เปิดตัวกันไปอย่างเกรียวกราวกับโครงการ ICONSIAM จากแนวคิดที่ต้องการนำเสนอความเป็นไทยให้เป็นจุดหมายใหม่ของโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของดีไซน์ไทยๆ ที่ถูกตีความและประยุกต์ให้เข้าไปกับบริบทใหม่ และนี่คือเรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้ ถึงที่มาที่ไปและความหมายของสิ่งที่คุณเห็น
ฟาซาดกระจก กระทง และสไบ
ภาพแรกที่ผู้คนนึกถึง ICONSIAM ในตอนนี้คือตัวอาคารด้านหน้าที่เป็นกระจกหันออกสู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นโครงสร้างกระจกโดยไม่มีเสาหรือเฟรมที่ยาวที่สุดในโลก สูงราว 24 เมตร ออกแบบโดย Urban Architects ของไทย และสร้างโดย Seele จากเยอรมัน ความพริ้วรอบตัวอาคารนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสไบอันสวยงามของหญิงไทย ส่วนด้านบนตรงกลางที่เป็นกระจกมุมแหลมนั้น มีที่มาจากการจับจีบพับกระทง มีนัยยะเสมือนเป็นการบูชาแม่น้ำสายประวัติศาสตร์แห่งนี้อยู่นั่นเอง
แชนเดอเลียร์พวงมาลัย
แชนเดอเลียร์พวงมาลัย Lasvit บริษัทดีไซน์แชนเดอเลียร์จากสาธารณรัฐเช็ก สร้างงานเฉพาะขึ้นมาใหม่โดยการตีความพวงมาลัยที่ร้อยจากดอกรักและดอกมะลิ ให้กลายเป็นแชนเดอเลียร์แก้วตรงโถงทางเข้า เพื่อแทนการต้อนรับด้วยพวงมาลัยอันปราณีตของคนไทย
เสาลายกระหนกโดย อ.ปรีชา เถาทอง
เสาตรงหน้าอาคารในส่วน ICONLUXE ได้รับเกียรติจาก อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรม ทำงานในพื้นที่สาธารณะเป็นครั้งแรก และยังได้ร่วมกับ Haberdashery จากลอนดอนในการออกแบบประติมากรรมบนเพดาน ที่คลี่คลายจากลวดลายไทยบนเสา สร้างเป็นเส้นนำสายตาไปสู่เสาอีกต้นซึ่งอยู่ในส่วนด้านหน้า
ของดีสี่ภาคใน SOOKSIAM
พื้นที่ส่วนที่คึกคักไปด้วยของดีจากภาคต่างๆ ของไทย การตกแต่งของที่นี่จึงมีการดึงงานหัตถกรรมเข้ามาตกแต่งหลายจุด อาทิ โคมไฟผ้าบาติก และร่มเชียงใหม่ที่ออกแบบโดย Trimode ทำงานร่วมกับชุมชนผู้ผลิต หรือเสาที่ออกแบบโดย คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ ที่ใช้เทคนิกแบบการทำกรงนกของภาคใต้ งานผ้าอีสานที่ตกแต่งเป็นไฟแขวนเพดาน เป็นต้น
เครื่องจักสานใน ICONCRAFT และสินค้าระดับรางวัล
บนชั้น 4 และ 5 มีพื้นที่ที่ขายสินค้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทย ซึ่งคัดสรรมาโดยเฉพาะส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากแบรนด์ที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีงาน Installation จากศิลปินและนักออกแบบโชว์กันในโซนนี้ด้วย พื้นที่ส่วนนี้ รวมทั้งเสาและเส้นสายโค้งในการตกแต่งทั้งหมดเป็นรูปทรงนามธรรม ซึ่งมีที่มาจากเครื่องจักสานทำมือ ออกแบบโดยคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค แห่ง DBALP
โครงว่าวและเศษเหล็ก กับเพดานหรู
โซนร้านอาหารติดกระจกรับวิวแม่น้ำ บนเพดานด้านบนมีการตกแต่งได้อย่างน่าตื่นตา จากโคมไฟไม้ไผ่ที่ประยุกต์มาจากการขึ้นโครงว่าว ออกแบบโดยคุณกรกต อารมย์ดี ดีไซเนอร์จากเพชรบุรีที่สร้างชื่อมากมายในต่างประเทศ ทำงานร่วมกับคุณศรุตา เกียรติภาคภูมิ ดีไซเนอร์ที่ออกแบบโคมไฟจากเศษเหล็กที่เหลือในโรงงานปั๊มเหล็กของทางบ้าน
ดีไซเนอร์ไทยในร้านหลุยส์ วิตตอง
นับเป็นครั้งแรกที่หลุยส์ วิตตอง ยอมให้มีการทำงานร่วมกันกับนักออกแบบท้องถิ่น ที่ไม่ได้มาจากส่วนกลาง ฉากหลังที่เป็นเชือกถัก เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างอาร์มแชร์ ที่นั่งใส่รองเท้า และโต๊ะกลางภายในร้านหลุยส์ วิตตอง ICONSIAM นี้ เป็นผลงานออกแบบของ คุณสุวรรณ คงขุนเทียนแห่งแบรนด์ Yothaka ส่วนฝ้าเพดาน ออกแบบโดยคุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นักออกแบบสิ่งทอมือวางอันดับต้นๆ ของไทย
ไอเท็มลับ นาข้าวและพาวิลเลี่ยน บนชั้น 6
พื้นที่ต่างๆ ใน ICONSIAM นั้น ยังไม่ได้เปิดให้บริการหมด ที่เห็นได้ชัดเจนคือพื้นที่ชั้น 6 ซึ่งยังมีการคลุมผ้าก่อสร้างงานกันอยู่ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปลายปีนี้ พื้นที่นี้ถูกวางไว้ให้เป็นร้านอาหารในคอนเซ็ปต์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว โดยจะมีพาวิลเลี่ยนที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวไทยอยู่หลายคน นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจับตามองทีเดียว เนื่องจากคอนเซ็ปต์ความเป็นไทยแบบดั้งเดิม อีกหลายอย่างกำลังจะถูกเล่น ตีความ และสร้างให้เป็นงานขึ้นมาในบริบทของไทยในปัจจุบัน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ที่จะส่งต่อไปสู่อนาคตของแม่น้ำสายนี้
เรื่อง สมัชชา วิราพร
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
One Bangkok พลิกโฉมวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยแบบก้าวกระโดด
เปิดตัวอลังการ สุดยอดตึกที่(เคย)สูงที่สุดในกรุงเทพ “ตึกมหานคร”