเป็นเหมือนก้อนเมฆบนท้องฟ้าที่มีจังหวะแสงลอดผ่าน และใช้ร่มเงาจากตรงนี้เป็นมุมนั่งเล่นได้
ลานกิจกรรม พื้นที่ปล่อยของในมุมท้ายเรือซึ่งตอนนี้จัดเป็นงานแสดงผลงานภาพถ่าย KNOW-R THE FLOATING EXHIBITION สะท้อนภาพชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาผ่านเลนส์ของช่างภาพมืออาชีพทั้งไทยและต่างประเทศที่มองในมุมต่าง เกิดเป็นข้อขบคิดที่ชวนประหลาดใจได้มากทีเดียว
นอกจากนี้ในสวนยังเลือกใช้พรรณไม้อีกหลายชนิดที่สามารถใช้งานได้จริงตามสภาพแวดล้อมบนเรือ อย่างเกล็ดกะโห้ ตีนเป็ดน้ำ แคนา จำปี กันเกรา ซึ่งเป็นพรรณไม้ริมน้ำและสามารถทนลมแรงได้ดี รวมถึงให้ร่มเงาได้ด้วย ในส่วนของการดูแลรดน้ำ ภูมิสถาปนิกได้ทิ้งทางเลือกให้สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำได้ โดยไม่ลืมวางระบบระบายน้ำภายในเรือไว้ด้วยเช่นกัน
คุณยศพลยังทิ้งท้ายด้วยคำถามปลายเปิดให้ได้คิดต่อยอดไปอีกขั้นว่า หากเรือขนทรายไม่ใช่สวนลอยน้ำ จะเป็นอย่างอื่นได้ไหม อาจเป็นห้องสมุดสาธารณะ สนามกีฬา หรือป่าลอยน้ำ
แต่ข้อสมมุติเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้ เห็นทีว่าโจทย์จะไม่ได้อยู่เพียงแค่ในจินตนาการเพียงอย่างเดียว แต่คงหมายถึงการก้าวออกมาลงมือทำบางอย่าง ให้แรงกระเพื่อมของน้ำกลายเป็นคลื่นที่มีพลังด้วย ซึ่ง “สวนลอยน้ำ Floating Park” ก็เป็นแรงกระเพื่อมของน้ำที่มีอานุภาพรุนแรงไม่น้อยทีเดียว
เรื่อง : “JOMM YB.”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข