ทำความรู้จักเหล่า " Pavilion " ก่อนเที่ยว งานสถาปนิก ‘61 - room life

ทำความรู้จักเหล่า PAVILION ก่อนเที่ยวงานสถาปนิก’61

งานสถาปนิก ‘61 หนึ่งในสิ่งที่น่าจับตาที่สุดในงานสถาปนิกของทุกๆ ปี คือซุ้มนิทรรศการหรือ“ Pavilion ”ทั้งหลายที่บรรดาสถาปนิกจะพากันพกแนวคิดแปลกใหม่มา “ปล่อยของ” ผ่านการออกแบบซุ้มเล่าเรื่องราวต่างๆ ภายใต้ธีมแนวความคิดที่แตกต่างกันในทุกปี

งานสถาปนิก ‘61

งานสถาปนิก ‘61 ภายใต้ชื่อตีม“ไม่ธรรมดา: Beyond Ordinary” ผศ.ดร.อภิรดี เกษมสุข ประธานจัดงานเผยว่าต้องการให้งานปีนี้สื่อถึงความเป็น “พื้นถิ่น” ในวิถีชีวิตร่วมสมัยของสังคมไทยรวมถึงแสดงปรากฏการณ์ของสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นต่างๆ ที่กำลังถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลง ทั้งปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง อันอาจสะท้อนผ่านสิ่งของธรรมดาทั่วไปที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน และผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีกระบวนการคิดและออกแบบที่ซับซ้อน

งานสถาปนิก ‘61

“…งานอาษาปีนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทางสถาปนิกและดีไซเนอร์ที่ได้รับเชิญมาทำการทดลองทางการออกแบบผ่าน Pavilion ต่างๆ ในพื้นที่แสดงงาน โดยอาศัยวัสดุพื้นถิ่นทั้ง 4 ชนิดของภูมิภาคไทย ได้แก่ ดิน อิฐ ไม้ และไม้ไผ่…

คุณภูมิ ศุภกิจจานุสันติ์ สถาปนิกจาก P.A. Design Co., Ltd. ประธานอนุกรรมการฝ่ายก่อสร้าง ได้ให้ข้อมูลกับเราถึงแนวความคิดของการออกแบบนิทรรศการในภาพรวมซึ่งรัดร้อยกันด้วยความเป็น “พื้นถิ่น” ที่คุณภูมิเสริมว่า

“อย่างที่ทราบกันว่าในปัจจุบันวัสดุก่อสร้างในยุคอุตสาหกรรมได้มีบทบาทในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากกว่าวัสดุพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก เหลือไว้เพียงพื้นที่เล็กๆ สำหรับวัสดุพื้นถิ่นเหล่านี้ที่จะได้แสดงศักยภาพที่มีออกมา…”

“…งานสถาปนิก 61 ปีนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้สถาปนิกที่ได้รับเชิญมาออกแบบ Pavilion ต่างๆ ได้ถ่ายทอดมุมมองของตนเองต่อวัสดุพื้นถิ่นที่ได้รับเป็นโจทย์นั้นๆ ออกมาผ่านผลลัพธ์ทางการก่อสร้าง และแสดงศักยภาพของวัสดุพื้นถิ่นนั้นๆในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากแนวทางหลัก หรือในรูปแบบที่คนทั่วไปยังนึกไม่ถึง โดยหวังว่าในอนาคต วงการก่อสร้างจะมีการนำวัสดุพื้นถิ่นที่มีคุณค่าเหล่านี้กลับมาใช้อย่างสร้างสรรค์ และแพร่หลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

งานสถาปนิก ‘61

นอกเหนือจากภาพรวมของงานที่คุณภูมิกล่าวถึงไอเดียหลักของผู้จัดงานยังสะท้อนใน Pavilion ไฮไลต์ 5 ซุ้มหลักซึ่งนำเสนอไอเดีย 5 ไอเดียเกี่ยวกับวัสดุและรูปแบบการอยู่อาศัยที่น่าสนใจแตกต่างกัน 5 กรณี ตามการตีความของนักออกแบบ 5 กลุ่มสถาปนิกมากฝีมือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางได้แก่

INTRODUCTION PAVILION” คือ Pavilion ที่นับเป็นพื้นที่ต้อนรับของนิทรรศการทั้งหมดออกแบบโดย สาวิตรี ไพศาลวัฒนา และ Jakub Gardolinski จาก PAGAA ร่วมกับเมธัส ศรีสุชาติ จากบริษัท MAGLA มีเนื้อเรื่องหลักคือ การแนะนำให้รู้จักกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นบอกเล่าเอกลักษณ์สําคัญของสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างโดยปราศจากสถาปนิก ผ่านภาษางานออกแบบที่ผู้ออกแบบกล่าวว่า “นิทรรศการแสดงถึงความท้าทายในการทำงานออกแบบ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ข้อมูล แรงบันดาลใจ และการมีส่วนร่วม ในงานนี้ ผู้เข้าชมจะได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าสถาปนิก และได้รู้จักกับแนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นซึ่งการออกแบบพื้นที่นิทรรศการนี้ยังมุ่งเน้นไปที่ความต้องการขั้นพื้นฐานจากแนวความคิดของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนี้ด้วย ซึ่งก็คือการเพิ่มศักยภาพของสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือทำได้มากแต่ใช้ให้น้อย สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถโต้ตอบและสำรวจพาวิเลียนในประสบการณ์เชิงพื้นที่ที่ไม่เหมือนใคร ” ด้วยรูปแบบซุ้มทรงโดนัทที่ไม่สมมาตร ใช้วัสดุและการก่อสร้างด้วยระบบ “Pneumatic”ซึ่งรูปทรงของ Pavilion จะเกิดขึ้นอย่างไม่จงใจ และแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามสภาวะแวดล้อม สะท้อนปรากฏการณ์เดียวกับการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เป็นไปเองตามวิถีธรรมชาติ

“LIVING SPACE PAVILION” คือนิทรรศการแสดงการเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่น ออกแบบโดย บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ จาก Boon Design โดยเน้นแสดงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของรูปแบบพื้นที่อยู่อาศัยโดยเน้นหนักที่การชี้ให้เห็นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบ “Mass production” ที่มักไม่ตอบสนองวิถีชีวิตและการอยู่อาศัยที่แท้นิทรรศการจัดแสดงผ่านภาพถ่าย การออกแบบแสง และโครงร่างจําลองของ “แม่เตาไฟ” ซึ่งเป็นส่วนจุดไฟในบ้านเพื่อหุงหาอาหารในเรือนพื้นถิ่นของหลายกลุ่มชาติพันธ์ในอดีต

WORKING SPACE PAVILION”ออกแบบโดยจริยาวดี เลขะวัฒนา และ Mr.Luke Yeung จาก ARCHITECTKIDD นำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ประกอบอาชีพจากอดีตที่พื้นที่ประกอบอาชีพเคยตั้งซ้อนทับเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่อยู่อาศัย กระทั่งถูกแยกออกจากกันในยุคพัฒนาอุตสาหกรรม จนถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทําให้พื้นที่ประกอบอาชีพและพื้นที่ส่วนตัวกลับมาซ้อนทับกันอีกครั้ง นิทรรศการใช้ “อิฐ” เป็นวัสดุสำหรับโครงสร้างและงานออกแบบภายในพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีมาร่วมช่วยออกแบบ

 

MEETING SPACE PAVILION” ออกแบบโดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ จาก Walllasia ใช้ “ไม้ไผ่” จัดแสดงการซ้อนทับของกิจกรรมทางสังคมบนพื้นที่สาธารณะของเมือง (Public Space) จากอดีตที่การผสมผสานกิจกรรมมักเกิดบนพื้นที่ทางกายภาพ กระทั่งปัจจุบันเมื่อกิจกรรมต่างๆ เริ่มขยายและซ้อนทับไปกับพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์ พื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่โลกออนไลน์พื้นที่ในโลกเสมือนจริง (AR) นั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และในนิทรรศการนี้ ยังชวนตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์นี้จะทําให้บทบาทพื้นที่สาธารณะของเมืองเปลี่ยนไปด้วยอย่างไร

 

MOVING SYSTEM PAVILION” ออกแบบโดย ศ.ดร.วีระ อินพันทัง และ พิช โปษยานนท์ด้วยการใช้ “ไม้” มาสานขัดด้วยการใช้ข้อต่อ“เถรอดเพล” จนก่อรูปเป็นศาลาโครงโปร่งโดยไร้ตะปูนิทรรศการมุ่งหวังให้ผู้ชมตระหนักและตั้งคําถามต่อระบบขนส่งโดยคนท้องถิ่น เช่น ระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อรับจ้าง เรือด่วน รถตู้สาธารณะ รถสองแถว รถพุ่มพวง ฯลฯที่หลายระบบเกิดขึ้นโดยไม่ได้ถูกกำหนดไว้ก่อนจากการแก้ปัญหากันเองของผู้ใช้ชีวิตในเมืองอีกทั้งเมื่อมีระบบใหม่ๆ เช่นGrab Bike,Uber eat ที่เข้าผสานและสอดรับกับระบบขนส่งแบบท้องถิ่นไทยได้เป็นอย่างดี ปรากฏการณ์นี้จึงน่าทำความเข้าใจว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และความเป็นย่านที่เราอาศัยอยู่ในภาพรวมอย่างไร

เพราะวัสดุและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่มีมาแต่ในอดีต นั้นกล่าวได้ว่าเป็นรากฐานการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนในปัจจุบัน การทำความเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งแวดล้อม ของวัสดุ และการเกิดขึ้นของสิ่งที่ทั้งผ่านการออกแบบและไม่ผ่านการออกแบบต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่เราควรย้อนกับไปทบทวนคิดอย่างไม่อาจเพิกเฉยไปได้

“…การเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นถือเป็นความท้าทายและเป็นอุปสรรคในขณะเดียวกัน เนื่องจากจัดเป็นประเภทของวัสดุก่อสร้างที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับงานก่อสร้างงานนิทรรศการชั่วคราวมากที่สุด…”

คุณภูมิ ศุภกิจจานุสันติ์

คุณภูมิ ศุภกิจจานุสันติ์ ยังปิดท้ายถึงความท้าทายในการนำวัสดุและรูปแบบสเปซอย่างพื้นถิ่นมาจัดแสดงเพื่อสื่อสารเรื่องราวในปัจจุบัน เพราะในสภาวะจำกัดทั้งเวลาและสถานที่ของการจัดนิทรรศการการจัดงานครั้งนี้พวกเขาจึงไม่เพียงต้องแต่ออกแบบรูปลักษณ์และหน้าที่ของพาวิเลียนทั้งหมด แต่ยังต้องออกแบบ “การจัดการ” กับสิ่งก่อสร้างชั่วคราวทั้งหลาย เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์การจัดแสดงได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด

“เมื่อถึงจุดท้ายที่สุด คำถามที่เกิดขึ้นคือ หลังจากงานแสดงนิทรรศการซึ่งกินระยะเวลาเพียงแค่ 6 วันผ่านพ้นไปแล้ว ชิ้นส่วนของพาวิเลียนต่างๆ ซึ่งมีปริมาณมหาศาลเหล่านี้จะถูกนำไปไว้ที่ไหน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างขยะเหลือใช้จากงานก่อสร้างให้ได้มากที่สุด ทีมก่อสร้างรวมถึงสถาปนิกที่ได้รับเชิญมาร่วมงานบางส่วนได้ทำการประสานไปยังหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัยและเอกชนต่างๆ เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการนำวัสดุก่อสร้างต่างๆ ไปใช้ต่อให้เกิดสาธารณประโยชน์สูงสุด…”

งานสถาปนิก ’61 จึงเป็นอีกปีที่น่าจับตา เพราะเชื่อว่าบรรดาพาวิเลียนทั้งหลาย ไม่แต่เฉพาะ 5 พาวิเลียนจาก 5 ทีมสถาปนิกแต่ทุกๆ พาวิเลียนที่ประกอบเป็นงานประจำปีของสถาปนิกในปีนี้นั้นน่าจะประกอบด้วยเนื้อหาเข้มข้น และกระตุกความคิดให้กับคนรักงานออกแบบได้ไม่แพ้ปีไหนๆ


เรื่อง: กรกฏ

ภาพ: asa forum


อ่านต่อเรื่อง สิ่งสามัญที่ไม่ธรรมดา ในงานสถาปนิก’61 Beyond Ordinary คลิก