NOW SCREENING IN KYOTO ภาพฉายใหม่ในวัฒนธรรมเดิม - room life
Kyoto International Film and Art Festival

NOW SCREENING IN KYOTO ภาพฉายใหม่ในวัฒนธรรมเดิม

หากพูดถึงเกียวโตเชื่อว่าหลายคนน่าจะจินตนาการถึงภาพของเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง

แต่ครั้งนี้เรามาเยือนเกียวโตเพื่อร่วมงาน Kyoto International Film and Art Festival ซึ่่งปีนี้จัดขึ้นในคอนเซปป์ “Now Screening in Kyoto” เพื่อตั้งใจจะบอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวในวงการภาพยนตร์และศิลปะร่วมสมัยกำลังเกิดขึ้นที่นี่ โดยได้กระจายการจัดงานไปตามจุดสำคัญๆในเมืองทำให้ผู้มาเยือนจากทั่วโลกได้มีโอกาสชื่นชมความงดงามของงานศิลปะหลากหลายแขนงไปพร้อมๆกับสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่จากสถานที่และวิถีชีวิตของผู้คนท่ามกลางกลิ่นอายวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่อบอวลอยู่ทั่วทั้งเมือง

1.สำรวจงานศิลปะในโรงเรียน

เริ่มต้นด้วยปฎิบัติการเปลี่ยนพื้นที่โรงเรียนประถม (Former Junpu Elementary School) ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ที่รวบรวมผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่จะชวนคุณย้อนรำลึกถึงความฝันและมุมมองของศิลปะของตัวเองในสมัยเยาว์วัยในธีม “Be Dreamy” ซึ่งความน่าสนใจของงานนี้อยู่ที่การติดตั้งงานกระจายอยู่ทั่วพื้นที่โรงเรียน ทำให้ผู้มาเยือนได้รับประสบการณ์อันแปลกใหม่ เพราะนอกจากผู้มาเยือนจะได้ชมงานศิลปะที่มีกลิ่นอายความเป็นเด็กเต็มเปี่ยมไปด้วยความสดใสและสนุกสนานแล้ว ยังได้ตื่นเต้นการชมอาคารเก่าที่มี อายุร่วม 150 ปีไปพร้อมๆกันอีกด้วย เชื่อว่าการชมภาพที่ติดตั้งอยู่ในห้องอาบน้ำ การนั่งบนเก้าอี้นักเรียนตัวเล็กๆเพื่อดูหนังสั้นที่ฉายอยู่ในห้องเรียน น่าจะสร้างความประทับใจและช่วยปลุกความทรงจำในวันเด็กของผู้ชมให้หวนกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

 Kyoto International Film and Art Festival
มิ้นและม่านมุกสองสาวจากวง SWEAT16! ผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ใน Kyoto International Film and Art Festival
Kyoto International Film and Art Festival
สองศิลปินกำลังสร้างงานศิลปะด้วยการเรียงแก้วกระดาษในห้องเรียน
Kyoto International Film and Art Festival
อ่างล้างมือล้างหน้าภายในอาคารที่ถูกแปลงสภาพเป็นที่ติดตั้งแสดงงานศิลปะ
“Giant’s Tooth” Makiko Yamamoto Kyoto International Film and Art Festival
“Giant’s Tooth” งานศิลปะที่เล่นสนุกกับตำนานเรื่องยักษ์ของญี่ปุ่น ผลงานของ Makiko Yamamoto
Kyoto International Film and Art Festival
“Teddy Bear Art Made with ¥10,000” โปรเจคที่ชวนศิลปินมาร่วมสร้างตุ๊กตาหมีในแบบของตัวเองภายใต้เงื่อนไขว่าราคาของวัสดุทั้งหมดต้องไม่เกินหนึ่งหมื่นเยน

