คุณกรุ๊ป-พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ เป็น 1 ใน 3 ศิลปิน (ที่เธอบอกว่าไม่อยากเรียกแทนตัวเองว่าเป็นศิลปินเท่าไรนัก) ซึ่งมีผลงานจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL ที่ว่าด้วยคนเรียนจบไม่ตรงสายที่ลุกมาทำงานที่รักเป็นงานอดิเรกได้ดีไม่แพ้ใคร ร่วมกับ คุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต ช่างภาพหนุ่มใหญ่ที่สลัดคราบมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาจับกล้องถ่ายรูปบันทึกมุมมองผ่านเลนส์ และคุณมด – รพิ ริกุลสุรกาน นักวิเทศสัมพันธ์ที่มีงานอดิเรกเป็น Penman เจ้าของเพจ Rapigraphy
คุณกรุ๊ปเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ผู้ใช้เวลาว่างวาดภาพประกอบเป็นงานอดิเรก เธอจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกกราฟิกดีไซน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในอนาคตอันใกล้เธอกำลังจะไปศึกษาต่อในด้าน Visual Communication ด้วยทุนการศึกษาของ DAAD ที่เยอรมนี ที่ซึ่งเธอวางเป้าหมายชีวิตไว้ว่าอยากทำงานอยู่ที่นั่นดูสักตั้ง
เธอให้เหตุผลว่า “ชอบการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงมันเกิดอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา แค่คิดว่าการไปเยอรมันครั้งนี้มันน่าจะมีอะไรดีๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นประสบการณ์ใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลกับงานของกรุ๊ปด้วย” จากบรรทัดนี้เรามาทำความรู้จักแนวคิดและตัวตนของสาววัย 25 ปีกันสักนิด ก่อนจะไปชมผลงานของเธอด้วยตาตัวเองซึ่งจัดแสดงอยู่ในขณะนี้ที่ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้
จุดเริ่มต้นในการทำงานภาพประกอบสไตล์นี้
“เริ่มทำสไตลนี้เพราะว่าตอนปี 2 มีอาจารย์จากอังกฤษมาสอนวิชาภาพประกอบ ทำให้กรุ๊ปเจอตัวเองเร็ว เพราะเราชอบการทำงานแบบนี้ เริ่มมาจากวาดเส้นโดยใช้ดินสออย่างเดียวในตอนแรก เริ่มสเก็ตช์แล้วก็ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปพอสมควร ด้วยความชอบเรื่องสี จึงเริ่มจากแม่สี (Primary colors) รวมกับเส้นดินสอก็จะกลายเป็นตัดด้วยสีดำ มันเริ่มมาจากแค่ง่าย ๆ พวกนั้น”
อธิบายแนวคิดในการทำงานตอนนี้ให้เราฟังหน่อย
“กรุ๊ปมีความสนใจเรื่องภาพยนตร์ เลยลองตั้งโจทย์ให้ตัวเอง แรก ๆ อาจจะชอบซีนไหนแล้ววาดตามซีนนั้น มันทำให้เราคิดว่าควรจะสร้างเรื่องราวเพิ่มให้กับมันดีไหม เลยคิดคอนเท้นต์เพิ่มอีก เหมือนเป็นเกร็ดเล็ก ๆ จากภาพยนตร์เรื่องที่เราชอบ แล้วก็ใส่สไตล์ตัวเองเข้าไป ใส่เท็กซ์เข้าไป”
“สมมติมีฉากที่เขากำลังกินชีสเค้กบนโต๊ะ เราก็วาดชีสเค้กแต่ใส่เรื่องราวเข้าไป นี่คือแรก ๆ นะคะ หลัง ๆ ด้วยตัวกรุ๊ปที่ขี้เบื่อนิดนึง เราก็พยายามเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากตอนแรกที่เป็นแค่เส้น อย่างงานล่าสุดมันกลายเป็นเท็กซ์เจอร์อย่างเดียวมาประกอบกันกลายเป็นภาพ รู้สึกว่ามันเป็นตัวเรา แต่เราแค่พยายามเล่นสนุกกับมันไปเรื่อย ๆ”
ที่ว่ามานี้คืองานอดิเรก
“ใช่ เหมือนเราพยายามแบ่งพาร์ทระหว่างงานอดิเรกให้บาลานซ์กันกับงานประจำตอนนี้”
งานประจำทำอะไร
“เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ จบมาก็เริ่มทำกราฟิก ทำแม็กกาซีน ตอนนี้ทำที่ Teaspoon Studio”
ที่บอกเคยทำแม็กกาซีนมาก่อน ทำอยู่ที่ไหน
“giraffe magazine”
ตั้งแต่จบมาก็ทำที่นั่นเลยไหม
“จบใหม่เริ่มทำกับ be>our>friend แล้วจึงมาทำ giraffe จริง ๆ กรุ๊ปฝึกงานที่ giraffe ก่อนไปทำฟรีแลนซ์ที่ be>our>friend ประมาณ 2 เดือน แล้วพี่ที่ giraffe ก็เรียกกลับไปทำ ทำอยู่ที่นั่นประมาน 8 เดือน อยู่จนก่อน giraffe ปิดตัว 1 เดือนค่ะ”
ทำไมเราจึงเลือกทำแม็กกาซีนในยุคที่มันเป็นขาลงและค่อยๆ ปิดตัวไปทีละเล่ม ในมุมของคนทำแม็กกาซีนมาก่อนมองว่าเด็กรุ่นใหม่มักไม่เลือกมาทำแม็กกาซีนกันแล้ว
“กรุ๊ปเป็นพวก Old fashion นิดนึง ไม่ได้แอนตี้พวกออนไลน์ หรือเทคโนโลยีอะไรมาก แค่รู้สึกว่าชอบการสัมผัส มันมีเอฟเฟ็กต์กับเรามากกว่า ชอบพวกสิ่งพิมพ์”
งานที่ Teaspoon Studio ตอนนี้ทำอะไรบ้าง
“ส่วนใหญ่จะทำภาพประกอบ แต่มันจะเป็นสไตล์ที่ไม่ใช่งานส่วนตัวของกรุ๊ปอยู่ดี แต่มันก็พอจะทำได้ พอเป็นกราฟิกเหมือนเราต้องปรับตามบรีฟ ตามสไตล์ที่เป็นของลูกค้า พอเรามีพาร์ทงานส่วนตัวมันไม่ต้องไปสนใจใคร เราใส่ตัวเองเข้าไปเยอะ ๆ ได้ แต่หลัง ๆ กรุ๊ปเริ่มบาลานซ์ได้ว่าลูกค้าเข้ามาเพราะงานส่วนตัว ถือว่าประสบความสำเร็จระดับนึง”
เข้ามามามีส่วนร่วมในนิทรรศการนี้อย่างไร พี่หนุ่มบอกไหมว่าเขาประทับใจอะไรเราบ้าง
“พี่หนุ่มทักมาในอินสตาแกรม คือกรุ๊ปจะโพสต์งานแค่ในอินสตาแกรมกับเฟซบุ๊ค กรุ๊ปมีฝันว่าไม่อยากเอางานเก่ามาทำนิทรรศการ อยากทำงานใหม่ขึ้นมาหมดเลย แต่พอพี่หนุ่มชวนมาออกนิทรรศการก็ตอบตกลง อยากลองดู”
อะไรเป็นแรงจูงใจให้เราเลือกมาทำงานศิลปะหรือกราฟิกดีไซเนอร์ในตอนนี้
“มันเริ่มมาเหมือน ๆ กับเด็กทุกคนที่เรียนวาดรูป แต่เราวาดได้ดีมากเลยนะตอนนั้น แล้วเราก็ทำต่อมาเรื่อย ๆ วาดเล่น วาดตามแบบ เรารู้สึกว่าเราโอเคกับมัน แล้วมันก็มีจุดเปลี่ยนนิดนึงตอนที่จะเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นต้องสอบเข้า เราก็ต้องเลือกแล้วว่าเราจะไปทางภาษาหรือไปทางดีไซน์ ซึ่งตอนนั้นลังเลระหว่างภาษาเยอรมันกับออกแบบ”
ภาษาเยอรมัน?
“มันรู้สึกคุ้นเคย อาจจะเพราะว่าที่บ้านมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศเยอรมนีนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็มาเลือกเรียนศิลปะ ซึ่งบางทีกรุ๊ปไม่อยากเรียกตัวเองว่าศิลปิน คือกรุ๊ปยังอยากอยู่ตรงกลางระหว่างดีไซน์กับศิลปะ ทุกงานเหมือนกรุ๊ปคิดภาพแบบยังมีความเป็นกราฟิกอยู่ มันยังเกี่ยวโยงกัน แต่ถ้าจะไปสุดทางเป็นศิลปิน หรือทำศิลปะเลยมันสุดไปหน่อย เราไม่อยากเอาตัวเองเป็นศิลปิน ยังอยากมีบรีฟ มีคอนเท้นต์ อยากมีโจทย์ให้เราได้ทำอะไรใหม่ ๆ”
ไม่ลองแล้วจะรู้ได้เหรอ
“ก็เป็นงานอดิเรกได้”
บอกใครบ้างว่าเรามีแสดงนิทรรศการที่นี่
“ไม่ค่อยได้บอกใครเยอะ (หัวเราะ) กรุ๊ปแค่บอกแม่ค่ะ แล้วก็บอกบางคนในบ้าน บอกเพื่อนที่สนิท กรุ๊ปเป็นคนไม่เล่นโซเชี่ยล ถ้าเขาอยากดู เขาเห็นจากสื่อ เขาก็คงมากันเอง คงไม่ถึงกับต้องไปป่าวประกาศ คืออย่างที่บอกกรุ๊ปไม่ได้คิดว่ามันคือนิทรรศการของกรุ๊ปจริง ๆ ที่เราครอบมันด้วยตัวเราอีกทีนึง ก็ปกติเฉย ๆ”
นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 ณ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้ จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 – 31 มีนาคม 2562 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 – 19.00 น. นอกจากนี้ยังเปิดจำหน่ายโปสการ์ดประชาสัมพันธ์นิทรรศการในราคาใบละ 20 บาท และโปสเตอร์ในราคา 100 บาท รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปบริจากให้กับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อ “ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้สามารถมองเห็นโลกที่สวยงามได้เหมือนเดิม” ตามความตั้งใจของคุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต
เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา