โรงเรียนบ้านหนองบัว 1 ใน 9 โรงเรียนจากโครงการ “ห้องเรียนพอดีพอดี” โดยกลุ่ม Design for Disaster ที่ออกแบบโดย Junsekino Architect and Design เพื่อบรรเทาวิกฤตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูดที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่พื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงรายกว่า 73 โรงเรียน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Junsekino A+D
โรงเรียนบ้านหนองบัว เป็นอาคารโครงสร้างเหล็กที่ใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ดเป็นวัสดุหลัก และนำแผ่นหลังคาลอนใสมาใช้ทั้งในส่วนของผนังและหลังคา ด้วยการสะท้อนแสงของฉนวนกันความร้อนที่หลังคายังให้แสงสะท้อนเข้าไปสู่ส่วนใช้งานในตัวอาคารได้อีกด้วย นอกจากพื้นที่ภายในที่แบ่งออกเป็นห้องเรียนได้ถึง 4 ห้องแล้ว ชานด้านหน้าก็ออกแบบมาให้นักเรียนสามารถวิ่งเล่นและนั่งจับกลุ่มทำกิจกรรมกันได้
คุณจูนออกแบบให้ช่องหน้าต่างและรั้วด้านหน้าของอาคารใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ด้วยการที่อยากให้ช่างในท้องที่สามารถดูแลซ่อมแซมได้ง่าย ทั้งการใช้ไม้ไผ่เข้ามาผสม มีเหล็กดัด และผ้าตาข่าย สิ่งเหล่านี้ทำให้สถาปัตยกรรมแลดูกลมกลืนไปกับความเป็นอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนและอาจารย์รู้สึกว่าเป็นเจ้าของอาคารหลังนี้อย่างแท้จริง เพราะคุณจูนเชื่อว่าเราแค่มาช่วยเริ่มซ่อมในสิ่งที่พังทลายไปจากแผ่นดินไหวเพียงเท่านั้น แต่ผู้ที่จะพัฒนาและอยู่กับมันต่อไปก็คือตัวนักเรียนและทุกคนในโรงเรียนนั่นเอง
“อยากให้ทางโรงเรียนสามารถใช้งานห้องเรียนนี้ได้ในประโยชน์อื่น ๆ หลังจากที่ซ่อมแซมโรงเรียนเดิมเสร็จแล้ว จึงออกแบบให้ห้องเรียนแห่งนี้เป็นเหมือน Common Area ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้โดยง่าย” คุณจูน เซคิโน สถาปนิกแห่ง Junsekino Architect and Design เล่าถึงความคิดเริ่มแรกของการออกแบบ โรงเรียนบ้านหนองบัว ห้องเรียนพอดีพอดีแห่งนี้ให้เราฟัง
โรงเรียนบ้านหนองบัวและอีก 8 โรงเรียนที่เหลือนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างโอกาสจากวิกฤตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งโรงเรียนทั้ง 9 แห่งนี้คงจะสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ให้อาคารสาธารณะในเขตแผ่นดินไหวของไทยได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย
โครงการ “ห้องเรียนพอดีพอดี” เกิดจากความร่วมมือของสถาปนิกชื่อดัง 9 ท่าน และกลุ่ม Design for Disaster ในการออกแบบ และสร้างโรงเรียน 9 แห่งขึ้นมาบนคำจำกัดความว่า “พอดี” กล่าวคือเลือกใช้วัสดุ และวิธีการที่ประหยัด หาได้ง่าย และสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว แต่ด้วยการออกแบบที่ดี โรงเรียนเหล่านี้จึงเป็นได้มากกว่าแค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยมธรรมดาที่เราคุ้นเคยกัน
อ่านต่อ: โครงการ “ห้องเรียนพอดีพอดี” ของโรงเรียนทั้ง 8 แห่งที่เหลือได้ที่นี่ (คลิก)
จูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design สถาปนิกที่ขอแข่งกันช้าในโลกยุคดิจิทัล
โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา กับรางวัล The American Architecture Prize 2017
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
เรียบเรียง : ND
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ออกแบบ: Junsekino A+D