LOVE DESIGNABLE

DESIGNABLE LOVE

8 ปีดูจะเป็นระยะเวลาที่พอเหมาะพอดีที่ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ได้เรียนรู้ที่จะออกแบบความรักของพวกเขาก่อนเริ่มต้นชีวิตคู่ไปพร้อม ๆ กับแปรรูปความฝันให้กลายเป็น ECO SHOP common ศูนย์การเรียนรู้งานดีไซน์ที่เป็นมิตรกับโลก ในฐานะคู่คิด คงไม่เกินจริงนักหากท็อปจะบอกกับเราว่า ความฝันทั้งหมดไม่มีวันเป็นจริงได้ถ้าไม่มีนุ่นเป็นกำลังสำคัญ

love-designable-01

HARD PART BECAME A GOOD MEMORY

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีท่ีแล้ว อะไรเป็นแรงผลักดันสําคัญท่ีทําให้เกิด ECO SHOP

ท็อป : “อย่างแรกคือผมมีความฝันสมัยเรียนออกแบบว่าอยากเปิดร้านขายสินค้าดีไซน์ ประกอบกับหลายๆครั้งที่ผมเห็นผลงานดีๆจากโครงการประกวด แต่ไม่รู้จะติดตามหาซื้อได้อย่างไร พอเราเริ่มจากจุดนี้ ‘นุ่น’ คือแรงผลักสำคัญ ถ้าผมไม่มีนุ่นเป็นคนซัพพอร์ตที่ดี ผมคงไม่สามารถเปิด ECO SHOP ได้ เพราะมันต้องลงทุนค่อนข้างสูง แถมมีแต่คนเตือนว่าไม่น่าจะขายดี ถึงจะบอกตัวเองว่า เฮ้ย! ต่อให้ไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่เป็นจิ๊กโก๋ในซอยได้ก็พอใจแล้ว แต่เอาเข้าจริงก็เกือบจะถอดใจเหมือนกัน (หัวเราะ) กําลังใจเดียวที่ได้ตอนนั้นก็มาจากนุ่น อย่างเวลานึกท้อ ไม่มีของหาในไทยไม่ได้ ต้องบินไปต่างประเทศ ก็มีนุ่นนี่แหละไปช่วยกันเลือก ช่วยกันแบกกลับมา”

นุ่น : “ท็อปไม่ใช่คนชอบอะไรฉาบฉวย นุ่นเห็นเขาศึกษาเรื่องนี้จริงจังมาก พาร์ตของนุ่นเป็นเหมือนพาร์ตของคนที่เข้าใจเรื่อง ECO แค่ผิวๆ แต่มาอินเพราะผู้ชาย (หัวเราะ) เมื่อได้ทําไปทํามากลายเป็นอินมาก มากจนรู้สึกว่า เออ…ถ้าคนแบบนุ่นอินกับเรื่องนี้ได้ แสดงว่าคนอื่นก็น่าจะเบลนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ากับชีวิตตัวเองได้เหมือนกันถ้าเขาสนใจ และทําอย่างต่อเนื่อง”

 

ผ่านอะไรกันมาบ้าง

นุ่น : “ตอนนั้นเรื่อง ECO DESIGN เป็นอะไรที่ใหม่สําหรับคนทั่วไป เราสองคนต้องอยู่ที่ร้าน พยายามเล่าให้คนเข้าใจว่าสินค้า ECO คืออะไร ทําไมราคาแพง มีกระบวนการเป็นอย่างไร ช่วงน้ันเป็นโมเมนต์ที่ดีมากค่ะ”

ท็อป : “วิธีการของเราคือไม่ได้นําภาพที่น่ากลัวมาเล่าเพื่อให้คนฉุกคิด แต่เราใช้วิธีเชิงบวกมาสื่อสารแทน เริ่มต้นจากเรื่องราวของสินค้า เช่น สมุดหนึ่งเล่ม เราต้องเล่ากระบวนการคิดและวิธีแปรรูปว่าสมุดเล่มนี้จะช่วยโลกได้อย่างไร ถ้าไม่เล่า ของชิ้นนั้นก็จะเหมือนสินค้าทั่วไป ไม่สามารถทําให้คนเข้าใจหรือสนใจได้”

 

TOO HARD TO STOP

ความท้าทายของการทําธุรกิจ ECO DESIGN ในวันนี้คืออะไร และตลอด 8 ปีที่ผ่านมาคิดว่าประสบความสําเร็จหรือยัง

ท็อป : “ทุกวันนี้เรามีสินค้าที่ดีไซน์โดยคนไทยทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ และมีน้องๆนักศึกษานําผลงานมาทดลองขายที่ร้าน แต่ถ้าถามว่าคนอิน มากจนปรับเปลี่ยนตัวมาใช้ของ ECO หรือยัง ก็ยัง ! ผมว่าเราเข้าสู่ช่วงพัฒนามากกว่า คนอาจรู้สึกดีกับสินค้า ECO แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะซื้อ ความท้าทายจึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคอนเซ็ปต์รูปลักษณ์ราคาและอื่นๆ เพื่อให้คนอยากมีสินค้า ECO สักชิ้นสองชิ้นติดตัว เท่านี้ก็ถือว่าสําเร็จในขั้นแรกแล้ว ส่วนเป้าหมายสูงสุดคือ เราอยากสร้างสังคมของคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม งานที่ทําจึงไม่ได้มีแค่ขายสินค้า แต่มีการจัดงาน ECO MARKET FAMILY มีแอพ ECO LIFE และมีการออกแบบเวิร์คชอปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผมมีความฝันแบบนี้ แต่คนที่ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงๆคือนุ่น”

