Prince Theatre Heritage Stay ฟื้นชีวิตให้อดีตโรงหนังยุคบุกเบิกย่านบางรักเป็นที่พักกลางชุมชนจีนกวางตุ้ง
ท่ามกลางย่านเจริญกรุงชุมชนดั้งเดิมที่ไม่เคยหลับใหล ‘ปรินซ์ รามา’ คือหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์และอยู่คู่ย่านนี้มานาน แต่เมื่อวันเวลาผันผ่านเป็นธรรมดาที่โรงภาพยนตร์ระดับตำนานแห่งนี้ ไม่อาจฝืนกระแสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปรินซ์ รามา ซึ่งเป็นสมบัติของราชพัสดุต้องถึงคราวปิดตัวลงอย่างเงียบ ๆ เหลือเพียงภาพจำของวันวานที่ถูกฉายออกมา ยามเมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งหวนรำลึกถึงอดีตขึ้นมาเท่านั้น
Prince Theatre Heritage Stay คือหมวกใบใหม่ที่ถูกสวมให้ปรินซ์ รามาอย่างตั้งใจ เริ่มต้นจากโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุเชิงอนุรักษ์ของชุมชนของกรมธนารักษ์ ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ บริษัท เฮอริเทจ สเตย์ จำกัด (Heritage Stay Co., Ltd. ) นำทีมโดย คุณกิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจมนทาระ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป และ คุณจิตติพันธ์ ศรีกสิกร Managing Director เห็นโอกาสที่จะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและรักษาคุณค่าของสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ โดยพิจารณาถึงความเป็นได้ในอนาคตรวมไปถึงศักยภาพของพื้นที่และบริบทรอบ ๆ ก่อนตัดสินใจพัฒนาโรงภาพยนตร์เก่าให้กลายเป็นโรงแรมที่มีนามสกุลห้อยท้ายฟังดูคลาสสิกและสะดุดหูอย่าง Heritage Stay เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญในด้านมรดกของพื้นที่ว่า ‘ปรินซ์ รามา’ ยังคงอยู่ แต่จะก้าวไปในเส้นทางและบทบาทหน้าที่ใหม่
ด้วยความตั้งใจที่จะเก็บกลิ่นอายของโรงภาพยนตร์เก่าไว้ให้มากที่สุด ผู้ออกแบบจึงเริ่มจากตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเป็นอันดับแรก พบว่าหลายส่วนไม่สามารถรองรับฟังก์ชันของโรงแรมได้ จึงจำเป็นต้องทำโครงสร้างอาคารใหม่เกือบทั้งหมด โดยเก็บเพียงผนังอาคาร ไม้ และเสาบางส่วนไว้ แล้วเสริมความแข็งแรงด้วยการนำโครงสร้างเหล็กมาประกบ รวมไปถึงเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาใหม่ทั้งหมดให้เป็นเหล็ก และเปลี่ยนหลังคาสังกะสีที่ผุพังมาเป็นหลังคาเมทัลชีท ซึ่งสามารถตอบโจทย์โครงสร้างช่วงยาว (Long Span Structure) ของโรงภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีการใช้สเปซที่มีเอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์ อย่างโถงอาคารที่สูงจากพื้นจรดเพดานถึง14 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 5 ชั้น ด้วยการออกแบบพื้นที่ใช้งานต่าง ๆ ลงไป และปรับเปลี่ยนบริเวณชั้นลอยจากที่เคยเป็นพื้นที่ฉายภาพยนตร์ให้เป็นห้องพัก โดยเว้นพื้นที่จอฉายภาพยนตร์ขนาดยักษ์ที่ยังใช้งานได้จริงไว้ เพื่อทำเป็นดับเบิ้ลสเปซขนาดใหญ่ให้ผู้ที่มาพักได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของพื้นที่แบบโถงขนาดกว้าง พร้อมกับเห็นกิจกรรมบริเวณล็อบบี้ที่ออกแบบให้มีลักษณะเหมือน Box Office ได้อย่างชัดเจน
