‘แสงเหนือ’ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หลายคนฝันใฝ่อยากไปดูให้เห็นกับตาสักครั้งในชีวิต ขนิษฐา นวลตรณี เป็นหนึ่งในนั้น
นักออกแบบลายผ้าเจ้าของแบรนด์ Kaniit.Textile ผู้นี้มีโอกาสได้เห็นแสงเหนือในห้วงเวลาที่เธอได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านงานศิลปะสิ่งทอในหลักสูตร Textile Art and Design ที่มหาวิทยาลัย Aalto University กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินเเลนด์ หลังจากเรียนจบการศึกษาในสาขาออกแบบอุตสาหกรรม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขนิษฐา เป็นผู้ออกแบบเสื่อลวดลายใหม่ สีสันสดใส ในชื่อคอลเล็กชั่น ‘Aamu’ จาก PDM Brand สีสันและลวดลายที่เห็นนั้นเกิดมาจากความประทับใจในแสงเหนือที่เธอได้เห็นครั้งแรกในชีวิต
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากคลื่นแม่เหล็กบริเวณประเทศแถบขั้วโลก ทำให้เกิดลำแสงสีขาว เขียว และชมพูเคลื่อนไหวเสมือนการเต้นระบำอยู่บนท้องฟ้าในเวลากลางคืน เธอบอกว่าการได้เห็นลำแสงสีต่าง ๆ มาผสมผสานกันและเคลื่อนไหวไปมาอย่างอิสระบนท้องฟ้าแบบนั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจหลักในการออกแบบคอลเล็กชั่น Aamu (อามู) ซึ่งมาจากคำว่า aamurusko (อามูรุสโกะ) ในภาษาฟินแลนด์ที่แปลว่า ‘แสงเหนือ’
“ความคิดเริ่มต้นของการออกแบบคอลเล็กชั่นนี้ เกิดจากความคิดเวลาที่นึกถึงเสื่อของ PDM Brand” ขนิษฐา เล่าแนวคิดในการออกแบบลายเสื่อผืนนี้
“เพราะภาพจำภาพแรกที่เข้ามาในหัว คือเสื่อ PDM Brand ที่มีลายกราฟิกคม ๆ และใช้สีขาวดำเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมีโอกาสมาออกแบบจึงคิดว่า ถ้าจะให้ทำลายเสื่อใหม่ ก็อยากลองทำแบบ ‘เสื่อมั่ว’ ที่มีสีเยอะ ๆ แล้วผสมกันแบบมั่ว ๆ แต่ดูเนียน ๆ ดูบ้าง อยากให้เสื่อมีลวดลายแนวแอบสแตร็คไปเลย ไม่อยากทำเสื่อที่เป็นลายกราฟิกชัดๆ มาแข่งกับลายที่มีอยู่”
เสื่อมั่วในความหมายของเธอได้ซ่อนความยากและซับซ้อนในการคัดลอก ทำซ้ำ จากแบรนด์หัวขโมยอื่น ๆ ไปโดยปริยาย เธอบอกว่า “ด้วยอาชีพหลักของคือการออกแบบผ้าทอ สิ่งสำคัญก็คือเรื่องของการเลือกโครงสร้างการทอมาใช้ให้ถูก การผสมผสานวัสดุได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดลักษณะของลวดลาย สี และผิวสัมผัสที่ตรงกับโจทย์หรือแนวคิดที่ตั้งขึ้นมา”
“ในการออกแบบเสื่อ Aamu ก็คล้ายกับการออกแบบงานสิ่งทอประเภทหนึ่ง ซึ่งมีพื้นฐานเหมือนกัน มีเส้นยืนและเส้นพุ่ง ใช้วิธีการขัดสานแนวแกน X แกน Y เหมือนกัน แต่ความยากในการออกแบบลวดลายเสื่อจะแตกต่างไปจากการออกแบบผ้าทอตรงที่รูปแบบและเทคนิคของเครื่องทอที่ใช้กันคนละวิธีกัน ดังนั้นวิธีการคิดลายจึงต้องมีการปรับจูนวิธีการออกแบบลายก่อนถึงจะสามารถทำได้
“ในการออกแบบเสื่อผืนนี้ เราใช้ความสามารถของเครื่องทอแจ็คการ์ด (Jacquard) ที่เป็นเครื่องจักรที่ทอได้มากสุด 4 สีและสามารถทอลายแต่ละเส้นได้แบบไม่ซ้ำกันเลย การผสมสีกันของลวดลายที่พริ้วไหวของเสื่อผืนนี้เกิดมาจากการพล็อตโครงสร้างลวดลายเองทีละเส้น จำนวน 1,200 เส้น โดยไม่ใช้โปรแกรมอัตโนมัติ (Auto program) แต่ละเส้นไม่มีตำแหน่งซ้ำกันเลย เพราะตัวงานเท็กซ์ไทล์กับเสื่อเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดและใส่ใจสูงมากในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะงานทอที่ต้องลงดีเทลในแต่ละเส้นที่จะทอ เพื่อที่จะได้งานมีความแตกต่างและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“ดังนั้น นอกจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องการทอผ้าที่เป็นตัวช่วยแล้ว ในการออกแบบคอลเล็กชั่นนี้ ยังต้องอาศัยความถึกซึ่งเป็นความถนัดเฉพาะตัวของเราเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ที่คิดว่าจะทำให้เสื่อผืนนี้มีเอกลักษณ์และลอกเลียนได้ไม่ง่ายด้วย”
ปัจจุบันนอกจากการเป็นนักออกแบบอิสระที่ชอบเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ รอบตัว ขนิษฐายังโฟกัสไปที่การออกแบบพื้นผิวและงานศิลปะสิ่งทอ ควบคู่ไปกับการเป็นนักออกแบบลายผ้าให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และการเป็นอาจารย์พิเศษด้านออกแบบสิ่งทอให้กับโรงเรียนออกแบบชั้นนำในประเทศไทย
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก PDM Brand
เรียบเรียง: ND24