ประทศไทย 4.0 คืออะไร? คำถามนี้คิดว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าคำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก และถ้าจะให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พอจะอธิบายได้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งเป็นโมเดลประเทศไทย 1.0 ที่เน้นพัฒนาด้านเกษตร ตามมาด้วยประเทศไทย 2.0 เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่โมเดลปัจจุบันคือ ประเทศไทย 3.0 ที่เน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก แต่ภายใต้โมเดลประเทศไทย 3.0 ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างจนไม่สามารถนำพาประเทศให้พัฒนาไปได้มากกว่านี้ ภาครัฐจึงต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของการพาประเทศเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ภายใน 3-5 ปีนี้
ส่วนเรื่องที่ว่าต้องทำอย่างไรในการก้าวสู่ ประเทศไทย 4.0 ได้นั้น ภาครัฐได้แถลงว่าต้องขับเคลื่อนใหเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 มิติ คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม, เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และสุดท้ายคือเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่ภาคบริการมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนา ซึ่งสามารถต่อยอดความได้เปรียบ เปรียบเทียบเป็น 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายอันประกอบด้วย
กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture& Bio- Tech), กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness& Bio-Med), กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics), กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) และ กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) โดยทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startups” ต่างๆ ได้อีกมากมาย
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสู่การเป็น ประเทศไทยยุค 4.0 นอกจากภาครัฐที่ออกนโยบายและเดินหน้าขับเคลื่อนแล้ว ภาคเอกชนเองก็ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนดังกล่าวค่อนข้างมาก อย่างเช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการนวัตกรรมเครือข่าย และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อคนไทย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งในพื้นฐานในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ก็มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนตามนโยบาย Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถเข้าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเอไอเอสก็ไม่เคยรอช้าที่จะทำในทันที
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส อย่าง คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ได้พูดถึงรายละเอียดเจตนารมณ์สู่การเป็น Digital Platform for Thais ของเอไอเอสในครั้งนี้ให้ฟัง ในงาน สัมมนา “Digital Intelligent Nation 2018” ว่า ที่ผ่านมาจากความพร้อมในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลของภาครัฐ และเอกชน ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรทั้งรัฐและเอกชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น สามารถเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิต และการดำเนินกิจการเทียบเท่าระดับสากล
โดยจะเห็นได้ว่าในปี 2560 ที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงเติบโตถึง 4% (สูงกว่า GDP) อัตราการเติบโตของการใช้งานเฉลี่ย Mobile Internet ต่อบุคคล เพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยปี 2560 ที่ผ่านมาคนไทยใช้งานดาต้ามากถึง 7.3 GB ต่อคนต่อเดือน และใช้เวลาอยู่บน Social Network เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% คือ วันละประมาณ 4.8 ชั่วโมงมากกว่า 41 ล้านคน /ชม. VDO Streaming บนมือถือ โดย 80% ส่วนใหญ่ เป็น Local Content รวมถึงองค์กรเริ่มหันมาใช้ Cloud เป็นมาตรฐานใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการมากขึ้นด้วย
