THINKK TOGETHER ชวนตอบคำถาม “เราจะออกแบบเก้าอี้ตัวใหม่กันไปทำไม?” ผ่านนิทรรศการเก้าอี้ 21 ตัว
THINKK Together พื้นที่ค้นคว้าและทดลองทางความคิด เพื่อผลักดันความสำคัญและขยายขอบเขตของงานออกแบบระหว่างนักออกแบบต่างสาขา ช่างฝีมือ โรงงาน ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ได้ริเริ่มทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน อันจะเป็นคำตอบให้เเก่คำถามที่ว่า “เราจะออกแบบเก้าอี้ตัวใหม่กันไปทำไม?” ผ่านนิทรรศการครั้งใหม่ใน Bangkok Design Week 2020 ในชื่อ “WHY DO WE NEED ANOTHER CHAIR” เพื่อชวนทุกคนมาถกกันถึงความจำเป็นในการออกแบบเก้าอี้แบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปีทั่วโลก ในขณะที่เก้าอี้ที่เคยผลิตออกมากมายก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ รวมถึงบรรดาไอเดียในการออกแบบเก้าอี้ที่ผ่านมาโดยตลอด ก็ยังตกค้างและไม่ได้จางหายไปไหนอย่างแท้จริง
คำถามของนิทรรศการที่ชวนคิดนี้มีที่มาจากสตูดิโอออกแบบ THINKK Studio ซึ่งมีผู้ร่วมกันหาคำตอบจากหลากหลายภาคส่วนไม่ได้มีเเค่นักออกแบบเพียงฝ่ายเดียว กระทั่งตกผลึกความคิดออกมาเป็นเก้าอี้แบบใหม่ 21 แบบ โดยให้คำตอบเรื่องความจำเป็นของเก้าอี้เเต่ละเเบบแตกต่างกันไป
เช่น บ้างก็พูดถึงการไม่สร้างขยะ การหยิบใช้ศิลปะหรือของคุ้นเคยใกล้ตัว การให้ความสำคัญกับอรรถประโยชน์แก่คนหมู่มาก การใช้วัสดุและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมถึงการตอบสนองการใช้งานใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนในอดีต ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นความเห็นที่ชวนคิด และยังมีหลากหลายความคิดเห็นอีกมากมายที่กำลังเกิดขึ้นในนิทรรศการ
โดย room ได้เลือกเก้าอี้ 9 ตัว จากทั้งหมด 21 ผลงาน ซึ่งมีความน่าสนใจในเเง่ของการมองเห็นสภาพสังคม วัฒนธรรม เเละสิ่งแวดล้อมที่รอคอยการแก้ปัญหาโดยพวกเราทุกคน นับเป็นการกระตุ้นแนวคิดผ่านงานออกแบบ ภายใต้รูปโฉมของ “เก้าอี้” ซึ่งตัวมันอาจไม่ได้เป็นคำตอบ ๆ เดียวของประเด็นทั้งหมด แต่เชื่อว่าผู้ชมงานจะได้เห็นความสำคัญของการออกแบบเก้าอี้ที่เป็นมากกว่าเเค่การเอาไว้ “นั่ง” เพียงอย่างเดียวแน่นอน
01 | Ebba
โดย KAOI x THINKK Studio
เก้าอี้พักผ่อนที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของไอเดีย ด้วยการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของเก้าอี้ โดยแบ่งเป็นส่วนผ้าที่นั่ง กับส่วนขาพ่วงเเละส่วนพักแขน ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของเก้าอี้สามารถเลือกสลับสับเปลี่ยนเส้นสายของโครงส่วนขากับผ้าที่นั่งได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือเก้าอี้เเต่ละตัวนั้นจะบ่งบอกได้ถึงตัวตนของเจ้าของ เเละความชื่นชอบในสไตล์ที่เป็นปัจเจกไม่เหมือนกัน
02 | Aunty Bamm
โดย Bambunique x THINKK / Internship team
เก้าอี้ที่ได้รับการดีไซน์ขึ้นเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เนื่องจากเล็งเห็นว่าสภาพสังคมในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความพิเศษของเก้าอี้ไม้ไผ่โยกได้ตัวนี้ นอกจากจะออกแบบให้ลุกนั่งสบายและปลอดภัย ซึ่งมาจากองศาของโครงสร้างที่คิดขึ้นมาอย่างดีแล้ว ยังมีฟังก์ชันที่น่าถูกใจอย่าง การจัดเก็บของสำคัญต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุต้องใช้งานเป็นประจำให้อยู่ใกล้ตัว หยิบจับง่าย
03 | Loom
โดย Plural Designs
เก้าอี้ที่เกิดขึ้นจากความพยายามหาจุดร่วมกันระหว่างระบบอุตสาหกรรมกับงานทำมือ อันเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าเเละควรได้รับการเผยแพร่ จุดเด่นของLoom Chair คือมีโครงพนักพิงเเละที่นั่งทำจากโลหะ จากนั้นนำโครงเหล็กนี้ส่งต่อไปยังชุมชนผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาหัตถกรรมจากเส้นใยธรรมชาติอย่าง ผักตบชวา เป็นผู้จักสานจนเก้าอี้ออกมาเเล้วเสร็จ ก่อนประกอบเข้ากับโครงไม้เนื้อเเข็ง เป็นการต่อยอดและผสานงานฝีมือจากชุมชนต่าง ๆ ด้วยเทคนิควิธีร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกัน
04 | Stamping
โดย Silver Skin x THINKK Studio
เก้าอี้ที่เป็นการหวนกลับไปมองอุตสาหกรรมเก้าอี้ขนาดใหญ่แต่กำลังประสบปัญหาอย่าง อุตสาหกรรมงานปั๊มโลหะ (Metal Punching) ซึ่งเคยนิยมในยุค 80’s และเห็นกันมากในเก้าอี้ที่ถูกใช้ในงานวัด งานโรงเรียน งานหนังกลางแปลง หรืองานกิจกรรมงานต่าง ๆ ในชุมชน เก้าอี้ Stamping เป็นการนำศักยภาพของวัสดุและการผลิตมาพลิกแพลงใหม่ โดยต่อยอดเทคนิควิธีที่โรงงานชำนาญอยู่แล้ว นำมาสร้างมูลค่าภายใต้รูปโฉมดีไซน์ที่แข็งแรงและร่วมสมัยมากขึ้น
05 | Thin & Bold
โดย Sol Out x Mobella x THINKK Studio
Sol Out คือแบรนด์ผ้าเอ๊าต์ดอร์ ภายใต้การผลิตของ Gold House Decor ที่เน้นการให้ความสำคัญกับดีไซน์ของงานทอและการผลักดันนวัตกรรมความทนทานของผ้าใช้ภายนอก สู่การนำไปใช้ในงานออกแบบ ดังที่ในครั้งนี้เก้าอี้ Thin & Bold ภายใต้แบรนด์ Mobella เกิดจากการนำผ้าเอ๊าต์ดอร์มาใช้กับเฟอร์นิเจอร์บุอันเป็นการก้าวข้ามศักยภาพเดิมที่แบรนด์ Mobella เคยมี สู่ความเป็นไปได้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ภายนอกใหม่ ๆ มากขึ้น
06 | Respect the Nature
โดย o-d-a
o-d-a เป็นแบรนด์ที่สนใจงานไม้ธรรมชาติและการทำมืออยู่เป็นทุนเดิม แต่มากกว่านั้นคือการให้ความสำคัญกับการเดินทางสู่ความสงบภายในและการประนีประนอมกับธรรมชาติ เหมือนที่เก้าอี้ตัวนี้เป็นการนำต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ที่ยืนต้นตายอยู่หน้าบ้านของนักออกแบบ มาผ่านการตัดด้วยเลื่อยตัวเดียว เป็นเก้าอี้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “African Chair” สำหรับนักออกแบบรูปทรงนั้นชวนให้รู้สึกถึงความปล่อยวางและถ่อมตน ในแง่นี้การออกแบบจึงเป็นการสื่อสารถึงภายในตนมากกว่าการผลิตงานสร้างสรรค์อย่างเดียว
07 | One Day
โดย ease studio
ease studio มองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมเหล็กรายเล็กที่ได้แสดงฝีมือตามประตูรั้ว หรือเหล็กดัดของตึกแถว ซึ่งแต่ละเจ้าต่างใช้การพลิกแพลงการผลิตที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือ และทรัพยากรที่ไม่อาจเทียบโรงงานขนาดใหญ่ได้ เก้าอี้ตัวนี้เป็นการนำศักยภาพ รวมถึงผลงานออกแบบของช่างทำเหล็กดัดตัวจริงมาบรรจุลงในเก้าอี้ นอกจากความสนุกของหลากหลายลวดลายที่อนุญาตให้คนเลือกได้ตามความพอใจเเล้ว ยังเป็นการทำงานข้ามพรมแดนการออกแบบที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
08 | Summana
by Dots Design Studio
เหมือนชื่อที่ตรงไปตรงมา เก้าอี้ Summana (สัมมนา) นี้ มีความโดดเด่นที่หน้าตาซึ่งดูเรียบง่ายและคุ้นเคย เหมือนเก้าอี้ในห้องประชุม ที่ใช้ระบบอุตสาหกรรมในการผลิตออกมาจำนวนมาก ๆ (Mass Production) อันเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบให้ความสนใจ และต้องการนำมาปรับปรุงใหม่ โดยเน้นเรื่องความสะดวกสบาย พร้อมเขย่าหน้าตาของมันใหม่ เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทั้งด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชันการใช้งาน และราคาถูก แทนที่เก้าอี้ที่เราอาจไม่เคยตั้งคำถามกับมันมาก่อน
09 | Grow Bench
โดย Napat Pongpanatnukul
ไม่มีใครไม่ชอบต้นไม้ หรืออย่างน้อยก็ความสดชื่นจากต้นไม้ เก้าอี้ Grow Bench เป็นความพยายามผสานพื้นที่สีเขียวเข้ากับที่นั่ง ด้วยการนำเสนอการบรรจุพื้นที่สีเขียวลงไปในพื้นที่ใช้สอย หรือพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยนักออกแบบได้พยายามใช้พื้นที่ทางตั้ง หรือพื้นที่ในอากาศ เพื่อให้ตัวเก้าอี้สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เก้าอี้ทั้ง 9 เเบบ ที่เราได้นำเสนอไปข้างต้น รวมถึงเก้าอี้ดีไซน์อื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมด จากจำนวน 21 ตัว ในนิทรรศการครั้งนี้ หลายตัวเป็นงานต้นแบบ หรือเป็นแบบร่างทางความคิดคร่าว ๆ ที่รอการต่อยอด แต่ก็มีอีกหลายตัวที่ผู้จัดงานกล่าวว่า พร้อมแล้วสำหรับการเผยเเพร่สู่สาธารณะในเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถชมนิทรรศการจริง ๆ ซึ่งจัดอยู่ที่แกลเลอรีชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ได้ตั้งแต่วันนี้ – 9 กุมภาพันธ์ 2563
หรือติดตามรายละเอียดที่ www.facebook.com/thinkktogether และ thinkktogether.com
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นวภัทร