ยุคนี้คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มกลับมามองหาความสุขใกล้ตัว แม้จะได้ทํางานที่ถนัดอยู่แล้วก็ยังเสาะหาทักษะเพื่อช่วยสนับสนุนให้การทํางานที่ตนรักเป็นรูปเป็นร่างดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหมือนกับคู่รักนักออกแบบอย่าง คุณสุเมธ กล้าหาญ สถาปนิกเจ้าของ Materior Studio และ คุณบุ๊ค-วริยา กล้าหาญ เจ้าของแบรนด์รองเท้าหนัง Wariya Shoes & Things ที่สร้างบ้านหลังใหม่ในบ้านเกิดให้เป็น โฮมออฟฟิศ หรือสถานที่สําหรับสร้างสรรค์ผลงานท่ี่ท้ังสองรักได้อย่างมีความสุข
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Materior Studio
“เดิมทีตรงนี้เป็นตึกแถวเก่าให้เช่าบนที่ดินของครอบครัว เมื่อผู้เช่าย้ายออกหมด ประกอบกับสภาพเสื่อมโทรมตามกาลเวลา จึงคิดอยากทําเป็นออฟฟิศ โดยคิดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะแบ่งให้เป็นออฟฟิศสถาปนิกของตัวเองฟากหนึ่ง และสตูดิโอเครื่องหนังของบุ๊คอีกฟากหน่ึง” คุณสุเมธเล่าถึง การออกแบบ โฮมออฟฟิศ แห่งนี้ให้เราฟัง
ไอเดียการออกแบบเริ่มต้นมาจากฟังก์ชันการใช้งานและกิจกรรมของแต่ละคนเป็นหลัก นํามาสู่การออกแบบอาคารหลังใหม่พร้อมกับคอร์ตทางเข้าที่ดูสมมาตร เชื่อมกันด้วยคอร์ตกลางบ้านและแพนทรี่เล็ก ๆ มีทางเข้าสองทาง แยกกันชัดเจนระหว่างคนในบ้านกับแขกผู้มาติดต่องาน ทางเข้าหน้าบ้านเดิมคือทางเดินมาสู่สตูดิโอของคุณบุ๊คซึ่งเป็นพื้นท่ีส่วนตัว ส่วนลูกค้าจะเดินเข้าทาง ฝั่งออฟฟิศสถาปนิกของคุณสุเมธท่ีใช้ต้อนรับและพูดคุยงาน
“อาคารนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงค่อนข้างดัง ข้างหลังเป็นโกดัง ข้างหน้าเป็นถนน จึงขนาบด้วยผนังทึบท้ังสองด้าน ด้านเหนือและใต้เป็นคอร์ต ทางเข้าบ้านเพราะไม่ร้อนมาก พอกําหนดฟังก์ชันภายในบ้านได้แล้ว ก็เลือกเจาะช่องแสงตามฟังก์ชันการใช้งาน ส่วนไหนที่ต้องการแสงก็เจาะตรงน้ัน อย่างห้องน้ําหรือหน้าบ้าน โดยเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะเข้ากับตัวบ้านที่มีความสมมาตร และดูเป็นมินิมัล”
จากถนนหน้าบ้าน จุดสะดุดตาเหนือแนวรั้วสีเขียวคือ ฟาซาดไม้แผงใหญ่ที่กั้นอยู่บริเวณคอร์ตกลางบ้าน ตอนแรกคุณสุเมธอยากให้เป็นอิฐบล็อก แต่สุดท้ายด้วยงบประมาณ น้ําหนักของโครงสร้าง และลุคโดยรวมของบ้าน จึงลงเอยด้วยแผงไม้ที่เป็นหน้ากากของบ้าน แฝงฟังก์ชันช่วยกรองแดดช่วงเช้าไปในตัว
“ประตูหน้าต่างด้านนอกเราเลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีส่วนหนึ่งเป็นบานหน้าต่างแบบสะวิง ซึ่งเป็นไม้เก่าที่รื้อมาจากบ้านเดิม ผสมกับบานท่ีทําขึ้นใหม่แบบเดียวกันแต่มีสีเข้มกว่าเล็กน้อย เรื่องวัสดุนี้เราเน้นให้ประหยัดที่สุด อย่างหน้าต่างมีแค่นี้ก็ใช้เท่านี้ ส่วนด้านในออกแบบเป็นบานเลื่อนกรอบอะลูมิเนียมกรุกระจกเลื่อนเปิดได้จนสุด ซึ่งเวิร์คมากในวันที่เพื่อนๆมาสังสรรค์กันเยอะๆ เพราะสามารถเชื่อมต่อกับคอร์ตกลางบ้านได้เต็มที่”
ความเท่ของ โฮมออฟฟิศ หลังนี้ นอกจากสถาปัตยกรรมภายนอกลุคมินิมัลที่มีหน้าตาเหมือนบ้านมากกว่าออฟฟิศ ยังมีเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้เหมาะกับการใช้งานโดยแท้จริง อย่างโซนออฟฟิศสถาปนิกขนาดเล็ก มีโต๊ะกลางไว้สําหรับเป็นพื้นที่ระดมสมอง หรือจะออกมานั่งพักผ่อนที่คอร์ตกลางก็ทําได้สะดวกสบาย ส่วนช้ันสองของอาคารฝั่งนี้ ในอนาคตแพลนไว้สําหรับเป็นห้องสมุดและแมทีเรียลที่สามารถขยับขยายได้ในอนาคต
คุณบุ๊คช่วยเสริมในส่วนของตัวเองว่า “ส่วนสตูดิโอของเราใช้สําหรับทํางานเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์มีแค่โต๊ะกลางตัวเดียวก็ทํางานได้แล้ว ถ้าสังเกตดีๆ สเกลจะสูงกว่าโต๊ะกลางปกติ เพื่อให้สามารถยืนทํางานหรือตอกหนังได้สะดวก ส่วนไม้ท่ีนํามาทําโต๊ะก็มาจากไม้เก่าที่เก็บไว้หลังบ้าน โดยหลัก ๆ ห้องนี้เราจะใช้ตั้งแต่เขียนแบบ วาดแพตเทิร์น ขึ้นแบบ และปั๊มโลโก้พื้นรองเท้า เรียกว่าชีวิตประจําวันเราอยู่ในห้องนี้เป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้”
โฮมออฟฟิศ แห่งนี้เป็นส่วนช่วยเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตของคนทั้งคู่ ทั้งความสุขจากครอบครัว ความสุขจากการทํางาน และความสุขท่ีได้สร้างสรรค์สิ่งท่ีรักจากสองมือของตัวเอง เท่าน้ีก็นับว่าบ้านได้ทําหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว จริงไหม