เพื่อให้ภาพรวมของโครงการเป็นไปทางทิศทางเดียวกัน การออกแบบภายจึงออกแบบภายใต้แนวคิด ‘เฮอริเทจ สเตย์’ ด้วยการคงวัสดุที่ยังใช้งานได้อย่างไม้ที่ผ่านร่องรอยการใช้งานมานาน ผสมผสานกับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่สั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในส่วนของห้อง Master Suites ทั้ง 4 ห้อง ที่ตกแต่งตามยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงของปรินซ์ รามา ตั้งแต่ยุคที่เป็นโรงบ่อน โรงงิ้ว โรงภาพยนตร์ และยุคสุดท้ายกับการเป็นโรงภาพยนตร์สำหรับฉายหนังโป๊ นอกจากห้องพักแบบ Private Suites แล้ว ยังมีห้องพักหลากหลายประเภทให้เลือก ทั้งห้องพักรวมแบบ Duplex ห้องพักรวมแบบเตียงเดี่ยว ห้องพักส่วนตัวแบบ Duplex และห้องพักรวมแบบหญิงล้วนที่อยู่บริเวณชั้น 1 เพื่อรองรับความต้องการของนักเดินทางจากทุกมุมโลกที่ตั้งใจมาหาประสบการณ์การพักผ่อนที่แปลกใหม่
นอกเหนือจากความต้องการที่จะชุบชีวิตปรินซ์ รามาให้กลายเป็นโรงแรมแล้ว ทางเจ้าของโครงการยังต้องการให้การรีโนเวตครั้งนี้ช่วยรื้อฟื้นวิถีชีวิตที่เคยเงียบเหงาในพื้นที่บริเวณนั้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รวมไปถึงการพัฒนาตัวตนของโรงแรมให้กลายเป็น Node ของชุมชน เพื่อผลักดันศักยภาพของบริบทและวิถีชีวิตผู้คนรอบ ๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยยังคงบรรยากาศในแบบเจริญกรุง และปรินซ์ รามา ไว้ในคราวเดียวกัน เพราะ Prince Theatre Heritage Stay ในวันนี้ไม่ใช่ตัวแทนของปรินซ์ รามาในอดีต แต่อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจะก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ด้วยศักยภาพของตัวเอง
Did you know?
หลายคนอาจทราบกันดีว่าปรินซ์ รามาเป็นโรงภาพยนตร์มาก่อน ก่อนที่จะได้รับกรีโนเวตจนกลายเป็นโรงแรมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นจริง ๆ ก่อนจะมาเป็นโรงภาพยนตร์ ปรินซ์ รามา สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2455 ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นโรงบ่อนหลวง 1 ใน 5 แห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ แต่ในขณะที่เป็นบ่อนนั้น ภายในยังจัดแสดงงิ้วเพื่อดึงดูดลูกค้า ต่อมาบ่อนหลวงแห่งนี้ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นโรงฉายภาพยนตร์เงียบภาพขาว-ดำ ผ่านยุคเฟื่องฟูและเปลี่ยนแปลงจนมาถึงปัจจุบัน รวมอายุกว่า 100 ปี
ปัจจุบัน Prince Theatre Heritage Stay ยังคงเอกลักษณ์ของลักษณะของอาคารภายนอกไว้ในมากที่สุด เพิ่มเติมด้วยการทำกันสาดใหม่จากโครงไม้ และมุงหลังคาเมทัลชีท นอกจากนั้นเป็นการเจาะช่องเปิดอาคารและกรุกระจกใหม่ เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้าไปถึงห้องพักมากที่สุด สลัดภาพความมืดทึบซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรงฉายภาพยนตร์ทิ้งไป ให้ตรงกับฟังก์ชันการใช้งานใหม่ในฐานะโรงแรม
เรื่อง Ektida N.
ภาพ ศุภกร, ณภัทร ภัทรยานนท์, เอกสารประชาสัมพันธ์
DESIGN : Mr.Trakul Areepaphat , ARCH & DECO Co.LTD. บริษัท อาช แอนด์ เดคโค จำกัด
CONSTRACTION : MR. KASEM THIENMONGKOLKUL THAI DENKI ENGINEERING AND SERVICE CO., LTD. บริษัท ไทย เดนกิ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด