กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว สำหรับ Maison & Objet ดีไซน์แฟร์ระดับโลกที่จะประกาศรางวัล “ดีไซเนอร์แห่งปี” คู่ขนานไปกับการจัดงานแสดงปีละ 2 ครั้ง นับเป็นรางวัลที่สร้างกระแสความเคลื่อนไหวให้วงการการออกแบบโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมกราคม M&O จะเสนอชื่อนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนช่วงปลายปีจะนำเสนอนักออกแบบที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายใน และสำหรับโชว์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ Ramy Fischler คือ Designer of the Year คนล่าสุด
Ramy Fischler ดีไซเนอร์ชาวเบลเยี่ยมที่ย้ายมาก่อตั้งสตูดิโอออกแบบในปารีส เขาจบการศึกษาจาก ENSCI-Les Ateliers (École nationale supérieure de création industrielle) ในปารีสเมื่อปี 2004 และได้เข้าร่วมงานในสตูดิโอของ Patrick Jouin อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ชั้นนำของโลกอยู่เกือบทศวรรษ ตลอดช่วงเวลานั้นเองที่ประสบการณ์การทำงานได้ขัดเกลารสนิยมด้านความงามของเขาให้ยิ่งโดดเด่น ลับคมมุมมองด้านดีไซน์ให้เฉียบแหลม และส่งเสริมให้ความหลงใหลในการทดลองของเขาที่มีตั้งแต่สมัยเรียนยิ่งเติบโต ผลิดอกออกผล และกลายเป็นกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อค้นหาขอบฟ้าใหม่ในแบบฉบับของเขา
ก่อนที่ Ramy Fischler จะริเริ่มก่อตั้ง RF Studio ขึ้นในปี 2011 เขาได้รับรางวัล Prix de Rome รางวัลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ชีวิตร่วมกับศิลปินและนักออกแบบคนอื่นใน Villa Medici สถาบันด้านศิลปะของฝรั่งเศสในกรุงโรม และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์ และอิทธิพลด้านวัฒนธรรมที่ปรากฏในหลายโปรเจ็คต์ต่อๆ มาของเขา
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้งานออกแบบของเขา “แตกต่าง” อยู่เสมอ คือเขามุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะ “ไม่ทำซ้ำ” แนวทางงานของตัวเอง ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสกับมุมมองดั้งเดิมของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และสเปซ ในจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์ เขากลับตั้งคำถามถึงคุณค่าของประโยชน์ใช้สอย คาดเดาไปถึงพฤติกรรมการใช้งานของผู้คนในอนาคต หาคำจำกัดความสำหรับเหตุผลและการใช้งาน พยายามจินตนาการถึงมุมมองที่เป็นรูปธรรมของบริบทแวดล้อมสำหรับสิ่งที่เขาออกแบบ สำหรับ Fischler งานออกแบบในทุกรายละเอียดต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล เขาจึงถนัดทำงานกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่างานออกแบบเชิงมโนทัศน์ (Conceptual)
แนวความคิดของ Fischler นั้นแสดงให้เห็นว่า ในการออกแบบงานสักชิ้น เขาให้ความสำคัญกับทั้งมุมมองจากภายในสู่ภายนอก คือการเป็นผู้ร่วมงาน ผู้ใช้งานพื้นที่หรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ พร้อมๆ กับคำนึงถึงมุมมองจากภายนอกสู่ภายในคือการลองเป็นผู้สังเกตการณ์จากภายนอก เพื่อให้งานออกแบบของเขาครอบคลุมความต้องการของทุกฝ่าย
หากติดตามงานของเขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่างานของ Fischler มักได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เขาชื่นชอบอยู่ไม่น้อย เขาทำงานออกแบบไม่ต่างจากการที่ผู้กำกับคิดสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง และอาจกล่าวได้ว่า จินตนาการ และความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ คือหัวใจหลักของกระบวนการออกแบบของเขา หลายๆ ครั้ง งานของ Fischler จึงมีความเป็นไฮบริดที่คาบเกี่ยวอยู่บนเส้นขอบเขตระหว่างงานออกแบบ ศิลปะ หรือศาสตร์อื่นๆ
เขาเริ่มทำงานวิจัยครั้งแรกๆ สมัยยังเป็นอาจารย์ที่ Le Fresnoy – National Studio for Contemporary Arts อันได้แก่ โปรเจ็คต์ L’Image Éclaire ที่พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรูปภาพ และภาพยนตร์
เราอาจพูดได้ว่า Fischler คือนักออกแบบที่ทำงานอย่างไร้กรอบ เขาพร้อมจะนำเสนองานออกแบบในมิติ หรือศาสตร์ที่ดูเผินๆ เหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และอีกงานที่น่าสนใจของเขาคือการออกแบบสำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ในฝรั่งเศส ซึ่งว่าจ้างให้เขาสำรวจว่าบริบทการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไปตามกระแสโลก และตั้งคำถามถึงคุณค่าของข้อมูล และนำการค้นพบของเขามาใช้ในการวางผังออกแบบสำนักงานที่เหมาะสำหรับยุคใหม่
อีกหนึ่งในโปรเจ็คต์ล่าสุดของเขาที่น่าสนใจคือ Refettorio ร้านอาหารสำหรับผู้ยากไร้และผู้อพยพ ในปารีส ริเริ่มโดยเชฟคนดังอย่าง Massimo Bottura ด้วยความร่วมมือกับ Nicola Delon เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Encore Heureux เพื่อออกแบบการตกแต่งภายในจากวัสดุรีไซเคิล
ไม่ว่าจะทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ นิทรรศการ ไปจนถึงงานเทคโนโลยี สำหรับ Fischler แล้ว กระบวนการในการออกแบบนั่นเองที่สร้างโอกาสใหม่ๆ ทั้งการสังเกตการณ์ ทั้งดึงประเด็นใหม่ที่น่าสนใจ และดึงศักยภาพสูงสุดของแต่ละศาสตร์ออกมา เพื่อสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือเอกลักษณ์ของงานออกแบบ ก็ล้วนมีความสำคัญไม่แพ้ภาพจบของงานเลย ดังที่ Fischler ได้เคยกล่าวไว้ว่า
“การแลกเปลี่ยนแนวคิด การค้นคว้า และการทดลองถือเป็นพื้นฐานของทุกนวัตกรรม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนางานออกแบบ พอๆ กับความร่วมมือกับผู้ผลิตและนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละโปรเจ็คต์ด้วย ”
ปัจจุบันเขาสนใจเรื่องราวของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างยิ่ง เขาสนุกกับการได้ทำงานร่วมกับนักวิจัย แพทย์ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ไปจนถึงนักออกแบบแสงสว่างหรือแม้แต่นักประพันธ์เพลง!
นอกจากนี้เขายังเป็นดีไซเนอร์สายลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Nu! บริการ Catering ที่มาพร้อมแนวคิดขยะเป็นศูนย์ รวมถึงการออกแบบตู้ขายอาหารที่ไม่ต้องใช้เงินสด
ใครที่อยากติดตามผลงานล่าสุดของเขา ในช่วงต้นปี 2018 เขากำลังสนุกกับการออกแบบฉากให้กับโรงละครโอเปร่า ซึ่งรวมไปถึงการทำฉากละครเรื่อง Hamlet เวอร์ชั่นที่กำกับโดย Cyril Teste ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้ที่ L’Opéra Comique ในกรุงปารีส และสามารถติดตามเรื่องราวเต็มๆ ของ Fischler ได้ในงาน Maison et Objet Paris วันที่ 7-11 กันยายน 2018 ซึ่งนิทรรศการ และสัมมนาภายในงานจะช่วยให้ผู้เข้าชมเข้าถึงแนวคิดของ Fischler ได้มากกว่าเพียงแค่การชมผลงานที่รวบรวมมาเท่านั้น
เรื่อง MNSD