เตรียมติดตั้ง ระบบให้น้ำในสวน กัน - room
ระบบให้น้ำในสวน

เตรียมติดตั้ง ระบบให้น้ำในสวน กัน

การออกแบบ ระบบให้น้ำในสวน มีความสำคัญไม่แพ้การออกแบบสวน เพราะการให้น้ำกับพืชในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยดูแลให้สวนคงความงามได้ยาวนาน แต่การติดตั้งระบบให้น้ำย่อมมีต้นทุน ทั้งในแง่ราคาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และแรงงานการติดตั้ง ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการจัดสวน หรือการลงทุนทั่วไป แต่หากเจ้าของสถานที่ได้คำนึงถึงประโยชน์ทั้งในแง่ การประหยัดน้ำ ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ในการให้น้ำพืชระยะยาว ตลอดไปจนถึงแง่มุมของความสวยงามแล้วก็นับว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง

เนื่องจากในสวนมีพืชพรรณหลากหลายชนิดในแปลงปลูกรูปทรงอิสระ แตกต่างจากการปลูกพืชในระบบเกษตร ซึ่งมักปลูกเป็นแถวเป็นแนวที่ชัดเจน การติดตั้งระบบให้น้ำในสวนสวยจึงทำได้ยากกว่า อีกทั้งในการจัดสวนยังคำนึงถึงเรื่องความสวยงามเป็นที่ตั้ง ดังนั้นการเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงตำแหน่งการติดตั้งจึงมีความสำคัญไม่น้อย

วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่าน มาทำความรู้จักกับอุปกรณ์หลักในระบบให้น้ำอัตโนมัติกันสักหน่อย โดยเริ่มจาก

1.หัวจ่ายน้ำ (Sprinklers)

ที่นิยมใช้ในงานภูมิทัศน์ คือ หัวสปริงเกลอร์ ทั้งสปริงเกลอร์แบบป็อบอัพ แบบสเปย์ และเฟืองเกียร์ หัวจ่ายน้ำทุกรูปแบบ บริษัทผู้ผลิตจะกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ(Specified) ไว้เป็นข้อมูล  อย่างน้อยต้องระบุปริมาณการจ่ายน้ำ หรืออัตราการจ่ายน้ำ(Flow rate) แรงดันที่ใช้ (Pressure) รัศมีวงน้ำ(Radius) ขนาดเกลียวทางเข้า(Size inlet) เพื่อให้ผู้ใช้เลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน

2.ท่อส่งน้ำ (Piping)

สำหรับระบบให้น้ำในสวนมักใช้ท่อพีอี.ชนิด HDPE  ซึ่งมีความคงทนกว่าท่อพีวีซี อีกทั้งใช้งานได้นานกว่าท่อพีวีซีหลายเท่า จึงนิยมใช้เป็นท่อเมนหลัก และเมนรองในระบบน้ำ

3.วาล์วไฟฟ้า (Solenoid Valve)

นิยมเรียกทับศัพท์กันว่า โซลินอยด์วาล์ว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสำหรับระบบให้น้ำในสวน  ถูกสั่งงานจากโปรแกรมตั้งเวลา(Timer Controller) ให้มีหน้าที่เปิดและปิดเพื่อให้น้ำถูกส่งไปยังหัวจ่าย

4.โปรแกรมตั้งเวลาอัตโนมัติ (Timer Controller)

ทำหน้าที่ร่วมกับชุดของโซลินอยด์วาล์วและปั๊มน้ำ โดยชุดโปรแกรมตั้งเวลานี้จะสั่งให้โซลินอยด์วาล์วและปั๊มน้ำ เปิดให้น้ำออกไปยังพื้นที่ที่ต้องการให้น้ำตามเวลาที่กำหนดไว้  และปิดการให้น้ำเมื่อครบกำหนดเวลา ช่วยให้การให้น้ำพืชเป็นไปตามช่วงวันและเวลาที่ต้องการ ทั้งยังสามารถกำหนดระยะเวลาให้น้ำแก่พืชในแต่ละครั้งว่าจะให้นานเท่าใดได้

5.กรองน้ำ (Filter)

มีทั้งเครื่องกรองน้ำแบบตะแกรงตาข่าย ซึ่งต้องใช้กับน้ำที่สะอาดพอสมควร เป็นการกรองแค่ผิวด้านนอกของตะแกรงตาข่าย เกิดการอุดตันง่ายและเร็ว จึงควรล้างทำความสะอาดบ่อย ๆ ส่วนเครื่องกรองน้ำแบบดิสก์ การกรองแบบนี้ น้ำจะไหลผ่านแผ่นกรองที่มีลักษณะคล้ายแผ่นดิสก์หลาย ๆ แผ่นซ้อนกัน

กรองทั้งสองรูปแบบนี้ บางครั้งการติดตั้งตัวเดียว อาจให้อัตราการไหลของน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งานจึงสามารถใช้กรองได้มากกว่าหนึ่งตัว

ในการเลือกใช้เครื่องกรองน้ำ ควรมีข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ขนาดของทางน้ำเข้า-ออก  ความละเอียดในการกรอง ปริมาณการไหลของน้ำ(Flow Rate) และแรงดันสูงสุดที่เครื่องกรองรับได้ ซึ่งแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ก็มีคุณสมบัติเหล่านี้แจ้งไว้

6.วาล์ว (Valve)

ในระบบให้น้ำมีวาล์วหลายชนิด ทั้ง ฟุตวาล์ว ที่ติดตั้งอยู่ปลายสุดของท่อดูดเพื่อป้องกันอากาศหลุดเข้าไปปนกับน้ำ  วาล์วกันน้ำกลับ (Check Valve) วาล์วไล่ลม ซึ่งมีลิ้นทำหน้าที่เปิดระบายอากาศออกจากท่อ ทำให้อัตราการไหลของน้ำภายในท่อเป็นปกติ วาล์วลดแรงดัน ทำหน้าที่ปรับแรงดันให้เหมาะกับหัวจ่ายน้ำในบางโซนที่อาจมีปัญหาเรื่องแรงดันที่สูงเกินไป  ประตูน้ำหรือเกตวาล์ว เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมาก ใช้เปิด-ปิดน้ำในระบบ  ทั้งเมื่อต้องการทดสอบระบบ หรือแก้ไขและเปลี่ยนอุปกรณ์อื่นๆ เช็ควาล์ว เป็นอุปกรณ์บังคับให้น้ำไหลไปในทิศทางเดียว ไม่สามารถไหลย้อนกลับผ่านวาล์วตัวนี้ได้

7.เซนเซอร์น้ำฝน (Rain Sensor) เป็นอุปกรณ์เสริมที่นำมาใช้ร่วมกับ Timer Controller มีหน้าที่ตัดต่อวงจรการทำงานของชุดโปรแกรมที่ตั้งเวลาไว้ หากมีฝนตกในปริมาณมากพอที่ผู้ออกแบบตั้งค่าไว้ เซนเซอร์ตัวนี้จะตัดวงจรไม่ให้ระบบน้ำทำงาน และจะรอจนกว่าความชื้นหรือน้ำที่ตัวเซนเซอร์จับไว้ลดลงจนถึงค่าที่ตั้งไว้

8.ตู้ควบคุมระบบ(Switchboard)

ภายในตู้จะมีอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานของระบบน้ำที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า มีหลายขนาด ทั้งที่ใช้กับไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส

ภาพการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับปั้มน้ำ

หากต้องการเลือกใช้อุปกรณ์ของบริษัทใด ผู้ออกแบบควรมีข้อมูลอุปกรณ์ต่าง ๆ ของบริษัทนั้นอย่างครบถ้วนเสียก่อน เช่น หัวสปริงเกลอร์แบบต่าง ๆ ตัวกรองน้ำ อุปกรณ์ตั้งเวลา โซลินอยด์วาล์ว ฯลฯ  เพื่อการเลือกใช้ที่เหมาะสมโดยปกติทางบริษัทผู้ผลิตจะมีคู่มือให้ทางผู้แทนจำหน่ายไว้สำหรับบริการลูกค้า เพื่อใช้ในการออกแบบระบบ ในที่นี้ขอแนะนำอุปกรณ์ของบริษัท เรนเบิร์ด (Rain Bird)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย ได้มาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อรู้จักอุปกรณ์สำหรับระบบให้น้ำแล้ว ก่อนจะเริ่มออกแบบต้องมีแปลนสวนกันก่อน เพื่อกำหนดตำแหน่ง และองศาการจ่ายน้ำที่เหมาะสม เช่น หากหัวจ่ายนั้นอยู่ริมรั้วและต้องการให้น้ำกับไม้พุ่มบริเวณนั้น ก็อาจตั้งองศาหัวจ่ายไว้ที่ 180 องศา ส่วนบริเวณกลางสนาม หรือบริเวณที่มีพืชปลูกโดยรอบอาจตั้งไว้ที่ 360 องศา

โดยนำข้อมูลค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำที่พืชต้องการ ลักษณะดินของพื้นที่นั้น ๆ ขนาดพื้นที่ และขนาดหัวจ่ายน้ำที่กำหนดในแบบ เพื่อนำมาคำนวณหาปริมาณน้ำที่พืชในสวนต้องการต่อวัน ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าพืชที่ปลูกเป็นไม้ใหญ่ที่ขุดล้อมมากี่ต้น เนื่องจากไม้ขุดล้อมต้องการปริมาณน้ำที่มากกว่าพืชทั่วไป

แต่พืชในสวนไม่สามารถดูดน้ำในปริมาณมากได้ทีเดียวหมด หากให้น้ำเพียงครั้งเดียวอาจเกิดการสูญเสียน้ำโดยเอ่อล้นออกไป จึงควรนำปริมาณน้ำที่พืชต้องการในหนึ่งวัน มาแบ่งช่วงเวลา และแบ่งโซนการให้น้ำในแปลนย่อยออกเป็นหลาย ๆโซนตามความเหมาะสม เพื่อให้การให้น้ำแต่ละครั้งกินเวลาไม่นาน และใช้ปริมาณน้ำต่อครั้งไม่มากเกินที่พืชจะดูดไปใช้ได้ทัน

เนื่องจากการออกแบบระบบให้น้ำ ช่วยให้เจ้าของสวนสามารถใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นจึงต้องอาศัยข้อมูลรอบด้าน แม้อาจดูเหมือนซับซ้อนไปบ้าง แต่หากได้ทำความเข้าใจและทราบถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเลย

แต่เดิมการติดตั้งระบบให้น้ำในเมืองไทย มักแพร่หลายเฉพาะกับสวนขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเจ้าของสวนขนาดกลางและเล็กหลายแห่ง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการติดตั้งระบบให้น้ำกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากช่วยทุ่นเรื่องเวลา และแรงงาน ประกอบกับอุปกรณ์มีราคาที่ถูกลงกว่าแต่ก่อน

รอพบกับหนังสือ”ระบบให้น้ำในสวน” เขียนโดยอาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย เนื้อหาที่เจาะลึกจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเอง รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า หรือแม้หากไม่ได้ติดตั้งเอง ก็หารือกับผู้รับติดตั้งได้อย่างเข้าใจ  อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่รับติดตั้งระบบให้น้ำหน้าใหม่ที่ต้องการประกอบอาชีพนี้ เพื่อได้ศึกษาอย่างจริงจัง


เรียบเรียง-ทิพาพรรณ

ข้อมูล- ขวัญชัย จิตสำรวย

ขอขอบคุณภาพจาก

บริษัท เกทเวย์ อีควิปเมนท์ จำกัด 

Website : www.gatewayequipment.co.th

Facebook :  https://facebook.com/pages/category/Product-Service/Gateway-Equipment-Ltd-181772168647478/

โทรศัพท์ : 02-731-1992-5

 

บริษัท บ้านไร่ การ์เด้นท์ แอนท์  สปริงเกลอร์ จำกัด

Website : http://www.banraigarden.com/

Facebook : https://www.facebook.com/profile.php?id=100006585392834

โทรศัพท์ : 085-920-0600

 

Rainbird Corporation

Website : https://www.rainbird.com/

Facebook : https://www.facebook.com/RainBirdCorp/