เวียนมาบรรจบอีกครั้งกับงานสถาปนิก’61 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ไม่ธรรมดา” หรือ Beyond Ordinary ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม เวลา 10.00-20.00 น. ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี แน่นอนว่างานสถาปนิกทั้งทีจะพลาดการอัพเดทบู๊ธดีไซน์สวยๆ ไปได้อย่างไร
สำหรับการออกแบบบู๊ธในงานสถานิก ผู้ออกแบบมักจะเจอข้อจำกัดในการออกแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างการออกแบบที่ต้องตีโจทย์ของธีมงานให้แตก ซึ่งในขณะเดียวกันก็ต้องคิดไปพร้อมๆ กับจะออกแบบบู๊ธอย่างไรเพื่อโชว์ศักยภาพของสินค้าให้แตกต่างอย่างมีดีไซน์มากที่สุด เราจึงคิดว่าทั้ง 8 บู๊ธที่เราเลือกมานี้ ผู้ออกแบบสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดหลายประการ จนออกมาเป็นงานดีไซน์ที่ถึงแม้จะถูกตั้งไว้เพียง 6 วัน แต่หากจะถูกกล่าวถึงไปอีกนาน
SHERA
‘จากธรรมดาสู่ความไม่ธรรมดาในแบบเฉพาะตัว’
เริ่มกันด้วยบู๊ธที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดบู๊ธ ประเภทความคิดสร้างสรรค์ในงานสถาปนิก’61 กับบู๊ธ SHERA ฝีมือการออกแบบของ JOY ARCHITECT ที่นำโจทย์ของธีมงาน ‘Beyond Ordinary’ มาตีความในแบบฉบับของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์และเล่นกับพฤติกรรมของคนได้อย่างแยบคาย
DESIGN CONCEPT
เฌอร่าสร้างความไม่ธรรมดาตั้งแต่การวางแพลนนิ่ง โดยหยิบยกรูปแบบเรือนหมู่ของบ้านทรงไทยมาวางผัง มีพื้นที่ส่วนกลางไว้เป็นพื้นที่พบปะพูดคุยกลางบู๊ธ ส่วนเรือนย่อยที่รายล้อมก็เป็นส่วนแสดงโปรดักส์ที่จัดแสดงที่งาน แต่นอกจากจะดึงการวางแพลนจากเรือนหมู่แล้ว ทางผู้ออกแบบยังยกสเต็ปแต่ละพื้นที่ขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนอกจากจะสามารถนั่งพักผ่อนได้ ยังเป็นการดึงองค์ประกอบของการยกใต้ถุนแบบเรือนไทยมาประยุกต์ใช้อีกด้วย
อีกหนึ่งความไม่ธรรมดา คือ การดึงนิสัยความโอบอ้อมอารีในแบบคนไทย มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม ด้วยการใส่ตัวอย่างสินค้าไปในผนังในแต่ละพื้นที่ เพราะนอกจากการที่ผู้สนใจจะหยิบติดไม้ติดมือกลับไป ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงของแสงและเงาที่จะเกิดภายในบู๊ธตลอดเวลา เกิดเป็นเสน่ห์และประสบการณ์การรับรู้ที่น่าสนใจตลอดทั้งวัน
VECERA
‘THE TRUTH OF THE THINGS’
การออกแบบบูธเพื่อแสดงศักยภาพของสินค้า คือหนึ่งในเป้าหมายหลักของการออกแบบ แต่นั่นไม่ใช่กับทั้งหมด เพราะ คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิกจาก EKAR ARCHITECTS ผู้รับหน้าที่ออกแบบบูธ VECERA ต้องการให้ผู้ที่เข้ามาสัมผัสเกิดการตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจทั้งในเรื่องของการออกแบบ และความเข้าใจในเรื่องตัววัสดุที่ต้องการจัดแสดง
DESIGN CONCEPT
ด้วยตัวสินค้าของ VECERA เองเป็นสินค้าเกี่ยวกับกระเบื้องลายหินเป็นส่วนใหญ่ ทางผู้ออกแบบจึงหวนกลับไปคิดถึงจุดกำเนิดของหิน จนตีความได้ว่า หินเกิดจากธรรมชาติ จากนั้นพัฒนาแนวความคิดต่อจนเกิดเป็นทางเดินภายในถ้ำหิน เสมือนเป็น ‘TILE PAVILION’ ที่จะพาคุณไปหาคำตอบของธรรมชาติในรูปแบบที่ต่างออกไป
ส่วนการเลือกใช้เหล็กข้ออ้อยแทนการสร้างผนังแบบปิดล้อมพื้นที่นั้น ทางผู้ออกแบบต้องการให้เหล็กข้ออ้อยเป็นตัวแทนของวัสดุที่มักถูกใช้ภายในโครงสร้าง ไม่ได้เป็นฟินิชชิ่งที่โชว์ความสวยงามเหมือนวัสดุอื่นๆ แสดงความสวยงามในแบบตนเอง ด้วยการถักทอเหล็กข้ออ้อยทีละเส้น จนเกิดเป็นกำแพงเหล็กขนาดใหญ่ และแขวนแผ่นกระเบื้องเอาไว้ด้านในเป็นตัวแทนของผนังหินจากธรรมชาติเช่นเดียวกัน
VECERA บู๊ธ S511-12
BAMBUNIQUE
‘NUTURE FOR NATURE’
มากับอีกหนึ่งบู๊ธความภูมิใจของคนไทยกับ BAMBUNIQUE แบรนด์ไทยโดยคนไทยที่ครั้งนี้เราอดใจไม่ได้ที่จะขอถ่ายทอดแนวความคิดในการออกแบบบู๊ธของคุณอมรเทพ คัชชานนท์ Design Director ที่รับหน้าที่ทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์ในแบรนด์และบู๊ธในงานสถาปนิก’61 ด้วยตนเอง
DESIGN CONCEPT
ผู้ออกแบบต้องการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้ทั้งกับคนที่สนใจมาดูบู๊ธ และนำเสนอไม้ไผ่ในมุมมองอื่นๆ ว่าไม้ไผ่นั้นสามารถต่อยอดในการออกแบบได้หลากหลายในเวลาเดียวกัน โดยการออกแบบบู๊ธครั้งนี้ตั้งใจวางตำแหน่งของเสาและฟินิชชิ่งด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด เพื่อแสดงศักยภาพของไม้ไผ่ในแง่ของแพทเทิร์น ว่าสามารถสร้างแพทเทิร์นจากไม้ไผ่ได้มากมาย และที่เห็นจากการจัดแสดงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
อีกแง่มุมในด้านออกแบบที่น่าสนใจคือ ทางคุณอมรเทพ ต้องการให้คนที่เข้ามารู้สึกเหมือนยืนท่ามกลางป่าไผ่ ได้สัมผัสเนื้อวัสดุ สร้างความรู้สึกพิเศษเมื่อโอบล้อมด้วยงานออกแบบ เสริมกับการสร้างให้ไม้ไผ่โดดเด่นด้วยการเลือกใช้พื้นและผนังเป็นสีเข้ม เพื่อขับเน้นลวดลายของงานไม้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น และเมื่อเกิดความสนใจในโปรดักส์และดีไซน์ จึงสามารถสอบถามรายละเอียดเชิงลึกได้ในส่วนจัดแสดงบนผนังได้ในลำดับต่อไป
BAMBUNIQUE บู๊ธ S406/4
BLUESCOPE
‘BLUESCOPE กับวิถีชีวิตคนไทย’
เรียกได้ว่าดึงดูดทุกสายตากันเลยทีเดียวกับบู๊ธของ BLUESCOPE บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นเรียบเคลือบโลหะ และเคลือบสี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบู๊ธจึงเรียบเท่ขนาดนี้ แต่ภายใต้ความเท่นั้นบอกเลยว่ามีแนวความคิดในการออกแบบ ‘ที่ไม่ธรรมดา’ เลยจริงๆ
DESIGN CONCEPT
เริ่มจากการขบคิดและตีความ ‘ความไม่ธรรมดา’ ของงานสถาปนิก’61 อย่างไรให้ธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาที่สุด คุณสิริชัย เหลืองวิสุทธิ์สิริ design director ของ Apostrophy’s Group จึงกลับไปพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของโปรดักส์ไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของคนไทย จึงออกแบบโดย เชื่อมโยงลักษณะของโรงสีมาลดทอนองค์ประกอบบางอย่าง และเพิ่มงานดีไซน์ไปในบางส่วนเพื่อที่จะได้โชว์ศักยภาพของโปรดักส์ได้ดีที่สุด เนื่องจากโรงสีนั้นอยู่คู่คนไทยมานานและทาง BLUESCOPE เองก็มีโอกาสจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโรงสีไปไม่น้อย นั่นจึงเป็นที่มาของแนวความคิด BLUESCOPE กับวิถีชีวิตคนไทยนั่นเอง
ภายใต้โครงสร้างเหล็กและหลังคาเมทัลชีทได้ถูกแบ่งฟังก์ชันได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในส่วนของพื้นที่จัดแสดงผลงานของ BLUESCOPE เองที่คัดสรรผลงานจากช่างภาพสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ หรือเป็นส่วนของบันไดขึ้นชั้น 2 ที่ทำหน้าที่แบบ Multi-function คือเป็นทั้งที่นั่งสำหรับพักผ่อนพูดคุย และทำหน้าที่เปิดมุมมองของหลังคา รวมไปถึง Section ของหลังคาที่หลายคนไม่เคยเห็นเมื่อเสร็จแล้วว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
BLUESCOPE บู๊ธ S108