ทำให้ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่คนไทยจะต้องผนึกกำลังสร้างสรรค์ Digital Platform เพื่อประเทศไทย อันจะเป็นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลภาพรวมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และด้วยความตั้งใจจริงที่จะขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform เพื่อประเทศไทยดังกล่าว เอไอเอสจึงได้เปิดตัว 3 แพลตฟอร์ม คือ AIS IoT Alliance Program (AIAP), VDO Platform “Play 365” และ VR Content Platform เพื่อเป็นแกนกลางสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เป็นการขยายขีดความสามารถเหล่านี้ผ่านดิจิทัล รวมถึงเป็นการสร้างการเติบโตสู่ทุกภาคส่วนของประเทศอย่างแท้จริง โดย3 แพลตฟอร์มดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วย
AIS IoT Alliance Program (AIAP) เกิดจากการมองเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุปกรณ์ IoT โดยเฉพาะอุปกรณ์ Smart Home ที่จะเป็น IoT ที่ผู้บริโภคจะมีโอกาสได้เห็นในช่วงไม่กี่ปีนี้ จากบริษัทอสังหาฯ ที่เริ่มเข้ามาติดต่อกับเอไอเอสเพื่อพัฒนาโซลูชั่น Smart Home ให้เป็นจุดขายในโครงการใหม่ๆ
นอกจากนี้เอไอเอสยังร่วมมือกับสมาชิกอีก 70 ราย จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, Product, Service หรือ Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกัน เพื่อขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชน เสริมการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน
โดยปีนี้เอไอเอสใช้งบลงทุนด้านเครือข่ายกว่า 35,000 – 38,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายมือถือที่รองรับความเร็วถึง 1 GB โดยจะเริ่มต้นทั่วกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด รวมไปถึงยกระดับเครือข่าย Data ทั่วประเทศสู่ Next G Network ซึ่งการขยายเครือข่าย NB-IoT (Narrow Band IoT) และ eMTC (enhanced Machine-Type Communication) เพื่อรองรับ IoT และเอไอเอส ไฟเบอร์ ที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั้งนอกบ้านและในบ้าน
ในส่วนของ VDO Content เอไอเอส วางธุรกิจไว้ 2 รูปแบบได้แก่ เปิดบริการ AIS Play ในส่วนของฟรีวิวให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นลูกค้าเอไอเอสมารับชมได้ ส่วนคอนเทนต์ที่เป็น Pay View เช่น คอนเทนต์ใหม่ล่าสุด ซีเอ็นเอ็น และการ์ตูนเน็ตเวิร์ค และอื่นๆ จะให้เฉพาะลูกค้าเอไอเอสเท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ดี และหันมาใช้บริการจากเอไอเอสในที่สุด และด้วยมาตรฐาน 3GPP ได้ออกแบบให้ eMTC และ NB-IoT สามารถใช้งานร่วมกับ 5G ในอนาคตได้ด้วย จึงมั่นใจได้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาว
ส่วนรูปแบบแพลตฟอร์มที่ 2 คือ The Play 365 : Local VDO Platform เป็นการเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ Content ทุกวงการได้นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น ด้วยการรับสมัคร Content Creator จำนวน 365 Creator ให้เงินสนับสนุนบางส่วนเพื่อมาผลิตคอนเทนต์ในชาแนลของตัวเองลงใน Platform ที่ชื่อ The Play 365 ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับ Youtube แต่เอไอเอสให้ค่าตอบแทนจากรายได้โฆษณาดีกว่า Youtube เป็นการสร้างโอกาสให้ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความตั้งใจของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยทุกคนมากยิ่งขึ้น
รูปแบบแพลตฟอร์มสุดท้ายคือ AIS IMAX VR : VR Content Platform เป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนา VR Content สามารถเรียนรู้จากผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลกอย่าง IMAX พร้อมโครงการ VR Content Creator Program ที่เอไอเอสได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีของการสร้าง Content VR ให้กับอุตสาหกรรม
อนึ่ง เอไอเอสมองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อสารเพียงอย่างเดียว ไม่อาจช่วยยกระดับประเทศให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นภาคเอกชนจึงควรมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform ด้วยตัวเอง ซึ่งรการบริโภคคอนเทนต์ดิจิทัลของคนไทยนั้น ส่วนใหญ่ยังอิงอยู่กับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ จุดนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โอกาสในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะเราไม่สามารถออกกฎควบคุมใด ๆ กับแพลตฟอร์มจากต่างชาติได้ ฉะนั้นการจะอยู่ในธุรกิจนี้อย่างมั่นคง ไม่ใช่แค่เพียงรักษาความเป็นผู้นำในสมรภูมิธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องตระหนักด้วยว่าในฐานะองค์กรเทคโนโลยีต้องมีส่วนสำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย