10 เหตุผลที่งานฝีมือเปี่ยมพลังใจ ยืนหยัดได้ในโลกทุนนิยมที่ DESIGN WEEK KYOTO

10 เหตุผลที่งานฝีมือเปี่ยมพลังใจ ยืนหยัดได้ในโลกทุนนิยมที่ DESIGN WEEK KYOTO

ปลายฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการจัดงานเกียวโต มาราธอน ในขณะที่กลุ่มนักวิ่งกำลังพยายามวิ่งอย่างสุดฝีเท้าไปตามท้องถนนรอบเมืองเกียวโต กลุ่มนักออกแบบและช่างฝีมือจากทั่วทุกมุมของเมืองหลวงแห่งประวัติศาสตร์นี้ ก็กำลังพยายามอย่างสุดพลังไปกับการผลิตและออกแบบหัตถอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมให้วิ่งทันกระแสโลกที่เปลี่ยนผันไปอย่างรวดเร็ว

KYOTO DESIGN WEEK

งาน Design Week Kyoto ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-24 กุมภาพันธ์ 2019 ช่างฝีมือหลายแขนงที่แฝงตัวอยู่ในอาคารเก่าแก่สไตล์ญี่ปุ่นทั่วเกียวโตจะเปิดบ้านต้อนรับผู้สนใจเป็นกรณีพิเศษ ไกจินผู้อยากรู้อยากเห็นอย่างฉัน ซึ่งชอบสงสัยว่ามีอะไรซ่อนอยู่หลังประตูของอาคารรูปทรงเก่าแก่ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “เคียวมาจิยะ”* จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าดั้งเดิมของญี่ปุ่นแบบ Factory Tours ดังนี้ 

  • โรงผลิตธูป SHOYEIDO INCENSE CO. 香老舗松栄堂
  • Working space สำหรับผู้รักการสร้างสรรค์ผลงานประเภทสามมิติ CASTEM KYOTO
  • โรงพิมพ์ Syubisya修美社
  • โรงงานผลิตฟุตง (ฟูกนอนแบบญี่ปุ่น) อันมีประวัติยาวนาน KYOTO KITAGAWA SILK-DUVET. Co.,Ltd. 株式会社北川商店
  • โรงงานผลิตยางรักและเครื่องเขิน SATO KIYOMATSU-SHOTEN株式会社佐藤喜代松商店
  • สตูดิโอเพ้นต์ลายกิโมโน RITOFU/ Tomihiro Hand-Dyeing Yuzen Co.,Ltd. 富宏染工株式会社
  • โรงงานผลิตเครื่องโลหะ Chikueidou Co.,Ltd. 株式会社竹影堂
  • Material Meetup KYOTO vol.2 จัดโดย MTRL KYOTO กลุ่มนักออกแบบที่รวมตัวกันในนาม Elements กับการจัด Guest Speaker บรรยายถึงการทดลองผลงานของพวกเขาบนวัสดุต่าง ๆ ด้วยวิธีการใหม่ ๆ
  • Creative Session Vol.6- “The possibilities of Japanese manufacturing that the designers of the world in the field felt” โดยเชิญ Guest Speaker จากฮ่องกง มาบรรยายถึงผลงานการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะหัตกรรมญี่ปุ่น 

การร่วมทัวร์ชมโรงงานและรับฟังบรรยายของฉันครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับงานฝีมือแขนงต่าง ๆ ของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจซ่อนอยู่ในทุกที่ที่ไป บางคอนเซ็ปต์อาจเหมาะนำไปลองปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือต่อยอดไอเดียไปใช้กับการทำงานได้  จึงขอสรุปเป็นข้อย่อย ๆ ดังนี้ 

1. เก่ากับใหม่ไม่ทะเลาะกัน

คำว่า งานหัตถกรรม” อาจชวนให้นึกถึงภาพของความเก่าคร่ำคร่า แต่ในความเก่าแก่นั้น กลับเปิดพื้นที่ให้แนวคิดทันสมัยได้โลดแล่น ไม่เพียงแค่รูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่โรงงานผลิตธูป SHOYEIDO INCENSE CO.ในไลน์การผลิตแบบพรีเมียม ที่นี่เขายังคงใช้กระบวนวิธีการทำงานและเครื่องมือที่ไม่ต่างจากอดีต ชนิดที่ว่าสามารถเทียบได้จากภาพถ่ายในอดีตแบบภาพต่อภาพ ในขณะที่แพ็กเกจและการนำเสนอสินค้ากลับดูทันสมัย ที่สำคัญที่นี่ไม่เพียงอาศัยแค่ทำตามความรู้จากอดีต แต่ในการผลิตเขายังสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ว่าทำไมจึงมีวิธีผลิต หรือเลือกใช้วัสดุชนิดนี้ เป็นการสร้างเรื่องราวและมูลค่าให้แก่ตัวสินค้าแบบที่ใครก็พร้อมยินดีจ่าย 

KYOTO DESIGN WEEK KYOTO DESIGN WEEK

 2.ยิ่งเก่ายิ่งล้ำ

คุณเจ้าของโรงงานผลิตยางรัก SATO KIYOMATSU-SHOTEN ที่แสนใจดี กรุณาพาฉันเยี่ยมชมโรงงานผลิตยางรัก และเครื่องเขิน (lacquer ware) อันมีประวัติยาวนาน เราพบความน่าสนใจอย่างหนึ่งว่าแม้รากฐานจะเก่าแก่แค่ไหน ก็สามารถต่อยอดสิ่งใหม่ได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะเมื่องานลงรักถูกนำมาใช้กับข้าวของสมัยใหม่ที่แสนธรรมดา แล้ว คุณค่าของงานฝีมือชนิดนี้ก็สามารถผลักดันให้ของธรรมดาเหล่านั้นกลายเป็นงานอาร์ตได้อย่างน่ามหัศจรรย์

มีงานออกแบบหลายอย่างที่ช่างฝีมือได้ทำร่วมกับนักออกแบบหลายสาขา ผลงานที่ได้เห็นจึงไม่ใช่แค่ถ้วยชาม หรือโต๊ะเก้าอี้ลงรักประดับมุก แต่เป็นเครื่องประดับเก๋ไก๋สไตล์โมเดิร์น เสื้อผ้าแฟชั่น ไปจนถึงของที่ไม่น่าจะมีคนคิดมาก่อนว่าจะนำมาใช้ลงรักได้อย่าง รถยนต์ แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะนำข้าวของอะไรมาลงรักได้เลย ช่างฝีมือจำเป็นต้องทำการบ้านอย่างหนัก ในการทดลองและดัดแปลงเนื้อวัสดุให้เหมาะกับงานออกแบบ SATO KIYOMATSU-SHOTEN จึงเป็นโรงงานที่ไม่ได้ผลิตแค่ยางรัก แต่ยัง “รัก” ที่จะต่อยอดให้เกิดผลงานออกแบบล้ำ ๆ อีกมากมาย

ซึ่งตรงจุดนี้ดีไซเนอร์ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้หาฟังก์ชันใหม่ ๆ มาท้าทายกระบวนการผลิตแบบเก่า แต่เหนืออื่นใดต้องยกให้กับความใจถึงของช่างและเจ้าของโรงงาน หากช่างฝีมือไม่เล่นด้วย เพราะคิดเพียงแค่ว่าที่ทำอยู่ในวันนี้ก็พอมีพอกินแล้ว ผลงานแปลกใหม่ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และงานลงรักก็อาจจะหยุดอยู่แค่ที่โต๊ะไม้ในห้องนั่งเล่นของบ้านคนรวย หรือถ้วยชาบนหิ้งที่วางอยู่นิ่ง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ รอให้คนเหงา ๆ ซื้อบัตรเข้าไปชม

3. ไม่ต้องกลัว AI เพราะถึงจะพึ่งเครื่องจักร แต่กำลังหลักคือ มือคน

คุณลุงท่านหนึ่งในชุดกิโมโนนั่งคัดเปลือกไม้หอมอยู่บนเสื่อทาทามิมากว่า 30 ปี เล่าว่าไม้แต่ละส่วนจะมีน้ำมันหอมอยู่ไม่เท่ากัน ประสบการณ์จากการจับซ้ำ ๆ จะเป็นตัวบอกเราว่าต้องคัดส่วนไหนมาใช้งาน

แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะใช้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ไวกว่าแรงงานคน แต่โรงงานผลิตธูปหอม SHOYEIDO INCENSE CO. ก็เลือกที่จะใช้แรงงานจากเครื่องจักรอย่างพอเพียง และให้ความสำคัญกับแรงงานคนเป็นหลัก แทบไม่ต่างอะไรกับในสมัยก่อน คนที่นี่จึงไม่ต้องกลัวถูก AI หรือเครื่องจักรมาแย่งงาน

ฉันเองก็เชื่อว่าคงจะไม่มี AI เทคโนโลยี หรือแม้แต่มือของคุณลุงคนไหนมาทดแทนมือของคุณลุงท่านนี้ได้…

แม้แต่ขั้นตอนแพ็กเกจจิ้ง การมัดธูปให้เป็นกำยังต้องใช้แรงงานคน และส่วนมากมักเป็นคนงานผู้หญิง เพราะต้องใช้แรงที่พอเหมาะไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไปเพื่อให้ได้มัดธูปที่สวยงามและแข็งแรงพอดี

แต่เหตุผลหลักที่หลายโรงงานหัตถกรรมในเกียวโตยังคงแรงงานคนไว้ เพราะต้องการมั่นใจว่าความรู้นั้นจะได้รับการส่งมอบผ่านมือของคนรุ่นหนึ่ง ไปสู่มือของคนรุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

4. ตอบได้ว่า ข้าเป็นใครแล้วไปให้สุดทาง

คำถามประเภท “เอ็งรู้มั้ยว่าข้าเป็นใคร?” ที่เราคุ้นหูกันนั้น หากใช้เพื่อถามคนอื่น คงเป็นคำถามที่ผู้ถามดูน่าสงสารพอสมควร เพราะถ้าตัวเองยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ก็คงยากที่จะทำให้ผู้อื่นรู้จักตน

แต่ทุกที่ที่ฉันได้มีโอกาสไปเยือน ช่างฝีมือทุกคนคงเคยผ่านการตั้งคำถามแบบนี้มานับไม่ถ้วน หากแต่พวกเขาเริ่มต้นที่จะตั้งคำถามนี้กับตัวเอง แล้วหาคำตอบให้กระจ่างชัด เพื่อพัฒนาตัวเองไปให้สุดทาง

KYOTO DESIGN WEEK

ที่อาคาร Liq เป็นที่ตั้งของพื้นที่สำหรับผู้ชื่นชอบการสร้างผลงานสามมิติ ก่อตั้งโดยบริษัท Castem ผู้ซึ่งเริ่มต้นมาจากการทำโรงงานผลิตลูกกวาด แต่กลับค้นพบตัวเองว่ามีความสามารถด้านการขึ้นรูปสามมิติ จึงค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นโรงงานหล่อโลหะ และ lost waxในปัจจุบัน และจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ยังแตกแขนงกลับไปสร้างพื้นที่ขนาดเล็กในชุมชน เพื่อให้บริการผลิตชิ้นงานสามมิติให้แก่คนทั่วไปที่สนใจ

แต่คำว่าสามมิติสำหรับ Castem นั้น ไม่ได้หยุดแค่รูปทรงภายนอก แต่ยังขยายครอบคลุมไปถึงเครื่อง CT Scan ที่สามารถสแกนเห็นตับไตไส้พุงข้างในของวัสดุและเครื่องใช้ต่าง ๆ  (ยกตัวอย่างส่วนประกอบต่าง ๆ ในไอโฟน) ออกมาได้อย่างละเอียดเป็นไฟล์สามมิติ, เครื่องสแกนพื้นผิวสามมิติแบบพกพา (นึกถึงเครื่องยิงบาร์โค้ตที่ถือมาสแกนที่หน้าคนได้ เมื่อต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะกลายเป็นโมเดลแบบสามมิติทันที), เครื่องสแกนแบบย่อ หรือแบบขยาย(นึกถึงเวลาเราถ่ายเอกสาร) ที่สามารถสแกนวัตถุเล็ก ๆ เช่น มดคันไฟ ออกมาเป็นโมเดลมดยักษ์ได้ โดยเครื่องสแกนเหล่านี้สามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะการผลิตงานศิลปะ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการนำไปใช้ในการศึกษาโบราณวัตถุ เช่น เครื่องมือที่สามารถพกพาไปสแกนพระพุทธรูปที่วัดในเกียวโต แล้วสามารถนำไฟล์มาขึ้นรูปเป็นพระพุทธรูปจำลองได้

KYOTO DESIGN WEEK KYOTO DESIGN WEEK KYOTO DESIGN WEEK

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือขึ้นรูปประเภทงานหล่อ ช่วยให้บุคคลทั่วไปที่รักการสร้างสรรค์ และนักออกแบบที่ต้องการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ไปจนถึงนักประวัติศาสตร์ หรือศิลปินที่ต้องการสร้างผลงานต้นแบบ (prototype) สามมิติ สามารถต่อยอดความเป็นไปได้ในศาสตร์ของตัวเองต่อไปได้อีกมากมาย

5. หาวิธี “เล่าเรื่องใหม่ ๆ ให้กับ “เรื่องเล่า เก่า ๆ

การให้ความสำคัญกับที่มาที่ไป และรู้จักตัวเองนั้นเป็นวัตถุดิบอย่างดีในการสร้าง “เรื่องเล่า” เห็นได้จากหลาย ๆ สถานที่ แม้จะเป็นตึกแถวเล็ก ๆ แต่ในนั้นยังมีพื้นที่สำหรับทำเป็น “พิพิธภัณฑ์“เพื่อเล่าเรื่องของพวกเขาแก่คนที่มาเยี่ยมชม นอกเหนือจากการจัดบอร์ด และโชว์ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ หลายที่มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ เช่น มี Lab และ จัดกิจกรรม interactive รวมไปถึงการเปิด workshop เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับผู้คน

KYOTO DESIGN WEEK

KYOTO DESIGN WEEK
ที่โรงงานธูป SHOYEIDO INCENSE CO. ใช้หนังสือการ์ตูน หรือ “มังงะ” เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงที่มาและวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่หาชมยาก
KYOTO DESIGN WEEK
ที่โรงงานธูป SHOYEIDO INCENSE CO. อีกเช่นกัน นอกเหนือจากส่วนที่เป็นสไตล์ญี่ปุ่นจ๋าแล้ว ยังมีโซนที่เป็น labทันสมัย เพื่อให้ผู้ชมได้ทดลองกลิ่นธูปต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สตูดิโอ บ้านเรือน หรือโรงพิมพ์ มักจะมีตัวแทนมากกว่าหนึ่งคนจากสายพานการผลิตมาอธิบายสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ทุกคนเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและภาคภูมิใจ แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่ดูเหมือนทุกหน้าที่ต่างมีเรื่องราวเปี่ยมคุณค่าที่แสนสนุกเป็นของตนเอง เรื่องเล่าของช่างฝีมือแต่ละคน แต่ละหน้าที่ สามารถทำให้ฉันรับรู้ได้ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่พวกเขาทำนั้นมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่  โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นนักพรีเซนต์มือฉกาจ แต่ทุกคนใช้ใจในการถ่ายทอด และเรื่องเล่าจากหัวใจนั้นมีพลังวิเศษเสมอ