DOUBLE DUTY
ออกแบบ: Atelier 2+
Original Object: เหล็กดัดกันขโมย
Atelier 2+ นำเหล็กดัดซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งทางสถาปัตยกรรมที่มีฟังก์ชันป้องกันขโมยที่เราเห็นกันในชีวิตประจำ มา redesign ให้เกิดฟังก์ชันเพิ่มซึ่งช่วยป้องกันความปลอดภัยและชีวิตทรัพย์สินในบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในพื้นที่ซึ่งนับวันยิ่งมีขนาดจำกัดลง
BETWEEN
ออกแบบ: Ease Studio
Original Object: เหล็กดัดกันขโมย
Ease Studio อีกหนึ่งทีมออกแบบที่นำองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่าง เหล็กดัดกันขโมย ที่บางครั้งถูกใช้เป็นราวแขวนผ้า มาแสดงความเป็น multipurpose ทั้งในเชิง Graphic, Product และ Space นำเสนอลวดลายของ เหล็กดัดกันขโมย ในรูปแบบงาน Installation ขนาดเล็กด้วยวัสดุผ้า สำหรับสร้างมิติให้พื้นที่และมีฟังก์ชันการบดบังความเป็นส่วนตัวแบบชั่วขณะอย่างเป็นกันเอง
UNCLE RANG
ออกแบบ: Alltag Design
Original Object: สายไฟกรุงเทพฯ
Uncle Rang เป็นโคมไฟสะท้อนอีกหนึ่งปัญหาแก้ไม่ตกของเมือง นั่นคือสายไฟที่พันกันรุงรังที่เราเห็นกันได้ทั่วไปตามท้องถนน Alltag Design ถ่ายทอดผลงาน รุงรัง นี้ในอีกรูปแบบ ซึ่งช่วยสร้างมุมมองของโคมไฟให้น่าสนใจยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นการเสียดสีปัญหาเรื้อรังนี้ไปในตัว
NEAUN
ออกแบบ: ดุลยพล ศรีจันทร์
Original Object: ฝาท่อระบายน้ำ
จากฝาท่อระบายน้ำหน้าตาทั่วไปซึ่งเป็นตะแกรงเหล็กดัด ดุลยพล ศรีจันทร์ แห่ง PDM Brand นำมา redesign เล่าเรื่องในบริบทใหม่แบบ Abstract โดยใช้ภูเขาแทนค่าอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางบนถนน สะท้อนการไหลของน้ำจากภูเขาลงมายังแม่น้ำ ซึ่งก็คือท่อ NEAUN ฝาท่อรูปแบบใหม่ผลิตจากวัสดุเหล็กชุบกราวาไนซ์ กันสนิม ส่วนพระอาทิตย์สีส้มที่โผล่เหนือภูเขานั้น เป็นสัญญานไฟสะท้อนเตือนรถจักรยานในยามค่ำคืน กลายเป็น Functional Street Art ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง เพราะใช้วัสดุที่ผลิตง่ายและใกล้เคียงกับของเดิม
SNAP ON
ออกแบบ: Design Leap
Original Object: เก้าอี้พลาสติก
Design Leap ถ่ายทอดเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ด้วยการนำเก้าอี้พลาสติกมาดัดแปลงการใช้งาน เปลี่ยนวัสดุโครงสร้างให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เนื่องจากเป็นเก้าอี้ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม มีสีสันจัดจ้าน และหาซื้อได้ง่าย
KWAD & KOAY
ออกแบบ: Jumphol Socharoentham และ Pakawat Vijaykadga
Original Object: ไม้กวาดและที่โกยขยะ กทม.
