บ้านหลังนี้มีชื่อน่ารักอันมีที่มาจากลักษณะที่ดินรูปสามเหลี่ยมและจุดเด่นของหลังคาบ้านในมุม 45 องศา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากริมถนน เพื่อนบ้านจึงขนานนามบ้านนี้ว่า “บ้านสามเหลี่ยม” และเบื้องหลังก็ยังมีแนวคิดน่าสนใจของ“สามเหลี่ยม” ที่ดูเหมือนเป็นหัวใจของ บ้านโมเดิร์นชั้นเดียว หลังนี้
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Anonym
บ้านสามเหลี่ยมบนที่ดินสามเหลี่ยม ไม่ได้มาเพราะอยากหวือหวากว่าใคร แต่เกิดจากความตั้งใจของหัวหน้าครอบครัวรุจจนเวท ที่ต้องการอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องท้องเดียวกันหลังเกษียณ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินสามเหลี่ยมชายธงซึ่งติดกับบ้านญาติที่สุด บวกกับความช่างคิดของ คุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ สถาปนิกคนเก่งแห่ง Anonym ที่ต้องการออกแบบบ้านให้เรียบง่ายไม่ซับซ้อน และอยู่สบายสมกับเป็นบ้านหลังเกษียณ จึงดีไซน์ออกมาเป็น บ้านโมเดิร์นชั้นเดียว ที่มีหลังคาลาดเอียง 45 องศาช่วยให้โปร่งสบาย เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ยิ่งตัวชายคาที่ถูกออกแบบให้สูงกว่ารั้วบ้านเล็กน้อย ทำให้ก้อนอาคารดูลอย ใครผ่านไปผ่านมาเห็นก็เตะตาจนเรียกกันติดปากว่า “บ้านสามเหลี่ยม”
“เจ้าของบ้านให้โจทย์มาว่าต้องการสร้างบ้าน 2 หลัง เพราะว่ามีลูกสาวลูกชาย ส่วนตัวคุณพ่อเองท่านก็ชอบทำครัว เราเลยคิดว่าหลักๆ บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่เขาจะมาใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณ บ้านชั้นเดียวจึงเป็นชอยส์ที่โอเค เพราะเดินไปไหนก็สะดวกไม่ต้องขึ้นบันได บวกกับขนาดที่ดิน 1 ไร่ครึ่งก็ค่อนข้างเพียงพอในการจัดวางบ้านชั้นเดียว 2 หลังได้อย่างไม่อึดอัด”
สถาปนิกยังแก้ปัญหาพื้นที่มุมแหลมด้านทิศใต้ซึ่งอยู่ด้านในสุดของที่ดินด้วยการทำบ่อน้ำธรรมชาติ ก่อนสร้างบ้าน 2 หลังบนพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด โดยจัดวางตำแหน่งบ้านหลังใหญ่ที่เป็นรูปตัว L ติดกับบ่อน้ำ กับบ้านหลังเล็กเป็นรูปตัว I ซึ่งอยู่ติดกับถนนด้านหน้าที่ดิน โดยแต่ละหลังประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องกินข้าว ห้องน้ำ ห้องนอนใหญ่ และห้องนอนเหมือนกัน แต่ต่างตรงที่หลังเล็กจะสว่างและโมเดิร์นดูวัยรุ่น เน้นไม้โอ๊คสีอ่อน ส่วนหลังใหญ่จะเน้นความสุขุมแบบผู้ใหญ่ เลือกใช้ไม้สีเข้มเพื่อดึงความขรึมให้บ้านเล็กน้อย มีระเบียงไม้ริมบ่อน้ำไว้ให้คุณพ่อนั่งดื่มกับเพื่อน และห้องครัวขนาดใหญ่ให้คุณพ่อทำอาหารได้ไม่มีเบื่อ
“อาจมองเหมือนว่าเป็นมินิมัล แต่ไม่ใช่เลย…เราแค่ดึงเอาเรื่องสไตล์หรือเทรนด์ออกไปเท่านั้น” คุณบอย -พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้กล่าวขึ้น “บ้านนี้มีความเรียบง่ายที่ตรงไปตรงมา เราอยากจะทำให้มันง่ายที่สุดทั้งเข้าใจง่ายและใช้งานง่าย จึงเน้นการใช้งานอย่างไม่คำนึงถึงสไตล์ การออกแบบภายในเองก็สอดคล้องกับแนวคิดนี้ คือออกแบบไปพร้อมกันงานตกแต่งจึงไม่ใช่สิ่งที่จะพบได้ในบ้านหลังนี้สักเท่าไร”
