NATURA Building ดึงธรรมชาติเข้ามาช่วยสร้างสรรค์พื้นที่ชีวิต - room
โฮมออฟฟิศ

NATURA BUILDING อาคารมิกซ์ยูสที่ดึงธรรมชาติเข้ามาช่วยสร้างสรรค์พื้นที่ชีวิต

อาคาร NATURA Building ของกลุ่มสถาปนิก  Diez+Muller Arquitectos จากประเทศเอกวาดอร์ เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์อาคารสำนักงานแบบมิกซ์ยูสที่เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างสิ่งแวดล้อม เพื่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงาน

ออกแบบสถาปัตยกรรม: Diez+Muller Arquitectos
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : Clemencia Echavarria

ตัวอาคารโอบล้อมคอร์ตกลางเอาไว้ให้เป็นพื้นที่สำหรับการระบายอากาศพร้อมกับเป็นสวนหย่อมส่วนตัว
ตัวอาคารโอบล้อมคอร์ตกลางเอาไว้ให้เป็นพื้นที่สำหรับการระบายอากาศพร้อมกับเป็นสวนหย่อมส่วนตัว
นักออกแบบพยายามอนุรักษ์ต้นไม้ดั้งเดิมบนพื้นที่ไปพร้อมกันกับการสร้างอาคาร หากมีต้นไม้ที่จำเป็นต้องรื้อถอนออกไป ก็จะนำไปปลูกในพื้นที่อนุบาลพรรณไม้ให้เเข็งแรง ก่อนนำกลับมาปลูกใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ที่ตั้งของอาคาร Natura Building นั้น อยู่ห่างจากกีโต เมืองหลวง เป็นระยะทาง 24 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่กำลังพัฒนาเป็นแถบที่อยู่อาศัย โจทย์ทางบริบทที่สำคัญของอาคารแห่งนี้จึงอยู่ที่สภาพภูมิอากาศแบบพิเศษอันเนื่องมาจากพื้นที่ตั้งที่อยู่ในเขตภาคพื้นดินที่เป็นภูเขาซึ่งมีระดับต่ำกว่าตัวเมือง และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องเดินทางจากบ้านมาถึงที่ทำงาน ซึ่งมีความยากทั้งในเรื่องระยะทาง รูปแบบการเดินทาง มลภาวะ จำนวนผู้คนในชุมชนขยาย ซึ่งส่งผลไปสู่การขาดแคลนบริการที่จำเป็น โจทย์จึงอยู่ที่การทำให้อาคารแห่งนี้เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานในพื้นที่เดียวกัน รวมทั้งข้อสำคัญคือ ต้องใกล้ชิดธรรมชาติ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเมือง

ระเบียงทางเดินที่พาดกลางโถงขนาดใหญ่ทำหน้าที่แจกจ่ายและเชื่อมต่อเส้นทางการสัญจรเข้าด้วยกัน โดยมีสวนสีเขียวอยู่ตรงกลาง
พื้นผิวของอาคารโชว์เท็กซ์เจอร์ของงานอิฐสีเทาใช้การวางตัวอาคารที่มีช่องเปิดสลับกันเพื่อสร้างการระบายอากาศทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ เปลือกอาคารแนวนอนส่วนตัว บอกใบ้ตำแหน่งทางเข้าอาคารอย่างถ่อมตัว

จากสภาพแวดล้อมของผืนที่ดินเดิมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณดั้งเดิมของพื้นที่ที่อยู่มาหลายทศวรรษ ตัวอาคาร 3 ชั้น ขนาด 2,500 ตารางเมตร แห่งนี้ จึงพยายามออกแบบให้กลมกลืนกับบรรยากาศของพื้นที่เดิม ให้ความเคารพกับต้นไม้เดิมในพื้นที่ และยังมองไปเผื่ออนาคตหากมีเพื่อนบ้านรายล้อมด้วยการใช้อาคารเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนให้กับที่ดิน

บริบทอีกประการที่สำคัญของผืนที่ดินคือ ระดับของที่ดินแบบสโลปตามแนวยาวของรูปแบบที่ดิน ตัวอาคารจึงเล่นระดับตามธรรมชาติของพื้นที่ นัยหนึ่งเพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติของพรรณไม้เก่าแก่ ไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์การใช้พื้นที่ภายในอาคารที่แตกต่างจากปกติ

ส่วนหน้าสุดของอาคารเปิดต้อนรับด้วยบันไดและฟาซาดระนาบแนวนอน ทำหน้าที่ต้อนรับผู้คนเข้าไปสู่พื้นที่ภายในอาคารส่วนแรกซึ่งเป็นลานกว้าง ทำหน้าที่เป็นส่วนกลางเชื่อมต่อทุกพื้นที่ของอาคารเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านทางทางเดินที่แตกต่างกันทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ส่วนตัว-พื้นที่ส่วนรวม พื้นที่ภายใน-พื้นที่ภายนอก โดยยังคงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนผ่านทางการมองเห็นและความรู้สึก

พื้นที่พักอาศัยส่วนกลางประกอบด้วยส่วนรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องพักผ่อนขนาดใหญ่ ที่ยังใช้วัสดุแบบเดียวกันกับส่วนสำนักงานเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

งานแลนด์สเคปดีไซน์คือหัวใจหลักของโปรเจ็กต์นี้ เน้นการเลือกพรรณไม้ในท้องถิ่นที่ดูแลง่าย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อาคารร่วมกับการใช้งานออกแบบเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของการใช้งานพื้นที่ อย่างการใช้ฟาซาดในแนวตะวันออก-ตะวันตกที่ควบคุมการปิดเปิดได้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสภาวะของแสงที่แตกต่างกันในช่วงวัน การใช้หลักการระบายอากาศแบบลมผ่านอาคาร (Cross Ventilation) อย่างที่พวกเราคุ้นเคยในพื้นที่ภายในทั้งส่วนทำงานและส่วนพักอาศัย รวมทั้งการใช้ช่องเปิดออกสู่สวนในการระบายอากาศตลอดทั้งวัน

เช่นเดียวกันกับการเลือกใช้งานวัสดุ ที่เลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างอิฐ ไม้ ร่วมกับวัสดุทางอุตสาหกรรมอย่างคอนกรีตและเหล็ก ด้วยรูปแบบที่สอดคล้องไปกับสิ่งแวดล้อมของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่รายล้อม โดยเน้นความยั่งยืนทั้งเรื่องความงามและฟังก์ชั่นการใช้งานไปได้ตราบนานเท่านาน

พื้นที่อาคารแห่งนี้ นอกเหนือจะเป็นพื้นที่ทำงานและอพาร์ตเม้นต์ที่พักอาศัยของพนักงานแล้ว ยังเปิดเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับชุมชนในการทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างการจัดนิทรรศการ หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศิลปะ เพื่อสร้างพื้นที่อิสระผ่านทางดีไซน์ให้กับชุมชนแวดล้อมได้อีกทาง

สำนักงานออกแบบได้รับการออกแบบพื้นที่แบบดับเบิ้ลสเปซที่มีโต๊ะประชุมส่วนกลาง และแจกจ่ายไปสู่พื้นที่ทำงานส่วนตัว
วัสดุโปร่งแสงถูกใช้เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ใช้งานพื้นที่ โดยยังคงชีวิตชีวาผ่านแสงธรรมชาติที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต
พื้นที่โถงส่วนกลางขนาดใหญ่สำหรับทำกิจกรรมหลากหลายประเภท ทั้งในออฟฟิศและกิจกรรมสำหรับชุมชน

Did you know?

สำหรับคนเอเชียฝั่งบ้านเรา อาจจะไม่คุ้นเคยกับงานดีไซน์จากประเทศเอกวาดอร์มากนัก ดังนั้น ก่อนจะเข้าไปถึงงานดีไซน์​ เราชวนคุณมารู้จักกับบริบทแวดล้อมของเอกวาดอร์ เพื่อออกเดินทางไปทำความเข้าใจเอกวาดอร์ไปพร้อม ๆ กัน

ประเทศเอกวาดอร์ เป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ โดยชื่อ Ecuador ได้มาจากคำว่า Equator หรือเส้นศูนย์สูตร นั่นก็เพราะเป็นประเทศที่มีเส้นศูนย์สูตรพาดผ่านตรงกลางพอดีตรงกีโต เมืองหลวงของประเทศ สภาพภูมิอากาศจึงเป็นแบบร้อนชื้นในส่วนชายฝั่ง และบนผืนแผ่นดินที่เป็นภูเขาจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าตามระดับความสูง

ไดอะแกรมแสดงแนวคิดการออกแบบที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ทิศทางลม แสงแดด เพื่อสร้างสภาวะน่าสบายให้กับทุกพื้นที่ของอาคาร

ภาพ : JAG Studio #GlobalDesignUpdate


สามารถติดตามอ่านเนื้อหาการสร้างสรรค์สเปซที่ควบรวมกิจกรรมหลากหลายไว้ในที่เดียว เพื่อรองรับประโยชน์ใช้สอยที่มีความยืดหยุ่น และความพร้อมสำหรับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ได้ใน room เล่ม 192 SPACE PLUS+ (ส.ค.-ต.ค.63)
.
หนังสือราคาเล่มละ 165 บาท
+ พัสดุไปรษณีย์ธรรมดา ค่าจัดส่ง 50 บาท รวม 215.00 บาท
+ พัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ค่าจัดส่ง 70.00 บาท รวม 235.00 บาท
.
สั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์ได้ที่ The BOOK HOUSE โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน หรืออินบ็อกซ์มาที่เพจ room magazine m.me/roomfan