เราสามารถพบเห็นเจ้าหน้าที่เทศกิจทำความสะอาดท้องถนนอยู่เป็นประจำ Kwad โคมไฟแขวนเพดานที่ถอดรูปทรงจากไม้กวาด และ Koay เก้าอี้ที่ถอดรูปทรงของที่โกยขยะมาเป็นพนักพิง สร้างความน่าสนใจให้เราหยุดมองประหนึ่งนั่งรถผ่านเจ้าหน้าที่เทศกิจกำลังทำความสะอาดท้องถนน และอดอมยิ้มให้กับแนวคิดสร้างสรรค์ของ Jumphol Socharoentham และ Pakawat Vijaykadga ไม่ได้จริงๆ
TRA-KRA
ออกแบบ: Thinkk Studio
Original Object: ตระกร้าพลาสติก
Thinkk Studio ค้นพบความฉลาดของตะกร้าพลาสติกหลากสีที่เราพบเห็นกันตามท้องตลาด ทั้งการแสดงความเป็นเจ้าของที่สลักชื่อลงบนตะกร้า ตลอดจนก้านเหล็กที่ใช้ดึงและเกี่ยวเพื่อให้มีพื้นที่เก็บของ หรือซ้อนเก็บเป็นชั้นๆ ได้ไม่จำกัด โดยนำมาพัฒนาต่อด้วยหลักคิดและวิธีการใช้งานที่คล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุใหม่เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับออฟฟิศ ที่ผ่านการผลิตอย่างปราณีตและเฉียบคมขึ้น
BKK’S TIME / BKK’S ISLAND
ออกแบบ: Moreover
Original Object: กรุงเทพฯ ชีวิตดี๊ดีที่ลงตัว…
อีกหนึ่งผลงานที่สะท้อนปัญหาสังคมของกรุงเทพฯ ที่ค้างเติ่งและแก้ไม่หายตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ปัญหาการจราจร Moreover นำปัญหาเหล่านั้นมาสร้างสรร์ในเชิงบวก เพื่อคอยเตือนสติเวลาต้องใช้ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ด้วยการนำเสนอชิ้นไม้ (Magnet) ติดไว้บนนาฬิกาเพื่อบ่งบอกช่วงเวลารถติดในแต่ละย่านของกรุงเทพฯ โดยด้านในวงกลมคือช่วงเช้า (AM) ด้านนอกคือช่วงบ่าย (PM)
LUCKY BAG
ออกแบบ: FOUNDWATER
Original Object: กระเป๋าหวย
กระเป๋าหวย โดย FOUNDWATER ที่ปรับเปลี่ยนวัสดุ รูปลักษณ์ และขนาด ที่ลดทอนลงจาก กระเป๋าหวยใบใหญ่ ให้สามารถใช้ได้กับชีวิตประจำวัน นำเสนอมุมมองความเป็นเมืองของคนในกรุงเทพฯ สะท้อนผ่านตัวฝาของกระเป๋าให้เห็นความเป็นกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงาน 29 ชิ้นที่จัดแสดงภายในโกดังบ้านเลขที่ 1 เท่านั้น
“นักออกแบบในกลุ่ม DesignPLANT ทุกคนมีการใช้เรื่องนี้ (การค้นหาสิ่งใกล้ตัว) ในการทำงานเป็นปกติ มันคือวิธีการหนึ่งที่เราต้องหาแรงบันดาลใจรอบตัว วิถีชีวิตของผู้คน หรือเมือง เป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติหรือแค่เสียงเพลง ซึ่งบางทีเราอาจลืมมันหรือไม่ได้แสดงให้มันออกมาชัดเจน” ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก จาก Ease Studio หนึ่งในนักออกแบบกลุ่ม DesignPLANT บอกกับเราถึงแนวคิดหลักของการนำเสนอผลงานทั้งหมดของกลุ่มนักออกแบบ DesignPLANT ในขณะพาเดินชมนิทรรศการในโกดังบ้านเลขที่ 1
“บางชิ้นจบงานนี้แล้วสามารถขายเป็น Product ได้เลย ส่วนบางชิ้นอาจต้องมีการไปพัฒนาต่อ ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสดีที่มีงาน Bangkok Design Week ให้เราเลือกที่จะจับเรื่องเหล่านี้มาเล่าให้มันเกิดความหลากหลายในเรื่องมุมมอง วิธีการ และแอพลิเคชั่นที่มันจะเปลี่ยนไป บางสิ่งเราเห็นมันทุกวัน แต่เราลืมไปว่ามันจะต่อยอดไปได้อีกในรูปแบบไหนบ้าง นิทรรศการนี้น่าจะทำให้กลุ่มคนทั่วไปเข้าใจถึงอาชีพนักออกแบบมากขึ้นว่า พวกเราสามารถสร้างบางสิ่งที่สร้างสรรค์ให้กับเมือง ประเทศ หรือชีวิตประวันของคนได้มากขึ้น”
นิทรรศการ Bangkok Object
วันจัดแสดง : 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561
เวลา : 11.00 – 21.00 น.
สถานที่ : Warehouse at House No.1
เรื่อง : Nawapat D.
ภาพ : ชัชวัสส์ เกียรติคุณโสภณ