สถาปัตยกรรม 3 รูปแบบ ซึ่งเป็นทั้งโรงงานน้ำแข็ง สำนักงาน และบ้านพักอาศัย ที่นำสายลม แสงแดด และธรรมชาติกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเข้าใจ

PREMIUM ICE FACTORY สถาปัตยกรรมที่นำพลังงานธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

ส่วนพักอาศัยเอื้อกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน

จากรูปแบบที่พักอาศัยเดิมของเจ้าของโครงการมีลักษณะเป็นตึกแถว มีพื้นที่ทำงานชั้นล่าง และส่วนพักอาศัยชั้นบน ผนวกกับวิถีชีวิตที่ไม่สามารถแยกออกจากการทำงานได้ 100% สถาปนิกอธิบายเพิ่มว่า “เจ้าของอาคารเป็นคนที่ทำงานตลอดเวลา เพราะเขาเป็น GEN 2 ที่พ่อแม่กำลังจะส่งผ่าน เราจึงต้องคิดว่าจะออกแบบพื้นที่อย่างไรให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น เพราะเราไม่คิดว่าเราจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เขาได้ เราจะทำอย่างไรเขาตื่นมาแล้วสามารถใช้ชีวิตด้านบนได้ สามารถชะโงกหน้าลงไปคุยกับลูกน้องได้”

ส่วนพักอาศัยบนชั้น 3 ประกอบด้วย ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องนอนของสมาชิกในครอบครัว 3 ห้อง พ่วงด้วยห้องนอนรับแขกอีก 1 ห้อง ที่เจ้าของอาคารตัดสินใจเพิ่มขึ้นมาจากแบบในตอนแรก

แนวคิดตั้งต้นนี้จึงนำมาซึ่งการออกแบบพื้นที่โดยเปิดโปร่งเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ส่วนกลางกับส่วนสำนักงานชั้น 2 ให้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แล้วสารตั้งต้นของทางเจ้าของโครงการยังคงต้องการให้มีพื้นที่สวนในส่วนพักอาศัย สถาปนิกจึงเลือกตำแหน่งที่จะทำให้พื้นที่สวนซึ่งมีค่อนข้างจำกัดนี้เอื้อประโยชน์สูงสุด สังเกตได้ว่าทุกพื้นที่สามารถมองเห็นสวนได้จากจุดที่ตัวเขานั่งอยู่

ปลูกผักสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ ทั้ง กระเพราะ เตย ชะพลู และผักชีฝรั่ง ปะปนไปกับไม้ประดับอย่างไทรใบสักเพื่อความสวยงาม

และเพื่อคงความตั้งใจแรกของเจ้าของโครงการ ซึ่งต้องการพื้นที่ให้ลมผ่านได้ แสงสว่างส่องถึงต้นไม้ แต่ทว่าพื้นที่สวนนี้ยังต้องสามารถใช้งานได้ด้วยแม้ในช่วงเวลาที่ฝนตกและมีระยะห่างไม่กี่ก้าวจากห้องนอน ในการออกแบบพื้นที่ให้เป็นสวนที่สามารถใช้งานได้จริง โดยการออกแบบให้เป็นเสมือนชานกว้าง ที่มีการปลูกผักสมุนไพรซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ อาทิ กะเพรา เตย ชะพลู และผักชีฝรั่ง เป็นต้น ปะปนไปกับไม้ประดับเพื่อความสวยงาม

อีกทั้งสถาปนิกยังจัดแปลนชั้น 3 ให้เป็นช่องลมผ่านในหลายๆ จุดเพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศลงมาเท่าที่จำเป็น รวมถึงมีการนำน้ำสะอาดที่เหลือจาการผลิตของโรงงานมาพักไว้ในบ่อน้ำล้นของสวน จากนั้นระบบรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติจะทำการสูบน้ำจากบ่อไปใช้รดน้ำต้นไม้ โดยพื้นไม้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในชั้นนี้ ก็เป็นไม้เก่าที่ทางเจ้าของโครงการเก็บไว้ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง กล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้ ถูกออกแบบและคิดเผื่อเพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ของการออกแบบโรงน้ำแข็งครั้งแรกสำหรับ TA-CHA Design ของสองสถาปนิก วรัญญู มกราภิรมย์ และ สณทรรศ ศรีสังข์

ห้องนอนทุกห้องสามารถเลื่อนเปิดพาทิชั่นเพื่อเชื่อมพื้นที่สองฟังก์ชันเป็นห้องเดียวกัน หรือปิดเพื่อแยกส่วนออกจากกันได้ตามความต้องการ
ห้องนอนทุกห้องสามารถเลื่อนเปิดพาทิชั่นเพื่อเชื่อมพื้นที่สองฟังก์ชันเป็นห้องเดียวกัน หรือปิดเพื่อแยกส่วนออกจากกันได้ตามความต้องการ
ห้องนอนรับแขกที่เพิ่มขึ้นมาจากแบบแรก จะเป็นห้องเดียวที่เปิดประตูมาเจอสวนส่วนกลาง

ออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน: TA-CHA Design
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: TA-CHA Design
สถาปนิก: วรัญญู มกราภิรมย์ และ สณทรรศ ศรีสังข์
วิศวกรรมโครงสร้าง: Montien Keawkon
วิศวกรรมงานระบบ: Ground (Studio2127)

เรื่อง : Nawapat D.
ภาพ : BeerSingnoi

URBAN BREEZE บ้านอยู่เย็น