เมื่อ 15 ปีที่แล้ว บริษัทออกแบบกราฟิกเล็ก ๆ ในชื่อ “กราฟิกฟาร์ม” ก่อตัวขึ้นโดยมี คุณแต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ รับบทเป็นนักออกแบบที่ยืนอยู่ในแนวหน้าของทีมผู้ก่อตั้ง
รู้ไหมว่าจากเด็กชอบวาดการ์ตูนที่มีฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนมืออาชีพ จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสไปเรียนในระดับปริญญาตรีด้าน Animation ที่ Edinboro University of Pennsylvania ที่สหรัฐอเมริกา คุณแต๊บกลับพบว่า สิ่งที่ตัวเองฝันเกิดไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขามีความสุขเท่าไรนักบนโลกแห่งความเป็นจริง หากแต่เป็นนามบัตรและโลโก้บนหัวกระดาษของบริษัทแห่งหนึ่งที่เขาได้ไปฝึกงานด้วยอย่าง The Bandits ซึ่งออกแบบโดย คุณต้อม-ชัชวาล ขนขจี ที่เปลี่ยนความคิดเขาไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อค้นพบตัวตนที่แท้จริงเจอในระหว่างฝึกงาน พอกลับไปเรียนต่อคุณแต๊บจึงตัดสินใจขอเปลี่ยนสาขาวิชาจาก Animation มาเป็น Graphic Design และมุ่งสู่ถนนสายกราฟิกอย่างเต็มตัวนับแต่บัดนั้น
“ผมกับเพื่อนอีก 2 คนร่วมกันเปิดบริษัทใช้ชื่อกราฟิกฟาร์ม (Graphic Farm) ตอนนั้นผมเป็นกราฟิกดีไซเนอร์คนเดียวของบริษัท เป็นช่วงทางชั้นที่สุดของชีวิตผมเลย” คุณแต๊บย้อนวันวาน “ถึงขั้นว่าออกไปเสนอขอรับออกแบบงาน ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องจ่ายเงิน”
“2-3 ปีแรกผมลุยชนิดที่ว่าไม่เกี่ยงงานออกแบบ งานออกแบบถุงปูน ถุงปุ๋ย แค็ตตาล็อก ทำอะไรผมเอาหมด ถ้าใครอยากจะเข้ามาวงการนี้ แฟ้มผลงานกับความน่าเชื่อถือนัันสำคัญที่สุด ถ้าใครไม่มีสองสิ่งนี้แล้ว ผมไม่รู้เลยว่าจะเดินต่อไปได้อย่างไร เพราะมันคือทุกอย่างของชีวิตนักออกแบบเลยก็ว่าได้”
15 ปีผ่านไป จาก “กราฟิกฟาร์ม” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ ฟาร์มกรุ๊ป ” (Farmgroup) จากพนักงานแค่สามชีวิต ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 6 เท่าตัวในปัจจุบัน จากการวิ่งออกไปหางาน มาวันนี้ฟาร์มกรุ๊ปกลายเป็นผู้ถูกงานวิ่งเข้าหาบ้าง
ต่อจากนี้คือเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของหนึ่งในบริษัทแนวหน้าในแวดวงการออกแบบของประเทศไทย บริษัทที่ชอบออกแบบโลโก้แต่ก็ไม่ได้ถนัดอยู่แค่งานออกแบบโลโก้อย่างเดียว ความเชี่ยวชาญของ ฟาร์มกรุ๊ป คือการเป็น Creative & Design Consultancy ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ให้กับบริษัทชั้นนำหลาย ๆ แห่งที่หากยกชื่อมาต้องคุ้นกัน รวมถึงเป็นผู้จัดนิทรรศการดัง ๆ ที่ได้ยินชื่อแล้วต้องร้องอ๋อ อาทิ Hotel Art Fair เป็นหนึ่งในนั้น
“ชอบคำว่าฟาร์มเพราะรู้สึกว่ามันดู Humble (ถ่อมตน) ดี แล้วประเทศไทยก็เป็นประเทศเกษตรกรรม ความหมายของคำว่าฟาร์มมันคือแหล่งผลิต แล้วเราเป็นคนที่ผลิตงานดีไซน์ออกมา ก็เลยชอบคำว่าฟาร์มมาโดยตลอด”
วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ
ฟาร์มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งงานออกแบบและสร้างสรรค์ที่ไม่รับทำงานโฆษณา
“เราสร้างแบรนด์ เราทำ Brand Identity (อัตลักษณ์ของแบรนด์) เราทำ Brand Strategy (วางกลยุทธ์ให้กับแบรนด์) และเราก็ทำ Design Experience (ออกแบบประสบการณ์) รอบ ๆ แบรนด์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ดิจิตอล สเปซ อินทีเรียร์ รีเทล เอ็กซ์ฮิบิชั่น อีเว้นต์ _ แต่อย่างหนึ่งที่เราไม่ทำคือโฆษณา คือแบรนด์เราจะต่างจากโฆษณาเยอะมาก การสร้างแบรนด์มันก็คือสร้างคนขึ้นมาคนหนึ่ง สร้างบุคลิก สร้างทุก ๆ อย่างรอบ ๆ ตัว แต่ผมไม่ได้ทำแอดโฆษณาไปขายสินค้า เพราะฉะนั้นหนังโฆษณาผมจะไม่ทำ ผมจะไม่ใช่เอเจนซี่โฆษณา”
ฟาร์มกรุ๊ป ตรงกลาง แตกต่าง
“กลาง ๆ ในที่นี้ ไม่ได้บอกว่าไม่มีความสามารถหรืออะไร แต่กลางในที่นี่คือผมไม่ได้เป็นบริษัทแฟชั่นจ๋า ทุกคนแฟชั่นเหลือเกิน หรือผมไม่ได้เป็นบริษัท Academic (วิชาการ) เหลือเกิน คิดอะไรทฤษฏีเยอะแยะเต็มไปหมด หรือแมสไปหมด ทำอะไรตามโฆษณาแบบบิลบอร์ด คือผมอยู่กลาง ๆ เชื่ออย่างเดียวคือเรื่องของ Good Design ผมเชื่อในการออกแบบที่ดี ผมบอกลูกน้องในทีมมาตลอดว่าต้องเชื่อในสิ่งนี้ ต้องผลิตงานดีไซน์ที่ดีออกมาให้ได้ ทีมงานทุกคนก็จะต่อสู้กับลูกค้า ต่อสู้เพื่อให้การออกแบบที่เราคิดว่าดีมาเสมอ”
What is Good Design?
ดีไซน์ที่ดี…คืออะไร?
“พูดยากเหมือนกันนะครับ ถ้าดีไซน์ที่ดี งดงามเหลือเกิน แต่ไม่สื่อสารข้อมูลที่ลูกค้าต้องการก็คงไม่ใช่ ผมว่าคอมบิเนชั่นของความงามในแบบกราฟิกดีไซน์ เราเป็นคนที่สร้างนิยามความงามของดีไซน์ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ลูกค้าเห็นว่างาม จริง ๆ มันไม่งาม แต่มันเป็นหน้าที่เราที่จะต้องพยายามบอกว่าผมเรียนมา และมันเป็นอาชีพผม คุณต้องเชื่อผมว่าการไม่มี drop shadow มันสวยกว่า สมมตินะ ผมยกตัวอย่าง”
“ดีไซน์ที่ดีต้องมีความฉลาด เวลาเราเห็นอะไรแล้วมันต้องมีความหมาย มีมันสมองซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ใช่ว่าเปิดร้านกาแฟก็มีโลโก้เป็นเมล็ดกาแฟ ดีไซน์ที่ดีมันอาจจะต้อง decode (ถอดรหัส) สักนิดหนึ่ง มันอาจจะต้องมีสองเลเยอร์ เลเยอร์แรกให้คนรับได้ เลเยอร์ที่สองมันจะต้องใช้มันสมองในการ decode เพื่อเราจะได้ใส่มันสมอง ใส่ความฉลาดเข้าไปในดีไซน์นั้น คุณค่ามันเพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วผมกับทีมจะนั่งคุยกัน สมมติเราจะส่งให้ลูกค้าตรวจแบบ เราจะคุยกันว่ามันดีหรือยัง เราภูมิใจกับมันหรือยัง เราคิดว่ามันดีสุดหรือยัง ถ้าเกิดยังไม่ใช่ก็ลองใหม่”
กลยุทธ์ในการนำเสนองานลูกค้าอย่างไรให้ผ่าน
“บางครั้งผมไปรับบรีฟ ผมรู้เลยนะ ถ้าผมทำแบบนี้ไปนะ ซื้อเลย ม้วนเดียวจบ เก็บตัง แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ดี ดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทุกประตูบางทีมันเป็นต้มยำ ที่ที่ทุกอย่างนำมาใส่รวมกันเป็นรวมมิตร ซึ่งมันไม่ได้ดีเสมอไป เราต้องพยายามจัดเรียงข้อมูล ลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น แล้วก็พยายามพักตรงนั้นไว้ก่อน ถ้าพยายามขายสามรอบแล้วยังไม่ผ่าน ยังไงก็ไม่ได้ ทะลุงบประมาณแล้วก็ค่อยควักอันนี้ (ที่คิดว่าผ่านแน่ ๆ) ขึ้นมาขายให้มันจบ ๆ แต่เราก็จะพยายามขายในสิ่งที่เราเชื่อก่อนเสมอ”
คุย คุย และคุย คือวิธีการทำงานภายในทีม
“เราจะคุยกันเยอะ คือเรามีซอฟต์แวร์หนึ่งที่ใช้เรียกว่า Project Management เราก็จะคุยเรื่องงานกันในนั้น ลุกไปคุยกันตลอด มีคนเคยบอกว่าถ้ามีต้นไม้เราต้องพยายามเก็บผลที่อยู่ข้างบน เพราะว่าข้างล่างใคร ๆ ก็เก็บได้ เพราะฉะนั้นการดีไซน์ที่ดีเราต้องพยายามเก็บผลข้างบนให้ได้ เราก็ต้องผ่านการมีขยะเยอะ ต้องถุยออกมาให้ผ่านไป เราจะได้เข้าไปถึงผลที่อยู่ข้างบน แต่ส่วนใหญ่ผมจะมีขั้นตอนชัดเจนทุกโปรเจ็กต์ พอรับบรีฟผมก็จะมีการฟอร์มทีม ทำตารางการทำงาน แล้วจะมีช่วงเวลาที่ปล่อยให้ไปค้นคว้าหาความรู้ แล้วเอาขยะทุกอย่างมาเทรวมกันบนโต๊ะนี้ แล้วแยกขยะออกจากกลุ่ม จัดกลุ่มที่น่าสนใจ (ช่วงถุยอย่างที่บอก) เสร็จแล้วจะเริ่มทำงาน สร้างทางเลือกในการนำเสนอลูกค้า แล้วก็ให้ลูกค้าแก้งานได้อีก 3 ยก ทุกโปรเจ็กต์จะเป็นกระบวนการเดียวกัน”
“แต่ว่าในแต่ละงานคงไม่มีส่วนผสมที่พอดี ผมว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมาก เรื่องทีมงาน ผมโชคดีที่มีทีมงานที่เก่ง ทุ่มเท แล้วก็ช่วยเหลือกันมาตลอด แล้วก็มีทีมงานที่เห็นตรงกันว่าเราเป็นแบบนี้ ผมว่างานที่ออกมาเป็นส่วนผสมของทีมงาน หรือความเชื่อ มันคงเป็นอะไรบางอย่างที่อบอวลในบริษัทนี้ คนเข้ามาต้องกลายเป็นคนเผ่าเดียวกัน คุณเข้ามาเป็นฟาร์มกรุ๊ป คุณก็จะมีวิธีคิดประมาณนี้ คิดว่าคงโดนหล่อหลอมจากการซึมซับบรรยากาศ การใช้ชีวิต หรือว่าจากการฟังผมกับทีมงานคุยกัน แสดงความคิดเห็นในการทำงานร่วมกัน เลยกลายเป็นวิถีการทำงานของฟาร์มกรุ๊ปไปโดยปริยาย”
อีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือการสร้างกฏเกณฑ์ในทีมให้เคารพซึ่งกันและกัน
“ในการทำงานเป็นทีมมันต้องมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน ผมก็เป็นคนติสต์คนหนึ่งนะ แต่ว่าพอมาออกแบบมันไม่ใช่มาทำเพ้นต์ติ้ง ตื่นมาต้องจิบกาแฟก่อน แล้วค่อยมาผสมสีแล้วนั่งเพนต์ แต่เราไม่ได้ทำงานศิลปะ เราทำงานออกแบบ ฉะนั้นมันมีระบบ มีระเบียบ มีกฏเกณฑ์ชัดเจน ออฟฟิศเราจะพยายามไม่ทำงานกลางคืน เพราะถ้าทำกลางคืน คนนี้ไม่มาตอนเช้าเพราะต้องนอน มันก็จะกระทบเพื่อนร่วมงานที่มีอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำด้วยกันกับคนนี้อยู่ ผมคิดว่ามันเป็นความเคารพซึ่งกันและกัน ฉะนั้นถ้าเราตกลงเรื่องนี้กันชัดเจน ผมก็ไม่มีปัญหากับศิลปิน ไม่มีปัญหากับลูกน้อง ทุกคนค่อนข้างมีความมืออาชีพ”
ฟาร์มเพาะเมล็ดพันธุ์อันเป็นจุดร่วมของงานออกแบบกับศิลปะ
“ผมว่าศิลปะมันมีพลังหลายอย่างที่ดีไซน์มันทำไม่ได้ การเข้าถึงอารมณ์ของคน การทำให้คนน้ำตาไหล เก้าอี้ตัวหนึ่งยังทำไม่ได้เท่ากับเพ้นต์ติ้งหรือภาพถ่าย เรามีความสนใจเรื่องนี้มาตลอด เพราะเราเดินอยู่บนตะเข็บดีไซน์บ้าง ศิลปะบ้างมาโดยตลอด แล้วพอเราทำอีเว้นต์ดีไซน์ให้ลูกค้า แล้วเรารู้สึก เฮ้ย! เรามีฝีมือ เรามีความสามารถในการทำสเปซนะ เรามีความสามารถในการ Curated (คัดเลือก) ประสบการณ์ของคน ทำไมเราไม่เอาความสามารถนี้มาใช้กับศิลปะล่ะ ก็เลยเป็นเหตุผลที่เราเริ่มทำ Hotel Art Fair คำว่าอาร์ตกับดีไซน์ของฟาร์มกรุ๊ป มันก็เลยเข้ามาใกล้กันเรื่อย ๆ จนตอนนี้มันก็เหมือนเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว”
https://www.facebook.com/roomfan/videos/1121944687993216/
กว่าจะมาเป็น Hotel Art Fair
ฟาร์มกรุ๊ปคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงาน Hotel Art Fair มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง Hotel Art Fair เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นภายในโรงแรมซึ่งจะเปลี่ยนสถานที่ไปทุก ๆ ปีอย่างไม่ซ้ำ แต่ละปีห้องพักในโรงแรมแต่ละห้องจะถูกเนรมิตให้เป็นแกลเลอรี่ขนาดย่อม พร้อมเปิดโอกาสให้นักสะสมงานศิลป์ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยน และจับจองชิ้นงานโดนใจกลับไป
ย้อนกลับไปชมงาน Hotel Art Fair Bangkok 2018 กับบรรยากาศการกระทบไหล่ศิลปิน พร้อมชมงานศิลปะในห้องพักกลางฟ้า ได้ที่นี่
นอกจาก คุณแต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ, คุณวรินดา เธียรอัจฉริยะ และ คุณต๊อบ-วรารินทร์ สินไชย อีกหนึ่งในผู้บริหารของ ฟาร์มกรุ๊ป อย่าง คุณท็อป – ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล คือศิลปินที่เป็นกำลังสำคัญในการคิดรูปแบบของการจัดงาน Hotel Art Fair มาโดยตลอดนับตั้งแต่เขากลับมาอยู่เมืองไทย ภายหลังใช้ชีวิตคลุกคลีกับแวดวงศิลปะในสหรัฐอเมริกามานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาธุรกิจจาก University of San Francisco และปริญญาโทในสาขาสื่อแนวใหม่จาก San Francisco Art Institute
ตอนกลับมาเมืองไทยใหม่ ๆ คุณท็อปเริ่มจากการทำรายการ Art Scene TV ในช่อง youtube เป็นรายการสัมภาษณ์ศิลปินหรือแกลเลอรี่ก่อนจะมาทำงานกับฟาร์มกรุ๊ปจนถึงปัจจุบัน
