GREAT START & GROW STRONGER เริ่มต้นและเติบโต - room

95 AMP HOUSE บ้านชั้นเดียวที่ดูเรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุสุดเนี้ยบ

ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้นอนเอนหลังสบาย ๆ ลงบนโซฟาซึมซับความสงบจากเสียงของฝนฟ้า พร้อมภาพน้ำฝนที่หยาดรินจากชายคากระทบกับผืนหญ้า นี่คือแรงบันดาลใจที่คุณปลั๊ก – พงศธร ศิริเพชร วิศวกรไฟฟ้าหนุ่ม ได้เล่าให้คุณเอก – สาริน นิลสนธิ สถาปนิกแห่ง D_Kwa Architect ฟังถึงภาพที่เขาปรารถนาจะให้เป็นบ้านของครอบครัวร่วมกับคุณอ้อม – นิศากร เตจ๊ะใหม่ คู่ชีวิต

 

LIFE IS ALL DESTINED

อาจจะเหมือนโชคชะตาเล่นตลกอยู่สักหน่อย เมื่อคุณปลั๊กตกหลุมรักที่ดินแปลงนี้ แต่ยังไม่สามารถครอบครองได้ทันทีเพราะทำอย่างไรเจ้าของก็ไม่ยอมขาย “ทำเลตรงนี้ผมมาดูกับคุณเอกเมื่อสองสามปีก่อน ความประทับใจแรกคือ ต้นแก้วซึ่งทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงตอนวัยเด็ก ซึ่งผมอยู่กับวัดอยู่กับเพื่อน เป็นเวลาที่มีความสุขมาก ๆ” นอกจากเรื่องความทรงจำแล้ว ทำเลที่ตั้งยังสะดวกสบาย เพราะในรัศมีโดยรอบ 3 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับที่ทำงานและเส้นทางกลับบ้านเกิดของเขากับภรรยา รวมถึงมีสาธารณูปโภคครบครัน ทั้งโรงพยาบาล ตลาด ร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ ด้วยเหตุนี้คุณปลั๊กจึงปักใจชอบย่านนี้เป็นพิเศษ

หลังจากตัดสินใจแล้วว่า ถ้าไม่ได้ที่ดินตรงนี้ก็จะยังไม่สร้างบ้าน แต่อยู่ ๆ โชคก็เข้าข้างเขา เมื่อพบว่าที่นี่ประกาศขายพอดี เขาจึงไม่ลังเลที่จะชักชวนคุณเอกซึ่งเคยทำงานร่วมกันมาหลายโปรเจ็กต์มารับหน้าที่เป็นสถาปนิกให้กับบ้านหลังแรก “ผมชอบความละเอียดของเขาที่ลงลึกถึงการออกแบบฟังก์ชันต่าง ๆ ประกอบกับผมเป็นคนละเอียดในการทำงานเหมือนกัน จึงค่อนข้างเข้ากันได้ดี” เมื่อทุกอย่างลงตัว บ้านหลังนี้ก็ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

1-1
ข้างบ้านเปิดเป็นประตูทางเข้าสำหรับแขก ต้อนรับด้วยต้นไม้สูงใหญ่ร่มรื่น นำสู่คอร์ตกลางบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่สวนและบ่อปลา

 

FINE IMPERFECTION

95 AMP House คือชื่อของบ้านที่คุณปลั๊กตั้งขึ้น นอกจากฟังดูเท่แล้ว ยังแทรกความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น เขาเล่าถึงที่มาให้เราฟังว่า “95 คือจำนวนที่ไม่เต็มร้อย เพราะไม่มีอะไรในโลกที่จะเพอร์เฟ็กต์ทุกอย่าง และอีกอย่างแฟนบอกว่าเป็นเลขดี ส่วน AMP ก็คือตัวย่อชื่อ อ้อมกับปลั๊ก และเป็นชื่อเรียกหน่วยไฟฟ้า” แค่ชื่อก็บ่งบอกว่าเจ้าของบ้านให้ความใส่ใจในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างร่วมกับสถาปนิกอย่างละเอียด จนกระทั่งทุกอย่างออกมาราบรื่นเป็นอย่างที่ใจต้องการ

โดยในระหว่างการทำงานสถาปนิกได้ถอดไลฟ์สไตล์ของเจ้าของมาสู่การออกแบบบ้านได้อย่างน่าสนใจ คำนึงถึงการใช้งานเป็นหลัก “โจทย์จากเจ้าของบ้านเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ที่เขาอยากได้หลัก ๆ คือบ้านชั้นเดียว มีมุมทำงานในบ้านการาจสำหรับช่างไฟซึ่งเป็นงานอดิเรก และมีบ่อปลาในบ้านแต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัดจึงจำเป็นต้องวางแปลนบ้านตามแนวยาวของที่ดิน แล้วแทรกคอร์ตสวนให้อยู่หลังบ้านทางฝั่งทิศตะวันออกเพื่อให้ได้รับแสงอ่อน ๆ ยามเช้า และช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี สามารถออกมาใช้งานได้ทั้งวัน ส่วนพื้นที่เซอร์วิสต่าง ๆ จะอยู่ทางทิศตะวันตกทั้งหมด”

 

คอร์ตกลางจัดเป็นพื้นที่บ่อปลา ฟังก์ชันแรก ๆ ที่คุณปลั๊กอยากให้มีในบ้านหลังแรกของเขา
คอร์ตกลางจัดเป็นพื้นที่บ่อปลา ฟังก์ชันแรก ๆ ที่คุณปลั๊กอยากให้มีในบ้านหลังแรกของเขา

 

พื้นที่ทำงานที่หันผนังกระจกออกสู่สวนกลางบ้านและบ่อปลา เพื่อทอดสายตายามเหนื่อยล้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
พื้นที่ทำงานที่หันผนังกระจกออกสู่สวนกลางบ้านและบ่อปลา เพื่อทอดสายตายามเหนื่อยล้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์

 

คุณปลั๊กเล่าเสริมว่า “นอกจากเรื่องห้องต่าง ๆ ผมยังอยากมีบ่อปลา จึงบอกไปว่าอยากให้ทุกส่วนของบ้านมองเห็นบ่อปลาได้ และนอกจากนี้ยังอยากให้บ้านเป็นสถานที่สำหรับผู้อยู่จริง ๆ จึงออกแบบให้มีคอร์ตยาร์ดอยู่หลังบ้าน ทางทิศตะวันออก ซึ่งใช้ได้เลย พอหลังสี่โมงเย็นพระอาทิตย์ก็จะหายไป เหลือแต่แสงยามเย็นสวย ๆ ทำให้เกิดโซนที่ใช้ชีวิตได้จริง ๆ”

ส่วนหน้าตาของบ้าน คุณปลั๊กไม่อยากได้บ้านที่มีหน้าตาเหมือนบ้านจัดสรรหรือบ้านดีไซน์หวือหวาโฉบเฉี่ยวจนเกินไปจึงออกมาเป็นบ้านที่ดูเรียบง่าย โดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุสุดเนี้ยบ จุดสะดุดตาคือผนังปูนเปลือยแผ่นใหญ่ตรงส่วนนั่งเล่น “เพราะโนฮาวผมไม่พอสำหรับงานปูน การทำปูนเรียบจึงเป็นเรื่องยากมาก แต่ผมก็ยังฝืนใช้ จนออกมาเหมือนรูปแผนที่แอฟริกาใต้ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้รู้สึกเฟล กลับได้เรียนรู้ว่าความเต็มร้อยในโลกนี้ไม่มีหรอก”

ผนังปูนเปลือยที่เดิมตั้งใจให้เป็นผนังปูนเรียบ ๆ แต่หลังจากแกะไม้แบบออกกลับเป็นจุดบกพร่องที่ดูคล้ายแผนที่แอฟริกาใต้ สร้างความพิเศษจนกลายเป็นจุดจดจำไปในที่สุด
ผนังปูนเปลือยที่เดิมตั้งใจให้เป็นผนังปูนเรียบ ๆ แต่หลังจากแกะไม้แบบออกกลับเป็นจุดบกพร่องที่ดูคล้ายแผนที่แอฟริกาใต้ สร้างความพิเศษจนกลายเป็นจุดจดจำไปในที่สุด