นุ่น : “นุ่นคิดว่าตอนนี้เรากําลังเชื่อมจุดแต่ละจุด เป้าหมายแต่ละเป้าหมายเข้าด้วยกัน แต่สิ่งสําคัญนอกจากที่ท็อปพูด คือเราดีใจที่หลายปีที่ผ่านมาเราสามารถสร้างคน สร้างความรู้ส่งต่อให้ผู้สนใจคนอื่นๆได้ ไม่เฉพาะแต่ลูกค้าในร้านเท่านั้น”

 

love-designable-02

LOVE AND LEARN

แล้วกับความรักล่ะ คิดว่าประสบความสําเร็จหรือยัง

นุ่น : (หัวเราะ) “ถือว่าประสบความสําเร็จขั้นต้น สําหรับนุ่นการแต่งงานคือการเริ่มต้น คล้ายว่าเราผ่านการเรียนประถม มัธยม และกำลังเข้าสู่มหาวิทยาลัย ต่อให้คบกันมา 8 ปี ก็ไม่เหมือนกับการที่คนสองคนต้องมาแชร์ชีวิตร่วมกัน ต้องเห็นตัวตนด้านใหม่ ๆ แล้วนํามาปรับและแชร์กัน”

ท็อป : “ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะแต่งงาน แต่พอวันที่เริ่มให้นุ่นเข้ามาช่วยธุรกิจ เราก็เห็นความเป็นผู้นำ ความอึดของเขา และเขาเองก็มีโอกาสเห็นด้านมืดที่มีอยู่ในตัวเราไม่น้อย แต่เขาก็ยังอยู่ นุ่นไม่ใช่คนที่อยู่กับเราแค่ในเวลาที่มีความสุขเท่านั้น แต่ในเวลาที่ไม่ดี เธอก็ไม่หายไปไหน เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! นี่แหละใช่เลย อย่างตอนแต่งงานเราเจอความกดดันจากทุกฝ่าย แต่พอเราสองคนผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยวิธีการที่ไม่เครียดและแทบไม่มีปัญหาอะไร ผมเลยรู้สึกว่า มันประสบความสําเร็จแล้ว”

นุ่น : “ช่วงที่เป็นแฟนกันเรายังมีความเปราะบางของความสัมพันธ์อยู่ เหมือนมีภาวะการเผื่อใจมาตลอด แต่พอแต่งงานความรู้สึกก้อนนั้นมันหายไป โล่งขึ้น ไม่มีความกังวล และมีความมั่นคงอยู่ในความสัมพันธ์ เรารู้สึกว่ามีใครสักคนห่วงเรา คอยเรากลับบ้านมาเจอกัน คอยซัพพอร์ตความรู้สึกซึ่งกันและกัน”

 

LIFE PARTNER

การเป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนร่วมงานมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง

ท็อป : “ข้อดีที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นเรื่องความไว้ใจ มันสนุกกว่า ราบรื่นกว่า เพราะเราทํางานกันด้วยความไว้ใจ ส่วนข้อเสียก็น่าจะมี เช่น ความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ตอนนี้ผมเห็นแต่ข้อดีมากกว่า”

นุ่น : “ความเห็นเราไม่ตรงกันอยู่แล้ว แต่ในฐานะคนท่ีผ่านเรื่องราวพวกนี้มา นุ่นอยากแนะนําว่า ใครที่กําลังคิดจะแต่งงานกันให้ลอง ทําอะไรด้วยกันสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลองขายของหรือทําโปรเจ็กต์อะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วถ้าเกิดต้องทะเลาะกันก็ให้ทะเลาะกันไปเลย แล้วมาลองดูว่า รับด้านมืดของแต่งละคนได้ไหม สามารถประคับประคองจัดการกับอารมณ์ได้ไหม นุ่นเชื่อว่าเราจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของคนเวลาทํางานด้วยกัน และถ้าผ่านไปได้มันก็ถือเป็นบททดสอบที่ดี”

 

DESIGNABLE LOVE

งานดีไซน์ก็เคยออกแบบมาแล้ว แล้วกับความรักล่ะ คุณคิดว่า คนเราสามารถออกแบบความรักได้ไหม

ท็อป : “ถ้าจะมองว่าการออกแบบได้ทําให้สิ่งบางสิ่งดีขึ้น ดีไซเนอร์ก็ควรออกแบบโปรดักต์ให้ตอบสนองทั้งเรื่องสุนทรีย์ทางการมองเห็น และการใช้งานแบบจับต้องได้ แล้วถ้าผลิตภัณฑ์นั้นเรียกว่าความรัก ผมว่าเราคิดได้ออกแบบได้แต่บางทีก็ไม่สําเร็จเลยคิดว่าคงอยู่ที่ช่วงจังหวะเวลาด้วยละ หลายคนอาจบอกว่าผมประสบความสําเร็จแล้วหลังจากแต่งงาน นั่นแปลว่าผมออกแบบความรักที่ดีกับนุ่นและทําให้ประสบความสําเร็จในขั้นหนึ่ง แต่ในสเต็ปต่อไปผมอาจจะไม่ประสบความสําเร็จในบางเรื่องก็ได้ ฉะนั้น คำตอบเลยฟังดูแอ๊บสแตร็กต์ ผมควรจะตอบว่าความรักออกแบบได้หรือไม่ได้ดีล่ะ”

 

ขอขอบคุณ

ECO SHOP common
ศูนย์การเรียนรู้งานออกแบบท่ีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ และสินค้าจากท้องถิ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โทร.08-7099-0639 www.ecoshop.in.th

 

เรื่อง : polarpoid
ภาพ : นันทิยา
คอลัมน์ : best idol
room life : March 2016 No.02