เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ประกาศรับรองกรุงเทพมหานครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดสุโขทัยเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts) เมื่อ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอีกหลายหน่วยงาน เตรียมแผนระยะกลางและระยะยาว กระตุ้นให้เมืองคึกคัก พัฒนาคุณภาพชีวิตคนด้วยความหลากหลายในความคิดสร้างสรรค์
ในส่วนของเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ จากการสัมภาษณ์อาจารย์อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA [Creative Economy Agency (Public Organization)] ได้กล่าวถึงรายละเอียดของการรับรองจากยูเนสโกในครั้งนี้ว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ศึกษาและจัดทำข้อมูล รวมถึงแผนงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ร่วมกับองค์กร หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ และกลุ่มต่างๆ อีกกว่า 40 กลุ่ม ไปให้กับทางยูเนสโกพิจารณา และเชื่อว่าเมื่อเราได้รับรองความเป็น Creative City มาแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาเมืองในด้านของความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นไปอีก อาทิ อย่างแนวคิดการออกแบบป้ายรถเมล์ที่มีการออกแบบกราฟิกเส้นทางเดินรถแบบใหม่ซึ่งละเอียดและชัดเจนขึ้นใช้ชั่วคราวในงาน Bangkok Design Week ปีก่อน ปัจจุบันตอนนี้ทางกทม. ก็ได้เริ่มไปใช้งานจริงแล้ว
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีเมืองที่อยู่ในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์มาก่อนแล้ว คือเชียงใหม่ในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน และภูเก็ตในด้านอาหาร แต่กรุงเทพฯถือเป็นเมืองแรกของไทยที่ได้รับรองในหมวด City of Design สำหรับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกที่อยู่ในด้านนี้มีทั้งหมด 31 เมืองด้วยกัน อาทิ เบอร์ลิน เฮลซิงกิ สิงคโปร์ โซล ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ บันดุง เมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮานอยของเวียดนาม และเซบูของฟิลิปปินส์ รวมทั้งเมืองอะซาฮิกาว่าของญี่ปุ่น ยังได้รับการรับรองเป็นเมืองเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบในปีนี้ด้วยเช่นกัน โดยการพิจารณารับรองใหม่จะมีขึ้นทุก 4 ปี หลังจากได้รับการรับรอง
หลังจากนี้จะมีการออกแบบตราสัญลักษณ์ของเมืองคู่กับตราสัญลักษณ์ที่ได้รับจากยูเนสโกเพื่อมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้ หากโครงการนั้นส่งเสริมเมืองและผู้คนให้ดีขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพราะการได้รับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบจะไม่หยุดแค่การรับรองบนกระดาษเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือผู้คนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยทั้งจากแนวคิดใหม่ ๆ นวัตกรรม การออกแบบ การจัดการเรื่องต่าง ๆ ของเมือง ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่าย เพื่อเมืองที่น่าอยู่และมีชีวิตชีวาอย่างยั่งยืน
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: เอกสารประชาสัมพันธ์