 

มุมรับแขกหน้าโทรทัศน์เป็นมุมประจำที่คุณอ้อมและคุณปลั๊กชอบ ทั้งคู่มักใช้ชีวิตอยู่ในส่วนนี้ มากที่สุด เพราะได้นอนเอกเขนกอ่านหนังสือ ชมธรรมชาตินอกบ้าน ส่วนฝ้าเพดานที่เว้นช่องวงกลมไว้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ไม้ใหญ่ชูต้นต่อขึ้นไป แต่เมื่อยังหาต้นที่ถูกใจไม่ได้ จึงแขวนเฟินไปพลาง ๆ
มุมรับแขกหน้าโทรทัศน์เป็นมุมประจำที่คุณอ้อมและคุณปลั๊กชอบ ทั้งคู่มักใช้ชีวิตอยู่ในส่วนนี้มากที่สุด เพราะได้นอนเอกเขนกอ่านหนังสือ ชมธรรมชาตินอกบ้าน ส่วนฝ้าเพดานที่เว้นช่องวงกลมไว้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ไม้ใหญ่ชูต้นต่อขึ้นไป แต่เมื่อยังหาต้นที่ถูกใจไม่ได้ จึงแขวนเฟินไปพลาง ๆ

 

มุมมองจากทางเข้าบ้านฝั่งโรงรถผ่านผนังกระจกใส ช่วยให้ห้องเล็ก ๆ นี้ไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด
มุมมองจากทางเข้าบ้านฝั่งโรงรถผ่านผนังกระจกใส ช่วยให้ห้องเล็ก ๆ นี้ไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด

 

BIG DREAM BECOMES TRUE

บริเวณชายคาหน้าบ้านมีแต่เสาโครงสร้าง เป็นอีกจุดที่สร้างปริศนาให้หลายคนที่มาเยี่ยมเยือน ว่าทำไมจึงไม่เทปูนหลังคาสแล็บให้เต็มพื้นที่ ทำให้ดูเหมือนบ้านยังไม่เสร็จ ตรงนี้มีคำตอบว่า เป็นฟังก์ชันสำหรับให้ต้นไม้สอดแทรกลำต้นขึ้นไปแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงา เพียงแต่ยังรอต้นไม้ที่เข้ากับบ้านและถูกใจเจ้าของเท่านั้น ตอนนี้จึงแขวนกระถางเฟินไปพลาง ๆ ก่อน

“ผมอยากมีปฏิสัมพันธ์กับต้นไม้เหมือนที่มีกับบ่อปลาไม่ใช่แค่สวย แต่เอาไว้นั่งดู ได้ยินเสียงเวลาใบไม้ลู่ลม ดูแฟนเวลารดน้ำต้นไม้ เป็นที่มาของการเปิดพื้นที่สวนทั้งหมดเข้าหาส่วนพักอาศัยในบ้านตั้งแต่ห้องนั่งเล่นไปจนถึงห้องนอน”

ห้องนอนอยู่ฝั่งติดถนน หลีกหนีจากอีกฝั่งที่เป็นส่วนที่มีมลภาวะเรื่องกลิ่นและเสียงมากกว่า ประกอบ กับเป็นทิศเหนือจึงเหมาะกับการเป็นห้องนอน มีความเป็นส่วนตัว เปิดมุมมองออกสู่บรรยากาศคอร์ตยาร์ดของบ้านได้
ห้องนอนอยู่ฝั่งติดถนน หลีกหนีจากอีกฝั่งที่เป็นส่วนที่มีมลภาวะเรื่องกลิ่นและเสียงมากกว่า ประกอบกับเป็นทิศเหนือจึงเหมาะกับการเป็นห้องนอน มีความเป็นส่วนตัว เปิดมุมมองออกสู่บรรยากาศคอร์ตยาร์ดของบ้านได้

 

พื้นที่ครัวต้องการใช้เป็นครัวหนักประกอบอาหารไทย สถาปนิกจึงเลือกใส่ช่องลมเพื่อช่วยระบายกลิ่นและควันรวมทั้งไม่จัดวางสิ่งใดขวางทิศทางลมเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี
พื้นที่ครัวต้องการใช้เป็นครัวหนักประกอบอาหารไทย สถาปนิกจึงเลือกใส่ช่องลมเพื่อช่วยระบายกลิ่นและควันรวมทั้งไม่จัดวางสิ่งใดขวางทิศทางลมเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี

 

นอกจากบรรยากาศที่น่าอยู่ บ้านหลังนี้ยังทำให้คุณปลั๊กได้มองเห็นสิ่งหนึ่งในตัวที่เขาไม่เคยสังเกตมาก่อน “เพราะอยู่ในบ้านจนเคยชิน ผมจึงลืมไปเลยว่าบ้านหลังนี้สำคัญมากแค่ไหน อย่างหนึ่งคือมันช่วยผลักดันให้ผมก้าวพ้นขีดความสามารถของตัวเอง เพราะการทำบ้านหลังนี้ ผมต้องระดมทรัพยากร เงิน และทุกอย่างเพื่อสร้างขึ้นมา แต่พอสร้างเสร็จผมเริ่มไม่มีความฝันแล้ว เพราะฝันที่ใหญ่ที่สุดก็ทำได้แล้วแล้วเป้าหมายต่อไปคืออะไร ทำให้ผมเข้าใจความหมายของชีวิตว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผมเลย ตอนนี้ผมกำลังรอทำสิ่งที่ใหญ่กว่า สำหรับบ้านผมมองว่าเหมือนเป็นการก่อกำเนิด จะเติบโตขึ้นไปอย่างไร ก็อยู่ที่เราจะเติมสิ่งของต่าง ๆ และได้เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันต่างหาก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหลายปี”

กำแพงบ้านเป็นปูนเปลือยเหมาะกับทุกสภาพอากาศ เว้นระยะห่างเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อการระบายอากาศที่ดี ไม่รู้สึกทึบตันเกินไป ส่วนประตูตะแกรงเหล็กฉีกสีดำ เข้ากันได้ดีกับศาลพระภูมิดีไซน์โมเดิร์น
กำแพงบ้านเป็นปูนเปลือยเหมาะกับทุกสภาพอากาศ เว้นระยะห่างเป็นช่องเล็ก ๆ
เพื่อการระบายอากาศที่ดี ไม่รู้สึกทึบตันเกินไป ส่วนประตูตะแกรงเหล็กฉีกสีดำ เข้ากันได้ดีกับศาลพระภูมิดีไซน์โมเดิร์น

 

หลังจากลงแรงลงใจกับทุกพื้นที่ของบ้าน ความสุขสบาย และอิ่มเอมใจตลอดระยะเวลาที่อยู่อาศัยก็น่าจะเป็นคำขอบคุณที่บ้านหลังนี้มอบกลับคืนให้กับคุณปลั๊กและคุณอ้อมเช่นเดียวกัน

 

ชิงช้าสองตัวผูกรอไว้ ระหว่างยังหาต้นไม้ใหญ่มาปลูกเป็นร่มเงาให้บ้าน เป็นพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ที่คุณอ้อมและคุณปลั๊กใช้งานจริง
ชิงช้าสองตัวผูกรอไว้ ระหว่างยังหาต้นไม้ใหญ่มาปลูกเป็นร่มเงาให้บ้าน เป็นพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ที่คุณอ้อมและคุณปลั๊กใช้งานจริง

เจ้าของ :  คุณพงศธร ศิริเพชร และคุณนิศากร เตจ๊ะใหม่
ออกแบบ : คุณสาริน นิลสนธิ D_Kwa Architect
โทร. 08-9552-4591
www.facebook.com/DeeKwa71


เรื่อง :skiixy
ภาพ :ดำรง, ศุภกร
สไตล์ : ประไพวดี
คอลัมน์ : room to room
room magazine : July 2016 No.161