ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ห้องสมุดแห่งอนาคตของผู้เรียนด้านการออกแบบ
ห้องสมุดสถาปัตย์ฯ

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ห้องสมุดแห่งอนาคตของผู้เรียนออกแบบ

ชั่วโมงนี้คงไม่มีห้องสมุดไหนจะน่าเข้ามากไปกว่า ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกแล้ว

หลังจากที่คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกแห่ง Department of Architecture และยังเป็นศิษย์เก่าของคณะสถาปัตย์ฯ ได้ปรับปรุง ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ใหม่ภายใต้งบประมาณบริจาคของคุณเสริมสิน สมะลาภา ศิษย์เก่าอีกท่านของคณะ โดยอยู่บนพื้นฐานคำถามว่าห้องสมุดในยุคนี้ที่ใช้งานไปได้ถึงอนาคตควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะห้องสมุดของผู้เรียนด้านการออกแบบ

จากการศึกษาพูดคุยและเก็บข้อมูลมากมาย คุณทวิตีย์จึงตีความห้องสมุดยุคใหม่ให้เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในตัวเองด้วยฟังก์ชันใหม่ที่หลากหลายขึ้นมากกว่ามุมอ่านหนังสือแบบเดิม ๆ ตั้งแต่ชั้น 2 ของ ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงเป็นพื้นที่เปิดแบบ Co-Working Space ห่อหุ้มด้วยโครงเหล็กโปร่งเกาะเกี่ยวกันเป็น Grid ที่ว่างเปล่าและไม่สมบูรณ์เพื่อให้นิสิตได้นำผลงานมาจัดวาง มีบอร์ดแม่เหล็กแผ่นใหญ่และจอทีวีเอื้อต่อการจัดนิทรรศการ และยังเป็นทางสัญจรหลักที่เปิดให้ผู้คนมาพบปะแลกเปลี่ยนกันได้ง่าย

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
พื้นที่ Co-Working Space บริเวณชั้น 2 ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยโครงเหล็กโปร่งเชื่อมต่อกันแบบ Grid
ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
โครงสร้างเหล็กโปร่งต่อเนื่องกันแบบ Grid เป็นส่วนของบันไดหลักภายในห้องสมุด
ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
มุมโซฟาสำหรับการนั่งเอนหลังแบบสบายๆ
ห้องสมุดบริเวณชั้น 3 รายล้อมด้วยหนังสือบนชั้นวางหลากดีไซน์ รวมถีงแบบโชว์หน้าปกสวยๆ ที่บรรณารักษ์สามารถนำเล่มใหม่ๆ หรือจัดวางหมวดเนื้อหาพิเศษเหมือนในร้านหนังสือ

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ส่วนพื้นที่ห้องเก็บหนังสือเกือบสองหมื่นเล่มเริ่มต้นที่ชั้น 3 ด้วยชั้นวางต่างดีไซน์ทั้งแบบหันเอียงเล็กน้อยพร้อมป้ายหมวดหนังสือ ชั้นวางหนังสือใหม่ที่ออกแบบแป้นวางพิเศษให้รองรับหนังสือได้ทุกขนาด และชั้นวางเป็นช่องเพื่อเน้นโชว์หน้าปกสวยๆ สร้างมุมมองแบบร้านหนังสือ จึงไม่แปลกถ้าจะเจอหนังสือชวนให้หยิบอ่านแบบไม่ได้ตั้งใจ ขณะเดียวกันยังมี Quiet Room ห้องสีเขียวกับที่นั่งอ่านหนังสือในคอกสีขาวซึ่งจัดวางเรียงแบบเขาวงกตโดยกำหนดระดับความเป็นส่วนตัวผ่านความสูงของฉากกั้นสีขาวที่สามารถมองผังรวมของห้องสะท้อนผ่านเพดานกระจกได้อย่างมีมิติและสวยงาม

Quiet Room เป็นห้องสำหรับนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ที่นำรูปแบบคอกกั้นในอดีตมาปรับดีไซน์ให้ทันสมัยขึ้น และมองผังรวมได้จากมุมสะท้อนผ่านเพดานกระจก
ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
การจัดวางเรียงที่นั่งแบบเขาวงกตเพื่อให้ชั้นในสุดมีฉากกั้นสูงและได้ความเป็นส่วนตัวขึ้นมากตามลำดับ

ความผ่อนคลายยิ่งมากขึ้นเมื่อขึ้นมาที่ชั้น 4 จากบันไดเล็กๆ แบบเดิมก็เปลี่ยนให้เป็นบันไดยักษ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่นั่งของโถง Auditorium สำหรับกิจกรรมฉายหนังหรือเสวนาต่างๆ โดยชั้นบนสุดจัดวางโต๊ะเตี้ยกับเบาะนั่งบนพื้นเสื่อ พร้อมกับมุมแอบงีบให้นิสิตที่โหมทำงานส่งข้ามคืน ดีไซน์ที่โดดเด่นสุดคือลวดลายแผนที่กรุงเพทฯ บนเพดานซึ่งเป็นงานวิจัยเล็กๆ ของรศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ เพื่อบอกถึง 9 โครงการสำคัญในรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาจราจร การป้องกันน้ำท่วม และการป้องกันน้ำเสียในกรุงเทพฯ

บันไดขนาดยักษ์ซึ่งออกแบบให้เป็นที่นั่งสำหรับโถง Auditorium ไปในตัว
เหนือ Auditorium เป็นมุมนั่งกับพื้นเสื่อที่ให้ความผ่อนคลายมากสุด
เพดานโถงติดด้วยแผ่นอะคูสติกซับเสียงและเจาะเป็นลวดลายแผนที่กรุงเทพฯ ซึ่งบอกถึง 9 โครงการสำคัญในรัชกาลที่ 9

เชื่อว่าถ้าบ้านเรามีห้องสมุดที่มีการใช้งานได้หลากหลายพร้อมสร้างแรงบันดาลใจในทุกกิจกรรมแบบนี้กระจายอยู่ทั่วเมือง จะต้องมีคนเข้าห้องสมุดมากขึ้นและเป็นประจำอย่างแน่นอน

ที่ตั้ง: 254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
โทร. 02 218 4335

เปิดบริการ วันจันทร์-ศุกร์ สำหรับนิสิตในจุฬาฯ

วันพุธสำหรับนิสิตและคณาจารย์ต่างสถาบัน
เวลา 8.30-18.00 น.

และวันเสาร์ สำหรับนิสิตในจุฬาฯ และบุคคลภายนอก
เวลา 10.00-16.00 น.

เรื่อง ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

THE MIST HOT SPRING HOTEL HENAN เมื่อไอน้ำเปลี่ยนสถานะเป็นสถาปัตยกรรม