-LA VELA KHAO LAK- TRIANGULAR LANDSCAPE INTEGRATED
“บางคนบอกว่า LA VELA เน้นเส้นสายหวือหวา จริง ๆ ทุกอย่างไม่มีความหวือหวาเลย เราแค่นำเส้นสายของงานสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ออกมาโชว์ในงานภูมิสถาปนิก ถ้าหวือหวานั่นคืองานออกแบบลวก ๆ ดูง่าย ๆ แต่ไม่ลงตัว”
หลายศตวรรษที่แล้วพื้นที่ “ตะโกลา” หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เคยเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าขายสำคัญของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นดีบุก ผ้าไหมเนื้อดี เครื่องเทศที่มีค่าดั่งทองคำ เครื่องกระเบื้องจากจีน และเครื่องแก้วสุดประณีตจากอาหรับ ที่นี่จึงคึกคักและเต็มไปด้วยความเจริญ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาค้าขายและลงหลักปักฐานพักอาศัยทั้งชาวจีน อินเดีย และอาหรับ ซึ่งพวกเขาต่างเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล โดยมีกลุ่มดวงดาว “LA VELA” หรือกลุ่มดาวเรือใบช่วยนำทางคณะผู้เดินเรือมายังแผ่นดินผืนนี้…
แม้วันนี้ตะกั่วป่าจะไม่ใช่เส้นทางค้าขายหลักอย่างในอดีตและจุดหมายปลายทางของเหล่านักเดินทางในการมาเยือนพังงาจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่สีสันในแบบท้องถิ่นและธรรมชาติบริสุทธิ์ก็ยังคงมีกลิ่นอายเชิญชวนให้เหล่าท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้ไม่ขาดสายนี่จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวโรงแรมน้องใหม่ในเครือ La Flora Group ที่มีโรงแรมสุดเท่อย่าง Casa de la flora เปิดนำร่องและประสบความสำเร็จไปก่อนแล้ว การมาเยือน “La Vela Khao Lak” โรงแรมที่ได้รับแรงบันดาลใจการจากเดินทางของเรือในมหาสมุทรริมชายหาดเขาหลักของเราในครั้งนี้ จึงขออาสาพาทุกคนย้อนเวลาผ่านเรื่องราวการเดินทางในอดีต ผสมผสานกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ในบริบทใหม่ที่ดูโมเดิร์นจากฝีมือการออกแบบสุดเฟี้ยวจาก 3 สตูดิโอ
เริ่มจากในส่วนของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้บริษัท TIME Architects มาช่วยออกแบบให้ รวมถึงในส่วนของอาคารบีชคลับที่ได้สถาปนิกไฟแรงจาก IF (Integrated Field) มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานจนกลายเป็นอาคารที่มีดีไซน์เหมาะกับการพักผ่อนในช่วงวีคเอนด์ และอีกส่วนที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้คือการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมรอบ ๆ พื้นที่ของโรงแรม ซึ่งได้ภูมิสถาปนิกจาก สตูดิโอออกแบบ T.R.O.P. มาช่วยร้อยพื้นที่บีชคลับหน้าหาดกับอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน โดยใช้รูปทรง “สามเหลี่ยม” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “ใบเรือ” มาถ่ายทอดเรื่องราวและสร้างเอกภาพของงานออกแบบ
“T.R.O.P. ข้ามามีบทบาทในการเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ระหว่างอาคารบีชคลับที่ออกแบบได้อย่างเปรี้ยวมาก กับตัวโรงแรมที่ต้องเน้นฟังก์ชันให้เชื่อมถึงกัน โดยมีแลนด์สเคปเป็นตัวกลาง” คุณป๊อก – อรรถพร คบคงสันติ ภูมิสถาปนิกหนุ่มไฟแรงเจ้าของสตูดิโอออกแบบ T.R.O.P.ได้เล่าถึงที่มาของการทำงานครั้งนี้ให้เราฟัง
ภาพที่ได้คือสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่เปรียบเสมือน “มหาสมุทร” เชื่อมต่ออาคารที่พักทั้งสองฝั่งซ้าย–ขวาเข้าด้วยกันจากนั้นจึงแบ่งโซนของสระแต่ละฝั่งด้วยคอร์ตรูปสามเหลี่ยมรับกับรูปทรงอาคารของบีชคลับปลายสุดของคอร์ตสามเหลี่ยมถูกแทนที่ด้วยฟังก์ชันของบาร์โดยมีทางเชื่อมนำพาแขกผู้เข้าพักจากล็อบบี้ไปยังพื้นที่ชายหาดเบื้องหน้าช่วยสร้างประสบการณ์การเข้าถึงชายหาดในรูปแบบที่ต่างออกไปจากโรงแรมอื่นๆ
และเพื่อไม่ให้อาคารบีชคลับที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าหาดบดบังมุมมองจากห้องพักจึงออกแบบให้อาคารยกตัวสูงขึ้นจากพื้นดินเล็กน้อยเสมือนกรีดสเปซแล้วพับขึ้นมาเพื่อซ่อนสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ไว้ใต้เนินหญ้าที่ลาดเอียงขึ้นส่งผลให้เส้นทางที่เชื่อมไปยังชายหาดมีลักษณะถูกกดให้ลาดลงนำไปสู่อุโมงค์สำหรับเดินลอดใต้สระว่ายน้ำเปลี่ยนผ่านความรู้สึกระหว่างเดินจากผืนที่มหาสมุทรจำลองหรือสระว่ายน้ำไปยังพื้นที่ของท้องทะเลในธรรมชาติตรงสุดปลายทางเดินเป็นการยกหน้าที่ให้สเปซมีส่วนในการสร้างประสบการณ์การรับรู้ที่แปลกใหม่แบบไม่เคยสัมผัสมาก่อน
โดยที่ผืนน้ำเหนืออุโมงค์ได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันได้อย่างแยบยลเพิ่มความเอกซ์คลูซีฟด้วยการเข้าถึงสระว่ายน้ำได้ง่ายๆจากริมระเบียงหน้าห้องพักที่ชั้น 1 ได้ทันทีแบบไม่เสียความเป็นส่วนตัวเพราะผู้ออกแบบได้ทำแนวต้นไม้กั้นระหว่างห้องพักในองศาที่ช่วยกันสายตาจากภายนอกเป็นอย่างดีอีกทั้งแนวต้นไม้ยังยื่นลงไปในน้ำด้วยระยะที่เหมาะสมจึงไม่รบกวนมุมมองของวิวทะเลขณะว่ายน้ำภายในสระยังออกแบบให้มีระดับความลึกที่แตกต่างกันตามโทนสีเข้มและอ่อนของน้ำกรุกระเบื้องลายหินสีขาวตลอดทั้งสระเพื่อช่วยให้มองเห็นความแตกต่างของระดับน้ำได้ชัดเจนและยังขับให้ผืนน้ำสีฟ้าดูสดใสไม่ต่างจากสีของน้ำทะเล