2. พิธีชงชาในบ้านลับหลังศาลเจ้า

ศาลเจ้ายาซากะ (Yasaka Shrine) เป็นอีกหนึ่งในเชคลิสต์สำหรับนักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่มาเยือนเกียวโต แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าบริเวณเนินนิเน็นซากะที่อยู่ด้านหลังศาลเจ้าจะมี บ้านไม้หลังเล็กๆที่ชื่อ“Camellia Tea Ceremony“ซ่อนตัวอยู่ ทันทีที่ผู้มาเยือนเปิดประตูบานเลื่อนเข้าสู่ภายในก็จะพบกับบรรยากาศเป็นบ้านไม้แบบญี่ปุ่นโบราณโดยมีเจ้าของบ้านออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น ก่อนที่จะพาขึ้นมานั่งล้อมวงกันบนเสื่อตาตามิบนชั้นสอง เพื่อรับชมท่วงท่างดงามอ่อนช้อยในพิธีชงชาอันละเอียดอ่อนพร้อมเรียนรู้ขั้นตอนการดื่มชาตั้งแต่การสัมผัสถ้วยชา การดมกลิ่น ไปจนถึงการรับรสชาตอย่างถูกต้อง ไม่แน่ใจว่าด้วยบรรยากาศอุณหภูมิในถ้วยชาที่ตัดกับความเย็นของอากาศภายนอกที่ทานแกล้มกับขนมหวานเมนูพิเศษที่ไม่เหมือนกันในแต่ละวันที่ทำให้ชาถ้วยเล็กๆกลายเป็นประสบการณ์พิเศษสุดละมุนละไม

ห้องชงชา
บรรยากาศในห้องชงชาซึ่งช่องแสงที่ติดที่ขอบด้านบนของผนังเพื่อเปิดรับแสงแดดอันอบอุ่นโดยไม่รบกวนสายตาผู้ใช้งานในห้องซึ่งนั่งกับพื้นตลอดเวลา
เจ้าของบ้านจะทำขนมไว้ทานคู่กับชาซึ่งจะเปลี่ยนเมนูไปในแต่ละวัน
เจ้าของบ้านจะทำขนมไว้ทานคู่กับชาซึ่งจะเปลี่ยนเมนูไปในแต่ละวัน

3. งานศิลปะชุดสุดท้ายในพิพิธภัณฑ์ชื่อตลอดกาล

ย่านกิออนไม่ได้มีแค่เพียงชื่อเสียงแค่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่เต็มไปด้วยอาคารไม้เก่าอันงดงามและร้านอาหารที่มีการแสดงของเกอิชาเท่านั้น เพราะเมื่อเดินไปจนสุดปลายถนน Hanami Koji จะต้องสะดุดตากับฟักทองสีเหลืองดำขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านโดยมีฉากหลังเป็นอาคารไม้แบบญี่ปุ่นโบราณ เดิมทีอาคารแห่งนี้เป็นโรงละครมาก่อนแต่ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ในชื่อ Forever Museum of Contemporary Art บรรยากาศภายในจึงสัมผัสได้ถึงความขลังของตัวอาคารเดิมไปพร้อมๆกับความตื่นตาตื่นใจกับงานศิลปะที่แทรกอยู่ในห้องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เรามาเยือนที่นี่กำลังแสดงงานของยาโยอิ คุซามะ เจ้าแม่ลายจุดในตำนาน สีสันและลวดลายที่ฉูดฉาดบนชิ้นงานป๊อบอาร์ตแบบโมเดิร์นที่ตัดกับสถาปัตยกรรมอันเคร่งขรึมยิ่งทำให้สัมผัสได้ถึงความกลมกล่อมของส่วนผสมที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำลังจะหมดสัญญาและหยุดให้บริการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้แล้ว ใครมีโอกาสไปเกียวโตช่วงนี้แนะนำว่าไม่ควรพลาด

Forever Museum of Contemporary Art
ฟักทองสีเหลืองลูกยักษ์ที่โดดเด่นสะดุดตาตัดกับฉากหลังดึงดูดผู้มาเยือนทุกคนให้เข้าไปด้านใน
Forever Museum of Contemporary Art
ภายในพื้นที่แสดงงานเปิดให้ถ่ายภาพได้พียงบางจุดเท่านั้น ซึ่งห้องสีแดงที่มีรายล้อมด้วยกระจกรูปวงกลมห้องนี้เป็นห้องที่มีคนถ่ายรูปมากที่สุด
Museum cafe Forever Museum of Contemporary Art
Museum cafe คาเฟ่ในบรรยากาศสบายๆที่อยู่ใจกลางพิพิธภัณฑ์
Forever Museum of Contemporary Art
เรือสีสันสดใสที่เย็บขึ้นจากผ้าวางอยู่บนเวทีแสดงละครซึ่งเป็นห้องแสดงงานห้องสุดท้ายถือเป็นงานชิ้นไฮไลท์ของนิทรรศการนี้

4. “ฮานาโกะ”เด็กสาวในความทรงจำ

ผ่านไปย่านสวนสาธารณะ Okazaki เชื่อว่าทุกคนต้องสะดุดตากับตุ๊กตาเด็กผู้หญิงไม่มีแขน (Kokeshi) ของเล่นสุดคลาสสิคในอดีตที่ชาวญี่่่ปุ่นทุกบ้านต้องมี ตุ๊กตาเด็กสาวหน้าตาน่ารักขนาดยักษ์ตัวนี้ เป็นผลงานของ Yotta ซึ่งแปลงโฉมตุ๊กตาไม้แบบดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 150 ปีให้กลายเป็นบอลลูนขนาดยักษ์ที่มีความสูง 12 เมตร เพื่อชวนให้ผู้ชมงานรำลึกถึงของเล่นสุดรักของหลายๆคนในวัยเด็กที่ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมและถูกหลงลืมไปด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่

Forever Museum of Contemporary Art
สีสันและลวดลายบนชุดของฮานาโกะเป็นสีสันที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของธรรมชาติในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น
บริเวณที่จัดแสดง “ฮานาโกะ” เป็นลานโล่งที่มีฉากหลังเป็นการพบกันของอาคารที่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมสไตล์ญี่ปุ่นและอาคารสมัยใหม่

5. มังกรยักษ์บนฝ้าเพดาน

วัดเคนนินจิเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในโตเกียวเพราะเป็นวัดนิกายเซนที่เก่าแก่ที่สุดในเกียวโต ซึ่งนอกเหนือจากความน่าสนใจในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว ภายในวัดยังมีงานจิตรกรรมหมึกดำบนกระดาษที่มีอิทธิพลของงานศิลปะแบบจีนที่ปรากฎอยู่ตามส่วนต่างๆ เป็นภาพวาดมนุษย์ สัตว์ เทพเจ้า และธรรมชาติ ไม่เพียงแค่มีความสวยงามด้วยเส้นสายที่อ่อนช้อยสมจริงเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยแง่คิดและหลังคำสอนที่เป็นปริศนาธรรมในแบบเซนอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในภาพวาดที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่คือภาพวาด Souryuzu เป็นภาพเขียนอันทรงพลังของมังกรคู่หนึ่งที่พ่นลมหายใจออกมาเป็นเปลวไฟ ซึ่งมีขนาด 108 เสื่อ (11.4 x 15.7 เมตร) ติดตั้งอยู่บนฝ้าเพดานของหอพระธรรม ผลงานของKoizumi Junsaku ซึ่งวาดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2002 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองที่วัดที่มีอายุครบรอบ 800 ปี เพื่อสื่อความหมายถึงการปกป้องคุ้มครองวัดจากอันตรายต่างๆ

Forever Museum of Contemporary Art
ภาพวาดเทพเจ้าสายฟ้าและเทพสายลมที่อยู่ (Fujin Raijin)ผลงานของ Tawaraya Sotatsu ซึ่งวาดขึ้นในสมัยเอโดะ ซึ่งปัจจุบันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติของญี่ปุ่นเปิดให้รับชมได้อย่างใกล้ชิด
Forever Museum of Contemporary Art
ภาพมังกรคู่ขนาดใหญ่ที่อยู่บนฝ้าเพดานดูยิ่งใหญ่และทรงพลังเมื่อแหงนมองจากด้านล่าง
ภายในวัดมีห้องคัดลอกพระไตรปิฎกซึ่งเปิดให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้

ขอขอบคุณ บริษัท โยชิโมโต้ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (ไทยแลนด์)  ผู้สนับสนุนการเดินทาง