อีกเหตุผลหนึ่งที่คุณบอยออกแบบบ้านให้มีรูปลักษณ์อย่างที่เห็นก็มาจากการดึงเอาความชอบของคุณไชยยันต์ รุจจนเวท เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณปาน-ปานดวงใจ รุจจนเวท ผู้ออกแบบภายในของบ้านหลังนี้ และภรรยาของคุณบอย คุณไชยยันต์เคยเป็นวิศวกรและชื่นชอบในรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย บ้านหลังนี้จึงมีรูปแบบเถรตรงดังรูปทรงเรขาคณิตนั่นเอง
“รูปทรงสามเหลี่ยมแรก คือ ที่ดินรูปสามเหลี่ยมแปลงนี้ที่เราเลือกปลูกบ้านด้วยทำเลของจังหวัดนครปฐมซึ่งมีอากาศดี เพื่อนๆ ของคุณพ่อก็อยู่แถวนี้สามเหลี่ยมที่สองคือ ลักษณะหลังคา 45 องศา เป็นหลังคาทรงสูงที่เหมาะกับ
สภาพอากาศของประเทศไทย จะเห็นว่าบ้านหลังนี้ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น แต่จริงๆ แล้วเราพยายามสร้างสถาปัตยกรรมไทยในรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหลังคาสูงชายคาชาน ระเบียง ทางเดิน หรือการเปิดรับแสงธรรมชาติที่สะท้อนมาจากสวนกลางบ้าน เพราะฉะนั้นในความเป็นโมเดิร์นเหล่านี้จะไม่มีการพยายามเติมสิ่งที่มากกว่าความจำเป็นแต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่อยู่ใน สามเหลี่ยมก้อนสุดท้าย คีย์เวิร์ดสามคำในการออกแบบ ประกอบด้วย Function การเลือกเอาแต่การใช้งาน Orientation ความสอดคล้องกับบริบท Connection การที่ผู้อยู่อาศัยมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน เพราะจะเห็นได้ว่าในบ้านทั้งสองหลังที่วางตัวโอบล้อมสวนกลางบ้านอยู่นั้น ทุกคนยังรู้สึกเชื่อมโยงถึงกันผ่านมุมมองและลักษณะการจัดวาง เพราะเราเป็นครอบครัวที่ทั้งพ่อแม่ของคุณปาน ตัวผมกับคุณปานเอง และน้องชาย ทุกคนต่างมีมุมของตัวเองในบ้านหลังนี้ แต่ก็ยังมีพื้นที่ร่วมกันอยู่”
นอกจากเรื่องจากการแก้ปัญหาที่ดินสามเหลี่ยมได้อย่างฉลาด เหตุผลที่ทำให้ชอบบ้านหลังนี้ คือ การสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับสมาชิกในครอบครัวทุกคน โดยแยกบ้าน 2 หลังออกจากกันมาพอที่จะสร้างคอร์ตยาดสีเขียวอิ่มๆ ตรงกลาง แต่กลับไม่รู้สึกเหินห่าง แถมยังอบอุ่นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะหนึ่ง สถาปนิกได้ดีไซน์ทางเดินไม้เล็กๆ เชื่อมต่อบ้าน 2 หลังเข้าไว้ด้วยกัน และสอง สถาปนิกแทนที่ความทึบตันของตัวอาคารด้วยประตูบานเฟี้ยมกระจกใสตลอดแนวผนังทำให้สมาชิกในบ้านสามารถมองเห็นความเป็นไปของบ้านอีกหลังได้เสมอ แถมยังช่วยเรื่องการหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน ยิ่งฤดูหนาวหากเปิดประตูบานเฟี้ยมเข้ามุมจนสุดก็สามารถรับลมเย็นสะใจแบบไม่ต้องง้อแอร์ ไปพร้อมๆ กับเทควิวสวนสวยฝีมือคุณพ่อ กับบ่อน้ำที่ชุกชุมไปด้วยปลาในเวลาเดียวกัน !
ไม่ใช่ว่าบ้านไทยๆ จะต้องเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูงเสมอไป และไม่ใช่ว่าสถาปัตยกรรมโมเดิร์นจะตอบสนองการใช้งานในสภาพภูมิอากาศอย่างไทยไม่ได้เสียทีเดียว ในบ้านเรียบง่ายหลังนี้ ยังมีไอเย็นจากสายลมที่พัดผ่านบ่อน้ำหลังบ้านมาสู่สวนกลางบ้าน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ไม่ลืมตอบโจทย์ความเป็นบ้านพักอาศัยในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา