เยือน 3 สตูดิโอผู้อยู่เบื้องหลัง ‘ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTION’
mitr.

เยือน 3 สตูดิโอผู้อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากผ้าเอ๊าต์ดอร์ ‘ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTIONS’

ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTIONS

ก้าวสำคัญของวงการผ้าของไทยและแบรนด์ SOL OUT ในเครือ Gold House Decor กับการผลิตผ้าเอ๊าต์ดอร์ทุกขั้นตอนร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในไทย ด้วยการนำเส้นด้ายที่เรียกว่า Solution-Dyed Acrylic ซึ่งมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อแสงแดดและน้ำทะเล มาถักทอออกมาเป็นผ้าหลากสีสันและลวดลาย แล้วส่งต่อให้กับ CAMP STUDIOMitr. และ Palini Bangkok ซึ่งเป็น 3 ดีไซเนอร์ที่ room ชักชวนมาร่วมกันถ่ายทอดแนวคิด นำผ้าที่ได้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ร่มชายหาด, ตะกร้า, เปล, ทาร์ป, ชุดเสื้อคลุม และหมวก ดังที่ปรากฏในภาพแฟชั่นเซ็ตริมชายหาดนี้ 

ชมภาพแฟชั่นเซ็ตในโปรเจ็กต์พิเศษ ‘room X SOL OUT Collaborative Collections’ ได้ที่นี่

แต่กว่าจะมาเป็นภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตสวยๆ ริมชายหาดอย่างที่เห็นในวีดีโอและอัมบัมเต็มจากลิ้งค์ด้านบน เราของพาย้อนกลับไปดูกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ และทดลองผลิตชิ้นงานต้นแบบ ก่อนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ยังสตูดิโอของทั้งสามแบรนด์กัน

mitr.
Mitr.

Mitr. คือกลุ่มนักออกแบบคลื่นลูกใหม่ที่ลุกขึ้นมาทดลอง มองหาแนวทางและวัสดุใหม่ๆ เพื่อขยายขอบเขตในงานออกแบบอยู่เสมอ ครั้งนี้ คุณมาย-ลลิตภัทร ลิ้มรุ่งเรือง และ คุณเคน-พลพิศิษฐ์ พงศ์พิทยา สองตัวแทนของกลุ่มนำผ้าเอ๊าต์ดอร์ของแบรนด์ SOL OUT มาต่อยอดเป็นร่มดีไซน์เก๋ที่ปรับองศาได้ และตะกร้าชายหาดที่เป็นมากกว่าที่ใส่ของธรรมดาๆ

“การทำงานกับ  SOL OUT น่าจะเป็นโปรเจ็กต์แรก ๆ ที่เราได้ทำผ้าเอ๊าต์ดอร์แบบเต็ม ๆ จึงค่อนข้างตื่นเต้นเหมือนกัน ” ลลิตภัทร บอกกับเรา “เริ่มแรกเราสนใจเรื่องเนื้อผ้าก่อน เพราะผ้าที่เราได้มามีสีที่สามารถมิกซ์เองได้ จากนั้นจึงมาดูว่าเราสนใจลายเเบบไหน สุดท้ายจึงได้ออกมาเป็นลายเส้นตัด เพราะรู้สึกว่าพอมาอยู่กับทะเลเเล้วจะช่วยให้ผลงานดูโดดเด่นขึ้น

“ตะกร้า กับ awning (ผ้าบังแดด) สองตัวนี้เราพยายามเล่าถึงการใช้งานของผ้าเอ๊าต์ดอร์ให้มากที่สุด โดยใช้ผ้ามา cover ส่วนท็อป เพราะอยากให้รู้ว่าสามารถทำความสะอาดได้ (ด้วยคุณสมบัติของผ้าที่สามารถเช็ดคราบสกปรกได้ง่าย ๆ เพียงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออกเบา ๆ ) ส่วนตัวผ้าที่ใช้กับร่มบังเเดด เราอยากสื่อว่ามันทนแดด ทนฝน ใช้งานเอ๊าต์ดอร์ได้ดี  โดยมีไอเดียมาจากรูปทรงของกิ่งไม้หรือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทะเล มีโครงสร้างยื่นออกมา 3 กิ่ง กิ่งแรกไว้แขวนของใช้  ส่วน 2 กิ่งด้านบนสามารถปรับเปลี่ยนองศาตามทิศทางของเเสงเเดดได้ ก่อนออกแบบเราได้รีเสิร์ช มาว่าส่วนใหญ่เวลาคนไปชายทะเลบางทีเขาไม่ได้ต้องการบังแดดทั้งตัว เเต่แค่ต้องการบังแดดบริเวณตา เราเลยเอาตัว shading บังแค่บางส่วน”

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

“การทำงานร่วมกับ SOL OUT ทำให้เราได้รู้กระบวนการทอลายผ้าในแนวตั้งเเละแนวนอนว่าทอได้เหมือนกัน แต่พอลายตะแคงมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทอออกมา แนวตั้งกับแนวนอนตัดกันบางทีมันจะเป็นพิกเซล เราจึงต้องคุยกันเรื่องขนาดเพื่อให้เส้นออกมาดูสมูทที่สุด  ทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องแพตเทิร์น และสีใหม่บางสีที่โรงงานของ Gold House ก็ไม่เคยผสมมาก่อน เรามีการทำงานร่วมกันเรื่องสี เเละเรื่องผ้าว่าสีไหนดูเหมาะสมที่สุด ส่วนใหญ่ที่เลือกมาจะเป็นสีที่สว่าง อย่าง สีเบจ  เมื่อใช้สีที่เด่นกว่ามาคาดทับลงไปจะช่วยให้ลวดลายมีมิติโดดเด่นขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโรงงานว่าจะใช้สีตัดกี่เปอร์เซ็นต์ ใช้สีลายกี่เปอร์เซ็นต์ให้ออกมาเด่นที่สุด”

อ่านแนวคิดของ Mitr. และเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่: MITR. กลุ่มนักสร้างสรรค์ที่เชื่อว่ายิ่งทดลองสิ่งใหม่ ยิ่งช่วยขยายขอบเขตให้งานออกแบบไม่ติดกรอบ

PALINI
PALINI

อีกหนึ่งทีมที่เราชวนมาร่วมต่อยอดผ้าเอ๊าต์ดอร์ของ SOL OUT คือ PALINI แบรนด์แฟชั่นเลือดไทยที่ผสานความต่างทางวัฒนธรรมสองซีกโลกให้เป็นเอกภาพ ผสมลงบนไอเท็มแฟชั่นสุดเก๋ได้อย่างน่าสนใจ โดยที่ผ้าเอ๊าต์ดอร์ของพวหเขาถูกมาพัฒนา สร้างสรรค์ และผสมผสานกับความถนัดของตนจนออกมาเป็นหมวก และเสื้อคลุมที่สามารถใส่คลุมทับชุดว่ายน้ำ สวมใส่สบาย เดินชายหาดก็ได้ ใส่ในชีวิตประจำวันก็ดี

“เราไม่เคยใช้ผ้าเอ๊าต์ดอร์แบบนี้มาก่อน”  คุณอุ๋ย ยอมรับ “ส่วนใหญ่เราเลือกใช้ผ้าไทยอย่าง ผ้าฝ้าย ผ้าเยื่อไผ่ ตามคอนเซ็ปต์การเน้นใช้ผ้าพื้นเมือง เพราะรู้สึกว่าผ้าไทยมีเอกลักษณ์ มีเรื่องราวความเป็นมาที่เเตกต่างกันในเเต่ละท้องถิ่น เเถมยังมีเทคนิคการถักทอและย้อมที่ละเอียดประณีต เลยชอบที่จะนำมาใช้ในการผลิตผลงาน เเต่พอได้ผ้าของ SOL OUT มา ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่เคยเจอมาก่อน เเละไม่มีความรู้ว่าจะนำผ้าชนิดนี้มาประยุกต์ใช้กับโปรดักต์ของเราอย่างไร จึงถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานเหมือนกัน พอได้คอนเซ็ปต์มา เราคิดได้อย่างรวดเร็วเลยว่าจะนำมาทำหมวก ส่วนผ้าที่นำมาออกแบบเสื้อ โดยได้เพิ่มความพิเศษด้วยการใส่งานปักลงไป

นิลยา บรรดาศักดิ์
งานปักจากฝีมือ คุณถ้วยฟู – นิลยา บรรดาศักดิ์

“งานปักที่ใช้บนผ้า เราเลือกลายดอกไม้ ซึ่งอิงมาจากคอลเล็กชั่นแรก ด้วยการนำลายปักดอกไม้มาผสมกับผ้าพื้นที่เป็นสีขาว เพราะอยากให้เสื้อดูสดใสเข้ากับฤดูร้อน โดยเลือกลายที่ให้ความรู้สึกสดชื่น มีองค์ประกอบดูน่ารัก

“สำหรับการทำงานครั้งนี้ เราค่อนข้างใช้เวลาในการทำงานมากกว่าเดิม  เนื่องจากมีงานปักที่ละเอียดอ่อน ซึ่งปักด้วยมือทุกขั้นตอน ปกติงานปักของเราจะใช้เครื่องจักร แต่ครั้งนี้เราอยากให้ผลงานนี้มีความพิเศษจริง ๆ เเม้จะใช้เวลานานเเต่ก็คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ออกมา ส่วนการเลือกออกเเบบทรงเสื้อผ้าก็เป็นแบบที่เราไม่เคยทำมาก่อน  เเละหมวกก็เป็นทรงที่คิดขึ้นมาใหม่สำหรับโปรเจ็กต์นี้โดยเฉพาะ ”

อ่านแนวคิดของ PALINI และเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่: PALINI แบรนด์แฟชั่นเลือดไทยที่ผสานความต่างทางวัฒนธรรมสองซีกโลกให้เป็นเอกภาพ ผสมลงบนไอเท็มแฟชั่นสุดเก๋ได้อย่างน่าสนใจ

CAMP STUDIO
CAMP STUDIO

และทีมสุดท้ายคือพี่ใหญ่ของโปรเจ็กต์ที่มีประสบการณ์เข้มข้นในแวดวงออกแบบ แม้ CAMP STUDIO จะเป็นชื่อใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่หลงใหลการท่องเที่ยวแบบตั้งแคมป์ แต่ 2 สมาชิกอย่างคุณกอล์ฟ-จักรพันธ์ ชรินรัตนา และคุณปุริม ไกรยา ต่างมีประสบการณ์ที่เข้มข้นในแวดวงออกแบบ โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง Studio 248 ที่พวกเขาร่วมกันก่อตั้งขึ้น

“เรากำลังมองหาวัสดุที่สามารถทำเฟอร์นิเจอร์เอ๊าต์ดอร์ซึ่งเกี่ยวกับงานที่เราทำอยู่แล้ว พอทาง Gold House ส่งผ้ามาให้ดูคือมันใช่มาก” คุณปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร หนึ่งในสมาชิกของ CAMP STUDIO บอกกับเราแบบนั้น ตามคุณสมบัติที่รู้มา คือมันดีมาก ตอบรับกับโจทย์การออกแบบเฟอร์นิเจอร์เอ๊าต์ดอร์ของเรา ตัวผ้าเหมาะกับการทำเปลได้อย่างดี สามารถใช้คุณสมบัติของผ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อลองนอนหรือใช้งานเเล้วจะรู้สึกได้ถึงความสบายเเละผ่อนคลาย โดยผ้าเอ๊าต์ดอร์นี้สามารถกันแดดเเละฝนได้ มีความยืดหยุ่นสูง ทนทาน เเละทำความสะอาดง่าย เเตกต่างจากผ้าใบที่ใช้ทำเปลทั่วไป”

CAMP STUDIO

“เราคำนึงถึงความสบายเป็นหลัก การรับน้ำหนักของผืนผ้าถือว่าสามารถทำได้ดี ซึ่งมันดีเกินกว่าสเป็กที่เราเคยใช้อยู่ ส่วนขนาดเเละสัดส่วนของเปล เราดีไซน์ให้สามารถใช้แขวนกับต้นไม้หรือเสาในอาคารได้เพียงต้นเดียว สัดส่วนของเปลจึงดูแตกต่างจากเปลทั่วไปที่เราเคยพบเห็นกันมา โดยฐานหรือขาของเปลนั้นได้รับการออกแบบให้สามารถถอดประกอบได้ ช่วยให้สามารถขนย้ายสะดวก ” คุณปุริม  กล่าวเสริม 

“ขาเปลเป็นงานน็อกดาวน์ที่สามารถถอดประกอบได้ เพราะเสน่ห์ของการแคมป์ปิ้งคือการพับเก็บเเละขนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้สะดวก จึงออกแบบให้ขาเปลถอดเก็บได้ ต่างจากงานที่เคยทำมาของ Studio 248 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ไม่สามารถทำให้เล็กลงเพื่อการเดินทาง เราได้ใช้ประสบการณ์จาก Studio 248 มาใช้กับงานนี้ ร่วมด้วยวัสดุของ SOL OUT ซึ่งช่วยให้งานออกแบบสามารถก้าวไปได้ไกล ในวงการผ้าเอ๊าต์ดอร์แทบจะไม่มีผ้าตัวนี้ใช้เเม้ในต่างประเทศก็ตาม พอได้เห็นผ้านี้เราสามารถพัฒนาเป็นโปรดักต์ต่าง ๆ ได้อีกเยอะ นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของโปรดักต์แรกของอุปกรณ์เอ๊าต์ดอร์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่างจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา การออกเเบบครั้งนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ดีแค่ไหน”

อ่านแนวคิดของ CAMP STUDIO และเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่: จาก STUDIO 248 สู่ CAMP STUDIO ก้าวใหม่ที่สะท้อนความหลงใหลและประสบการณ์ในการออกแบบ

ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTIONS

ชมภาพแฟชั่นเซ็ตในโปรเจ็กต์พิเศษ ‘room X SOL OUT Collaborative Collections’ (ที่นี่) ก่อนไปชมผลงานจริงในบู๊ธกิจกรรม room showcase ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ Midyear 2019 “Hand & Heart” วันที่ 3 – 11 สิงหาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา ฮอลล์ 98 – 104

| ไฮไลต์เน้นๆ ที่คุณจะเห็นชัดๆ ในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2019


เรื่อง: ND24
ภาพ: นันทิยา, ณัฐพงศ์ กิตติวรพงษ์กิจ, วงศกร จิรชัยสุทธิกุล, นวภัทร

ขอบคุณ Baba Beach Club Hua Hin by Sri panwa ที่เอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับถ่ายทำแฟชั่นเซ็ต