เขาบอกว่า “เมื่อ 10 ปีที่แล้วมันเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับรายการแบบนี้ในประเทศไทย ผมพูดไม่ค่อยเก่ง ไม่ได้เรียนพิธีกร เราก็ถามคำถามที่เราเคยโดนถามทำตอนที่เราทำงานศิลปะอยู่ที่เมืองนอก ซึ่งเป็นคำถามที่ค่อนข้างตรง เหมือนตอนที่อาจารย์ถามบีบให้เราจนมุม พอเรามีคำตอบมันก็จบ แต่ผมก็เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ทำให้ศิลปินหลายคนไม่พอใจ เพราะเราไม่ได้ถามอวยเขา ถามเพราะอยากรู้จริง ๆ เลยทำให้รายการเราแตกต่าง แต่ก็ไม่ได้มีคนดูเยอะ พอไม่ได้มีสปอนเซอร์ก็อยู่ไม่ได้ แต่มันทำให้เรารู้จักแกลเลอรี่เยอะมาก”
หน้าที่หลักของคุณท็อปกับฟาร์มกรุ๊ป คือการชักชวนและทาบทามแกลเลอรี่ หรือศิลปินที่น่าสนใจมาร่วมแสดงงาน ซึ่งในปีนี้ Hotel Art Fair 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Breaking Boundaries” นำเสนอภาพจำให้เห็นว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในการแสดงออก อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ไร้ขอบเขตของมนุษย์ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะให้เป็นเสมือนขุมสมบัติทางวัฒนธรรม สำหรับปีนี้ Farmgroup ได้คัดเลือกหลากหลายแกลเลอรี่ทั่วเอเชียมากกว่า 30 แห่ง ทั้งจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และญี่ปุ่น รวมไปถึงศิลปินชั้นนำจากไทยและต่างประเทศมารวมกันไว้มากที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่จัดงานมาแล้ว 5 ครั้งที่ผ่านมา
Hotel Art Fair ไม่ใช่สิ่งใหม่
ไผทวัฒน์: “ตอนอยู่เมืองนอกเราเคยไปงาน Hotel Art Fair ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งใหม่เลย ต่างประเทศมีทุกที่ แต่เมืองไทยยังไม่มี ตอนผมอยู่นิวยอร์กเคยไปอยู่ในอาร์ตแฟร์ต่าง ๆ ก็ได้คนให้คำปรึกษาว่าลองทำไปเรื่อย ๆ อย่าเพิ่งท้อ ลองทำในสไตล์เรา ไม่ได้คิดว่าจะโกอินเตอร์ แค่ทำให้ดีที่สุด แกลเลอรี่อยู่ได้ ผมก็อยู่ได้ ให้ความสำคัญกับการดีไซน์ทุก ๆ เรื่อง ดีใจที่ฟาร์มกรุ๊ปได้ทำงานนี้ ถ้าเกิดเป็นคนอื่นทำ หรือถ้าไม่ใช่เอกชนทำมันคงไม่ใช่งานในรูปลักษณ์แบบนี้ แล้วด้วยความที่เราเป็นองค์กรเล็ก เราสามารถคุยกันได้เลย สามารถจัดการให้มันเสร็จภายในวันสองวัน เหมือนการทำแบรนด์ดิ้งให้แกลเลอรี่ที่มาออกงาน กับโรงแรมที่ต่างได้แบรนด์ที่ดี ๆ ทุกอย่างมันก็เสริมกันไปหมด ทั้งการช่วยเรื่องการขายผลงาน หรือเรื่องคนที่มาเข้างาน”
มีวิธีการคัดเลือกงานศิลปะหรือแกลลอรี่มาแสดงใน Hotel Art Fair อย่างไร
วรทิตย์: “ตอนที่เรามองว่าคนที่จะมาแสดงคือใคร อันดับหนึ่ง เราต้องการสนับสนุนแกลเลอรี่ในประเทศไทย เจ้าของแกลเลอรี่ที่เขาลงทุนลงแรงทำแกลเลอรี่สนับสนุนศิลปินต่าง ๆ ผมจะชวนแกลเลอรี่ก่อนเสมอ ผมจะไม่ไปชวนศิลปินหรืออะไรแบบนี้เลย แต่เมื่อไรที่ห้องเหลือเราจะเริ่มเปิดให้ศิลปินที่อาจจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม หรือรวมกันเฉพาะกิจ อันนั้นก็จะเป็นอันดับต่อ ๆ ไป”
ไผทวัฒน์: “ส่วนมากแล้วแกลเลอรี่ในเมืองไทยค่อนข้างไฮเอ็นด์มาก อันนั้นเขาจะมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว พอจัดทุกปีมันเริ่มใหญ่ขึ้น คนก็เริ่มคุย ๆ กันต่อไป อย่างแกลเลอรี่ในเมืองไทย เช่น La Lanta Fine Art ก็ไปออกงานอาร์ตแฟร์ที่ฟิลลิปปินส์บ่อย ๆ เขาก็ชวนเพื่อนเข้ามาร่วม หรืออย่างบางทีผมใช้เวลาหลายปีมากตั้งแต่ปีแรก ๆ ผมรู้จักแกลเลอรี่ค่อนข้างมาก ผมก็อีเมล์ไปหาเขา พวกแกลเลอรี่ที่เขามาเมืองไทยคือเขาชอบเพราะเขาขายงานได้ ก็เลยบอกต่อกันไป ซึ่งทางแกลเลอรี่ที่มางานจะเป็นคนเลือกศิลปินมาเอง เราขายแค่ค่าห้อง เพราะต้องเอามาจัดการเรื่องอีเว้นต์ ส่วนเรื่องขายงานนั้นเป็นหน้าที่ของแกลเลอรี่”
มองว่า Hotel Art Fair ช่วยขับเคลื่อนวงการศิลปะในบ้านเราอย่างไรบ้าง
ไผทวัฒน์: “ผมคิดว่าอย่างน้อยมันช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์บางอย่างให้ภาครัฐควรดูแลเรื่องนี้จริง ๆ อย่างงานอาร์ตที่มาแสดง ตอนผมไปเรียนอยู่เมืองนอกมานานเกือบ 30 ปี ก่อนที่ผมจะมาทำงานนี้ผมไม่เคยชอบศิลปะเมืองไทยเลย แต่พอช่วงที่ผมได้ออกไปสัมภาษณ์ ทำรายการ ได้จัด Hotel Art Fair มันได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ศิลปินต่างประเทศไม่มี มันเป็นภาษาบ้านเรา คอนเท้นต์ที่นำเสนอ ศิลปินไทยมีเอกลักษณ์ที่ทำให้ชาติอื่นสามารถเข้ามาดูได้ แต่เราต้องดื้อ ไม่ต้องฟังใครเขามาก จะรอให้เพอร์เฟ็กต์หมดไม่ได้ ปีหนึ่งมีหลายครั้งก็ได้ ไม่ต้องรอให้ฟาร์มกรุ๊ปจัดก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าคนที่ทำเหมือนกับเราก็ต้องเหนือกว่าเรา สิ่งที่ดีคือแค่เราเริ่มทำก่อนแค่นั้นเอง เรื่องฟีดแบ็คมันเกี่ยวกับเรื่องการขาย เรื่องแกลเลอรี่ไม่ใช่ปัญหาแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้แกลเลอรี่ขายได้เยอะขึ้น คนรวย ๆ แถวเมืองจีนบินมาเมืองไทย มาซื้อผลงานศิลปะไทยมันก็จะทำให้ศิลปินไทยอยู่ได้ อย่างเด็กหลายคนที่ทำงานด้วย จบมาแล้วเป็นศิลปินเลี้ยงตัวเองไม่ได้ก็ต้องทำบริษัทดีไซน์ ซึ่งก็น่าเสียดายความสามารถตรงนั้น ถ้าเกิดเราสามารถหาคนมาซื้องานศิลปะได้ ก็เป็นการต่อยอดให้คนรุ่นใหม่ในวงการศิลปะได้”
Hotel Art Fair 2019 จะจัดขึ้นที่โรงแรม W Bangkok พร้อมเปิดห้องพักให้บุคคลทั่วไปเข้าชมในวันเสาร์ที่ 22 และวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายนนี้ตั้งแต่เวลา 11.00 – 24.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
อ่านต่อ: 9 ห้อง 9 แกลลอรี่ ที่นักสะสมผลงานศิลปะไม่ควรพลาดใน HOTEL ART FAIR 2019
อ่านต่อ: 5 สิ่งน่าสนใจที่ควรรู้ก่อนไปงาน HOTEL ART FAIR 2019 “BREAKING BOUNDARIES”
เรื่อง: นวภัทร (เนื้อหาบทนำบางส่วนเรียบเรียงจากบทความของสิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์)
ภาพ: ศุภกร, เอกสารประชาสัมพันธ์
วีดีโอ: ณัฐวัฒน์ ส่องแสง, กรองแก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ตัดต่อ: กรองแก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล