BKK Green Link ทางเชื่อมสีเขียวมหานครโมเดลแก้ปัญหาจุดเสื่อมโทรมในกทม.
กระตุ้นเศรษฐกิจ(ความคิด) เมือง และผู้คน ด้วยทางเดินสีเขียวจากพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ในกทม.

กระตุ้นเศรษฐกิจ (ความคิด) เมือง และผู้คน ด้วยทางเดินสีเขียวจากพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ในกทม.

“พื้นที่สีเขียว” ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นับวันยิ่งหายาก เพราะต้องต่อสู้กับระบบผังเมือง และการเจริญเติบโตของเมืองที่เน้นการสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีจำนวนน้อยอยู่เเล้ว ยิ่งไม่ได้รับการเปิดพื้นที่ใหม่ หรือได้รับการพัฒนาให้เพียงพอต่อความต้องการ BKK Green Link ทางเชื่อมสีเขียวมหานคร

ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็ยังมีพื้นที่รกร้างที่ถูกปล่อยทิ้งอย่างไร้ประโยชน์มากมาย เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน ทางเดินริมคลอง ทางเดินริมทางรถไฟ และทางเท้าริมถนน ซึ่งมีศักยภาพที่สามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาเพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ได้ จะเป็นอย่างไรหากมีผู้มองเห็นคุณค่า เเล้วร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการดี ๆ ขึ้น จนกลายเป็นโครงข่ายสีเขียวเชื่อมต่อถึงกันทั่วทั้งเมือง BKK Green Link ทางเชื่อมสีเขียวมหานคร

วันนี้เราจึงขออาสาพาคุณไปพูดคุยกับผู้ริเริ่มโครงการ “BKK Green Link ทางเชื่อมสีเขียวมหานคร” ภายใต้เเนวคิดสีเขียวเพื่อชาวกรุงเทพฯ กับการพลิกโฉมพื้นที่รกร้างเหล่านั้นให้น่าเข้ามาใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังกระตุ้นให้ชาวชุมชนในพื้นที่โดยรอบ มีส่วนในการดูเเล พัฒนา เเละกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ย่านนั้นไปพร้อมกัน

คุณยศพล บุญสม
คุณยศพล บุญสม

โครงการดี ๆ ที่ใช้กรุงเทพฯ เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาพลิกฟื้นย่านเสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวนี้คือ “BKK Green Link ทางเชื่อมสีเขียวมหานคร” จากบริษัท ฉมา จำกัด และ บริษัท ฉมา โซเอน จำกัด โดยคุณยศ – ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เป็นผู้นำพาไปรู้จักโครงการภายใต้แนวคิด “Revitalize City Infrastructure to Relink Urban Life” เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของเมืองที่มีอยู่แล้ว เพื่อเชื่อมชีวิตผู้คนให้เดินถึงกัน ฟื้นฟูเมือง และคืนธรรมชาติให้อยู่ร่วมกับวิถีคนเมือง

“แนวคิดสีเขียวกับการปรับเปลี่ยนพื้นที่ลับ (ตา) ที่ถูกทอดทิ้ง เช่น ใต้ทางด่วน ทางเดินริมคลอง ทางเดินริมทางรถไฟ และทางเท้าริมถนน ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ช่วยเชื่อมโยงพื้นที่กลางกรุงเทพฯ ให้ผู้คนสามารถใช้เดิน ปั่นจักรยาน ออกกำลังกายเเละพักผ่อนได้ เป็นการฟื้นฟูเมืองและคืนธรรมชาติให้อยู่ร่วมกับวิถีคนเมืองอย่างน่าสนใจเเละยั่งยืน” ยศพล บุญสม

 

01  เมืองกลับด้านที่โตแต่หัว

เมื่อเมืองเติบโตอย่างรวดเร็วจากทุ่งกสิกรรมกลายเป็นมหานครอันรุ่งเรืองในช่วงเวลาไม่นาน ระบบผังเมืองเดิมที่มีคลองเป็นเส้นเลือดใหญ่ ได้ถูกเปลี่ยนให้คลองกลายเป็นหลังบ้าน แล้วนำเข้าเทคโนโลยีมาสร้างเมืองใหม่ เราไม่ตัดพ้ออดีต แต่จะเดินไปข้างหน้าจากสิ่งที่เป็นอยู่อย่างไร คุณยศให้ความคิดเห็นว่า

“เมื่อก่อนบ้านเมืองเติบโตตามคลอง ต่อมาก็ตามมาด้วยการตัดถนน และปัจจุบันเมืองขยายตัวตามทางด่วนและรถไฟฟ้า ทำให้เมืองถูกแบ่งเป็นก้อน ๆ มีพื้นที่สีเขียวน้อยลง เเล้วเปลี่ยนเป็นพื้นที่คมนาคมมากขึ้น มีมลภาวะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสภาวะเกาะความร้อน จนกลายเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างทุกวันนี้ ผมมองว่าเราไม่สามารถเอาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของเมืองที่ทำไว้แล้วออกได้ แต่คิดในอีกมุมว่าโครงสร้างเหล่านั้นจะสามารถสร้างการเชื่อมโยงและทำให้เกิดประโยชน์ในอีกมิติกับเมืองได้ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้มีการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ทางเดินริมคลอง ทางเท้าริมทางรถไฟ เเละพื้นที่ใต้ทางด่วน เหตุผลที่เราเลือกพื้นที่กลางเมือง เพราะในปัจจุบันและอนาคตจะเกิดโครงข่ายรถไฟฟ้ามากขึ้น มีคนเข้ามาใช้มากขึ้น แต่ยังขาดโครงสร้างที่รองรับการเดินเท้าของผู้คน การเดิน และปั่นจักรยานไม่ก่อมลภาวะ เมื่อมีคนเดินก็จะเกิดการไหลเวียน ทำให้ผู้คนเข้าถึงย่าน กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เเละลดปัญหาอาชญากรรม ”

เมื่อเมืองมีความศิวิไลซ์จึงดึงดูดคนให้มากระจุกตัวกัน ทางการจึงเร่งพัฒนาระดับบนเพื่อรองรับธุรกิจและการลงทุน แต่การพัฒนาระดับล่างที่เป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับคุณภาพชีวิตกลับไม่คู่ขนานกัน จึงเหมือนคนหัวโตขาลีบที่เดินไม่มั่นคง แต่ทำไมใคร ๆ ก็ยังอยากย้ายมาอยู่ในเมืองกัน

“เพราะในเมืองมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราเสพ ผมไม่เชื่อว่าในชีวิตเราจะมีแต่เรื่องทำงาน ช้อปปิ้ง และการกิน ยังมีมิติอื่นสำหรับความเป็นมนุษย์ เราต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการอยู่กับธรรมชาติ เราทุกคนรู้ว่าเมืองที่ดีคือเมืองที่มีธรรมชาติอยู่รอบตัว มีสุขภาพดี มีอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องประหลาดที่เราต้องขับรถออกไปนอกเมืองเมื่อต้องการสิ่งเหล่านั้น”

02 เชื่อมเมืองเพื่อโตอย่างยั่งยืน

การทำเมืองให้น่าอยู่ ไม่อาจพัฒนาเฉพาะเศรษฐกิจได้ เพราะเมืองมีหลายมิติประกอบกัน จึงนำเสนอการเชื่อมโยงใน 5 มิติ เพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน คือ

1.เชื่อมต่อการคมนาคม เพื่อสร้างทางเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2.เชื่อมโยงย่าน สถานที่สำคัญ พื้นที่สาธารณะของเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

3.เชื่อมคน ชุมชน ผ่านพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกคน เช่น สวนสาธารณะ หรือ Pocket Park

4.เชื่อมธรรมชาติ คืนพื้นที่สีเขียวสู่เมือง

5.เชื่อมเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองและสร้างความยั่งยืน

เชิ่อมโยงพื้นที่ที่ถูกมองข้าม         

โครงการนี้ไม่ได้เสนอให้สร้างใหม่ โดยมุ่งพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีโครงสร้างเดิมอยู่แล้วให้ดีขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกันได้ คือ

1.ทางเดินริมคลอง เป็นพื้นที่มีศักยภาพเชื่อมต่อระหว่างการคมนาคมทางน้ำกับบนบก

2.ทางเท้า สร้างประสบการณ์ในการเดินเท้า และส่งเสริมให้เกิดปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมือง

3.พื้นที่ริมทางรถไฟ เป็นพื้นที่มีศักยภาพทำทางเดินเท้าสำหรับประชาชนเพื่อเป็นทางเชื่อมไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

4.พื้นที่ใต้ทางด่วน ถ้าเปลี่ยนใต้ทางด่วนเป็นสวนสาธารณะจะมีขนาดเท่ากับสวนลุมพินี 4.5 สวน

03  54 กิโลเมตร เส้นทางลับ(ตา) ที่ต้องการผู้บุกเบิก

โครงข่าย BKK Green Link มีความยาวรวม 54 กิโลเมตร ทิศเหนือถึงบริเวณย่านคมนาคมบางซื่อ ทิศตะวันออกถึงแนวถนนวิภาวดีรังสิต ทิศตะวันตกถึงแนวถนนพระราม 6 และทิศใต้ถึงบริเวณถนนเชื้อเพลิงริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งเป็นวงแหวนเส้นทางหลัก 28 กิโลเมตร มี 4 เส้นทาง และเส้นทางย่อย 26 กิโลเมตร มี 8 เส้นทาง รวมทั้งหมด 54 กิโลเมตร เป็นโครงการนําร่องย่านใจกลางเมือง เนื่องจากมีคนและการพัฒนาหนาแน่นทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีโครงข่ายระบบราง หากพัฒนาโครงข่ายทางเดินและทางจักรยานให้เชื่อมโยงถึงระบบรางจะทําให้การพัฒนาเมืองชั้นในทำได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

“ทางเชื่อมสาทร” ตัวอย่างหนึ่งเส้นทางหลัก

ทั้งโครงการมี 4 เส้นทางหลัก และ 8 เส้นทางย่อย เราขอยกตัวอย่างหนึ่งเส้นทางหลัก คือ SathornLink บริเวณถนนสาทรที่ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร โดยออกแบบเกาะกลางถนน ทางเท้า และทางเดินลอยฟ้าที่มีโครงสร้างอยู่แล้ว ให้เป็น “Eco Smart Street Link” เป็นการรวมเทคโนโลยี ธรรมชาติ และพื้นที่กิจกรรมไว้ในย่านธุรกิจของสาทร เสนอให้มีการลดขนาดเลนรถยนต์ เพื่อให้กลายเป็นทางเท้า เเละเลนจักรยาน ทั้งยังออกแบบบริเวณเกาะกลางถนนเป็นสวนสำหรับพักผ่อนและพื้นที่กิจกรรมให้สัมผัสประสบการณ์แห่งคลองสาทร ทั้งยังเป็น Rain garden หรือสวนน้ำฝน ที่ใช้ประโยชน์จากไม้พุ่มและไม้คลุมดินช่วยชะลอและดูดซับน้ำฝน

04 ระยะเดิน 400 เมตร เงินก็สะพัดได้

เชื่อไหมว่าปัญหาใหญ่ ๆ ของเมืองเริ่มต้นแก้ได้ด้วยการใช้สองเท้าก้าวเดินและปั่นสองล้อ การจะชวนให้ลดการใช้รถยนต์ก็ควรมีทางและโครงข่ายให้เดินถึงกันได้อย่างปลอดภัยและน่าใช้งาน

“ในเมืองมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่มีศักยภาพกระจายอยู่มาก ถ้าสามารถเชื่อมให้เป็นแนวเดียวกันได้ก็จะน่าสนใจ เราวิเคราะห์กันว่าถ้าทำแล้วจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากแค่ไหน ดูดซับอะไรได้บ้าง และกระตุ้นย่าน ที่ดิน และเศรษฐกิจได้ เพราะเมื่อคนเดินหรือปั่นจักรยานก็จะมีการเข้าถึงย่านต่าง ๆ มากขึ้น ย่านก็จะเริ่มฟื้นฟู หรือเมื่อเข้าถึงสถานีขนส่งสาธารณะได้ด้วยการเดินอย่างสะดวก วิธีนี้ก็จะลดการใช้รถยนต์ได้ จากข้อมูลของ UN บอกว่าเราควรเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้ใน 400 เมตร (เทียบเท่า 1 รอบสนามฟุตบอล) หรือ 5-10 นาที ซึ่งเป็นระยะที่ทุกคนควรจะเข้าถึงบริการสาธารณะได้”

เมื่อเกิดวัฒนธรรมการเดิน ชุมชนโดยรอบก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วย เช่น พัฒนาหน้าบ้าน หน้าชุมชนให้น่าเข้า ทำร้านให้น่าใช้บริการ เมื่อเกิดการค้าขายก็เกิดเงินสะพัดได้ และยังได้ประโยชน์ในอีกหลายมิติ

ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

-เพิ่มมูลค่าที่ดิน พื้นที่สีเขียวจะช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินขึ้นประมาณ 20 %

-กระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของย่านเติบโตขึ้น เมื่อคนเดินเข้าถึงและทำให้เกิดกิจกรรมตลอดทางเดิน

-ลดค่าเดินทาง เมื่อเดินเข้าถึงการขนส่งสาธารณะได้ หรือเดินไปยังจุดหมายได้ก็จะลดค่าเดินทางลง

-ลดค่ารักษาพยาบาลการเดินวันละ 30 นาที ลดการเกิดหลอดเลือดอุดตัน 27 %

สังคมน่าอยู่

-ได้พื้นที่ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เราจะได้เส้นทางฮาฟมาราธอนใหม่ หรือเทียบเท่า 135 รอบสนามฟุตบอล

-เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าใช้ได้ฟรี

-ลดจุดเสี่ยง เมื่อมีคนเข้ามาใช้พื้นที่ หรือมีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยไม่ให้เกิดจุดอับเเละจุดเสี่ยงอันตราย

-ลดการใช้รถยนต์ เท่ากับช่วยลดมลภาวะลงไปด้วย

 

สิ่งแวดล้อมดี

-เพิ่มต้นไม้ใหญ่ กว่า 10,800 ต้น หรือพื้นที่สีเขียว 1,080,000 ตารางเมตร หรือเท่ากับยก 2.7 สวนลุมพินีมาไว้กลางเมือง

-ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อมีต้นไม้ก็จะเกิดระบบนิเวศขึ้นตามธรรมชาติ

-ลดมลภาวะ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 1,620 ตัน กรองฝุ่นได้ปีละ 3,530 ตัน ซึ่งถ้าเทียบเท่าการใส่ฝุ่นในรถบรรทุกได้ 141.2 คัน

-ยับยั้งและดูดซับน้ำท่วม 54,000 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่า 213 สระว่ายน้ำโอลิมปิก และลดอุณหภูมิลง 0.4-3 องศาเซลเซียส ในระยะ 30 เมตรโดยรอบ

หมายเหตุ สถิตินี้คิดจากระยะทางคนเดินและทางจักรยานในโครงการ 54 กิโลเมตร โดยปลูกต้นไม้ตลอดสองข้างถนนทุก ๆ ระยะ 10 เมตร พื้นที่การปลูกแต่ละจุดคือ 4 ตารางเมตร

05 การทำให้เป็นจริง ความยากที่เราต่างรู้

ครั้งนี้ไม่ใช่โครงการแรกสำหรับทีมฉมา และ ฉมา โซเอน แต่กว่า 10 ปี กับการทำงานร่วมกับชุมชน และหน่วยงานราชการ ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จทั้งโครงการ แต่ถ้าไม่มีใครเริ่มต้นก็ไม่มีทางเกิดสิ่งที่ดีกว่า

“ปัญหาของบ้านเรา คือ ถ้าจะทำทั้งหมดให้เกิดขึ้นจริงได้จะต้องคุยกับ 10-20 หน่วยงาน แค่ฟังก็เหนื่อยแล้วใช่ไหม เพราะเจ้าของที่ดินไม่ใช่เจ้าของเดียว ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของกรุงเทพมหานคร แต่ริมตลิ่งและในน้ำเป็นของกรมเจ้าท่า ใต้ทางด่วนและตอม่อเป็นของกรมทางหลวงและพวกเขาก็ไม่ได้มีพันธกิจเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว จะมีก็เป็นการปลูกต้นไม้ริมทางตามกฎหมายแบบขั้นต่ำ ซึ่งถ้าจะให้ทำมากกว่านี้ก็ต้องลงทุน ต้องชวนภาคเอกชนมาร่วมด้วย แต่ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นมาลงทุนและลงมือทำกันจริงจัง การทำโครงการให้เป็นจริงได้จึงต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพคอยประสานทุกฝ่ายเข้าหากัน

“ในกรณีที่ไม่มีเจ้าภาพเลย ก็ต้องสร้างความร่วมมือกันของชุมชน หรือภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมกับภาควิชาการ เพื่อทำเป็นโครงการเสนอให้เจ้าของพื้นที่ ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ เพราะในมุมของหน่วยงานราชการก็ต้องการข้อมูลบางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการมีความเป็นไปได้จริง” 

ฟังแล้วก็เห็นทางออก แต่ในส่วนลึกนั้นก็กลัวความยากของระบบองค์กรที่เราไม่ต้องพูดก็ต่างรู้กันดี แต่ปณิธานที่แน่วแน่จะทลายความกลัว เพราะรู้ว่าจุดจบปลายทางนั้นน่ากลัวมากกว่า

 “วิชาชีพสถาปนิกและนักวิชาการต่าง ๆ เป็นตัวเชื่อมสำคัญ เพราะเรารู้ว่าจะชวนคุยและนำเสนออย่างไรให้เห็นทางเลือกที่ดี เราต้องทำข้อมูลเชิงเศรษฐกิจให้ชัดขึ้นว่ามันช่วยให้พื้นที่เมืองดีขึ้น กระตุ้นย่าน เป็นการชี้ช่องให้เห็นว่าควรจะลงทุนตรงไหน แล้วนำเสนอให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน ทำคนละนิดละหน่อย ก็จะรวมออกมาเป็นภาพใหญ่ที่ต่อกันได้ สิ่งที่ยากกว่าการออกแบบ คือ การนำเสนอภาพใหญ่นี้ให้ส่วนรวมเห็น เพื่อจะได้เป็นเข็มทิศให้เดินไปทางเดียวกัน เป็นประโยชน์ร่วมกัน มิติของชุมชนและเมืองค่อย ๆ ขาดหายไป คนในสังคมจะคิดถึงเฉพาะตัวเอง ชีวิตจะมีแต่ที่พัก ที่ทำงาน และห้างสรรพสินค้า การต่างคนต่างอยู่เป็นเรื่องน่าคิดและน่ากลัว ทำให้เราเสียตัวตนไปเรื่อย ๆ เมืองมีพลวัตร มีคนหลากหลาย แล้วจะมีพื้นที่ไหนที่ทำให้คนที่อยู่ร่วมสังคมมีปฎิสัมพันธ์กัน และเข้าใจในบทบาทของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

  

06

“ลานกีฬาพัฒน์2” จากใต้ทางด่วนรกร้าง สู่ต้นแบบการฟื้นเมือง

พื้นที่ใต้ทางด่วนย่านอุรุพงษ์เคยเป็นพื้นที่ของ 5 ชุมชน หลังการเวนคืนและพัฒนาเป็นทางด่วนจึงแยกชุมชนเหล่านั้นออกจากกัน โครงการมีพื้นที่ประมาณ 22,400 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่งคือ ฝั่งเหนือ และฝั่งใต้คั่นด้วยถนน โดยฝั่งเหนือมีการทำลานคอนกรีตให้ประชาชนมาเล่นกีฬา พร้อมจัดสรรให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ส่วนฝั่งใต้มีการเข้าไปจอดรถตามที่รกร้าง โดยพัฒนาเป็นสวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อน โครงการนี้ริเริ่มโดยสำนักราชเลขาธิการ และเสร็จสิ้นเมื่อปี 2017

สภาพก่อนทำโครงการ มีประชาชนเข้ามาเล่นกีฬาอยู่แล้ว บางส่วนเคยได้รับการพัฒนา แต่กลับมารกร้าง และบางส่วนมีการล้อมรั้วจนกลายเป็นจุดเสี่ยงเเละจุดอับสายตา

คุณยศเล่าถึงโครงการนี้ว่า “เริ่มจากสำนักราชเลขาธิการ (ในขณะนั้น) หาพื้นที่สำหรับทำลานกีฬาให้ประชาชนโดยมีเอกชนร่วมบริจาค ซึ่งการมีเจ้าภาพที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญเพราะทำให้เกิดการร่วมมือและเชื่อใจ กรุงเทพมหานครเข้ามาปรับปรุงแล้วครั้งหนึ่ง แต่บางส่วนก็กลับมาร้าง ซึ่งเราวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากสิ่งที่ทำยังไม่ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของชุมชน ส่งผลให้การจัดการปรับปรุงดูแลเป็นเรื่องที่ยากตามมา เราจึงสอบถามความเห็นว่าชุมชนต้องการอะไร จะปรับพื้นที่ และมีการแบ่งการใช้ประโยชน์อย่างไร สิ่งที่ทำให้โครงการสำเร็จและยังคงมีการใช้งานมาร่วม 2 ปี คือ การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และภาครัฐ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การชวนกันมาทำโครงการ ขณะก่อสร้างพวกเขาก็มีส่วนร่วม และเมื่อเปิดใช้งานแล้วก็มาจัดกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งมีส่วนร่วมบริหารจัดการโดยเป็นคณะกรรมการร่วมกับภาครัฐ กำหนดการจัดกิจกรรมการดูแลรักษา ซึ่งมีสถิติจากสำนักงานเขตว่าความเสียหาย และค่าดูแลรักษาน้อยกว่าการดูแลสวนตามปกติ”

ออกแบบด้วยแนวคิด “ลานบ้าน ลานดิน”

“ลานบ้าน ลานดิน” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้านไทยมาตั้งเเต่สมัยดั้งเดิม เป็นลานใต้ถุนบ้านที่ใช้ทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน พื้นที่ใต้ร่มเงาของทางด่วนก็มีบรรยากาศที่คล้ายกัน และเป็นลานกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและระหว่างชุมชน เลือกใช้วัสดุธรรมดาแต่ใช้ให้คุ้มค่า เช่น คอนกรีต เหล็ก ตะแกรงเหล็ก เเละอิฐ อย่างการออกแบบลายก่ออิฐก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการจักสานของชุมชน”บ้านครัว” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 ชุมชนที่อยู่ในโครงการ ทั้งยังมีการแทรกพื้นที่สีเขียวโดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ดูแลง่าย เน้นปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่มบริเวณขอบพื้นที่เพื่อให้ได้รับแสงแดด และยังช่วยกรองมลพิษจากถนน 

ผังโครงการ ฝั่งเหนือเป็นลานกีฬา(ด้านซ้ายของผัง) ฝั่งใต้เป็นสวนสุขภาพ (ด้านขวาของผัง) สามารถใช้พื้นที่ได้ตลอดวันภายใต้ร่มเงาของโครงสร้างทางด่วน

การออกแบบโซน กิจกรรม เส้นทาง แสงสว่าง ต้นไม้ การเลือกพันธุ์ไม้และวัสดุ

ลานกีฬา (ฝั่งเหนือ) ในปัจจุบัน

 

ก้าวแรกคืออดีต ก้าวต่อไปคืออนาคต

ลานกีฬาพัฒน์ 2 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ BKK Green Link ซึ่งคุณยศหวังว่าจะเกิดการฟื้นฟูพื้นที่อื่น ๆ ให้เชื่อมต่อกัน

“การมีโครงการที่สำเร็จแล้วเป็นตัวอย่างช่วยให้แต่ละฝ่ายเห็นภาพลักษณะโครงการในอนาคตง่ายขึ้น ทำให้หน่วยงานรัฐด้วยกันเองเห็นว่ามันก็ไม่ได้ยากเกินกว่าจะทำได้ และหวังว่าจะเป็นแนวทางสำหรับโครงการต่อไป ในการเรียนรู้ร่วมกันว่าถ้าจะทำแบบนี้ต้องคลายกฎอะไรบ้าง รวมถึงต้องส่งเสริมและเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมลงทุนอย่างไร”

หากทุกคนคิดว่าทำแค่ภายในรั้วบ้านให้ดีก็พอแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้ารอบบ้านมัน “พัง” แล้วเราจะอยู่อย่างไร โครงการเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สำหรับคนเดินดิน มักไม่สวยหรู ไม่ดึงดูด เพราะต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะเห็นผล หรือเป็น “ผลงาน” การแก้ปัญหาในกรุงเทพฯ อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางจากปัญหาที่ซ้อนทับกัน แต่ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาเมืองอื่น ๆ ว่าถ้าเดินตามรอยกรุงเทพฯ แล้วจะเป็นเช่นไรในอนาคต

 

ภูมิสถาปัตยกรรม :  ShmaSoen Company Limited (www.shmadesigns.com, Facebook : Shmadesigns)
ผู้อำนวยการออกแบบ : ยศพล บุญสม / กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา
ภูมิสถาปนิก :  เหนือฝัน ติณรัตน์
จัดสวน : จันจิรา พึ่งสำเภา
ผู้ริเริ่มและพัฒนา :  Office of His Majesty´s Principal Private Secretary / Thai Health Promotion Foundation
สถาปนิก :  สถาบันอาศรมศิลป์


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ  : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, Shma, ShmaSoEn โดยAnongnardJungmongkolsawat /Panoramic studio
ข้อมูล/ภาพประกอบ : Shma, ShmaSoEn