สมาคมสถาปนิกสยาม กับการก้าวผ่าน “วิกฤตโควิด-19” ที่ทำให้สมาคมฯ ไม่สามารถจัดงานสถาปนิกได้ “การรื้ออาคารที่มีคุณค่า” เป็นปัญหาที่กำลังรอการแก้ไข และ “การติดอาวุธ” เพิ่มศักยภาพให้กับสถาปนิกไทยเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุน
วันนี้ สมาคมสถาปนิกสยาม มีบทบาทและแนวทางอย่างไร คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมฯ จะมาพูดคุยกับ บ้านและสวน ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในวันพรุ่งนี้
วิกฤตโควิด-19 กับสถาปนิกจิตอาสา
หลังจากคุณโอ๋-ชนะ สัมพลัง ได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายกสมาคมฯ และเริ่มรับตำแหน่งในช่วงต้นปี 2563 ก็เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้แนวนโนบายของสมาคมฯ ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ จากการเน้นไปที่ตัวสมาชิกด้านวิชาชีพ การเกิดสถานการณ์โรคระบาดทำให้สถาปนิกหลาย ๆ ท่าน เข้ามาเป็นจิตอาสาคอยช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาล คุณชนะเล่าถึงการทำงานในช่วงดังกล่าวให้ฟังว่า
คุณชนะ : “ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมฯ และเป็นสถาปนิกคนหนึ่ง ช่วงที่ Work from Home ก็เชิญชวนทุก ๆ คนที่เป็นสมาชิก หรือคนที่รู้จัก ไปช่วยโรงพยาบาลทางภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ใครอยู่ทางไหนก็ไปช่วยโรงพยาบาลแถวนั้น กลายเป็นว่าอาชีพของเราสามารถช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้ ช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนด้วย ช่วยโดยที่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าช่วยได้แค่นั้น นิดหน่อยก็ขอให้ได้ช่วย เป็นความรู้สึกใหม่ว่าพวกเราอาจช่วยได้มากกว่านั้น
“โดยสิ่งที่เราช่วยอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ อาจเป็นแค่ไปตีเส้นบนพื้น อาจไปดีไซน์ว่าพลาสติกจะขึงตรงไหนบ้าง เพื่อให้คนเดินผ่านแล้วเชื้อโรคไม่ติดกัน ก็รู้สึกดี รู้สึกว่าหน้าที่นายกสมาคมฯ เป็นเสมือนกระบอกเสียง เรียกคนก็ได้ ชวนคนก็ได้ บังคับคนก็ได้(หัวเราะ) ดูมีประโยชน์มากขึ้นไปอีกขั้น”
“ขณะนั้นทางสมาคมฯ ได้ทำการรวบรวมจิตอาสาที่ต้องการจะช่วยโรงพยาบาล ปรากฎว่าได้ผลตอบรับดีมาก ภายใน 3 คืน มีสถาปนิกตอบรับมากว่า 500 คน จากทั่วประเทศ มีการพูดคุยถึงองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที จากสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงพยาบาล ทั้งยังมีการไลฟ์สื่อสารองค์ความรู้นี้ออกไป
การทำงานที่เปลี่ยนไป หลังจากโควิด
อีกด้านหนึ่งบริษัทหลายบริษัทก็ต้องการความช่วยเหลือคือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะการทำงานต่างประเทศไม่สามารถทำได้ รวมทั้งงานบางประเภทก็ลดลง
คุณชนะ : “พอประเทศไม่เปิด จึงไม่สามารถทำงานข้ามประเทศได้ คนก็ต้องเริ่มปรับตัว ออฟฟิศใหญ่จะปรับตัวได้เร็ว แต่จะทำอย่างไรให้สมาชิกทั่วไปเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ทำงานคนละซีกโลกได้ด้วย BIM (โปรแกรมการออกแบบที่จบงานไปถึงการคำนวณโครงสร้าง และราคาได้) มีโปรแกรมที่เขียนแบบร่วมกัน ดีไซน์ร่วมกัน และตรวจอย่างละเอียดได้ เพราะเราไปนั่งกางแบบไม่ได้ มันยากขึ้น ทั้งเรื่องเทคโนโลยี องค์ความรู้ และเรื่องเงิน
“มีงานใหญ่ ๆ อย่างงานราชการที่มีประกาศ ทางฝ่ายวิชาชีพก็จะเช็คว่ามีการประกาศโครงการใหม่ ๆ ที่บอร์ดไหน เราจะสร้างเว็บบอร์ดในสมาคมฯ ไว้ให้ทุกคนได้ดูกัน คนก็จะเห็นว่าเข้ามาในบอร์ดสมาคมฯ แล้วมีประโยชน์ ต้องทำคุณภาพของงานตัวเองให้ไปกันได้กับงานใหญ่ ๆ อย่างงานราชการก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาอีกว่า ถ้าเด็ก ๆ อยากจะทำตัวเองให้มีคุณสมบัติที่สามารถรับงานราชการ (Qualify)ได้ จะต้องทำอย่างไรดี น้อง ๆ อาจจะทำร้านกาแฟเล็ก ๆ หรือออกแบบบ้านแต่ประเภทเดียว แล้วพอเกิดเหตุอย่างโควิดก็อาจจะแย่ ฉะนั้นทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะก้าวขึ้นไปเป็นพหูสูต ต้องทำหลาย ๆ อย่างได้ อันนี้แค่ราชการนะ ยังไม่ไปถึงงานต่างประเทศ ถ้าเราเปิดทะเลให้กว้างขึ้น งานก็จะมีอีก โอ้โห! ทั้งโลก แต่เราจะไปถึงไหม ก็ต้องมีองค์ความรู้ด้วย”
ติดอาวุธด้วยองค์ความรู้
การจัดเล็คเชอร์ในหลากหลายรูปแบบเป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังถูกผลักดัน เพราะความรู้จะก่อให้เกิดผลงานที่ดีตามมา
คุณชนะ : “องค์ความรู้อันนี้สำคัญ อย่างการจัดเล็คเชอร์ความรู้ เวลาจัดจะไม่ค่อยมีคนมาฟัง แต่จัดงานอะไรที่สนุกสนาน หรือดีไซเนอร์ดังมาคุยก็จะมากันเพราะเป็นแฟนคลับ มีความชื่นชอบผลงาน แต่จริง ๆ ลืมไปว่า ตัวเองขาดอะไร มัวไปชื่นชอบเขา เขานะมีเต็ม (หัวเราะ) ที่นี่จะปลุกชีพ ISA ขึ้นมาใหม่ (Internal Special Affairs ทำหน้าที่พัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยการรวบรวม เผยแพร่ และให้คำปรึกษา) เช่น อยากจะทำ Aluminum Cladding แต่ไม่รู้เทคนิคทำอย่างไร หลายครั้งผมรู้สึกว่าเล็คเชอร์ที่เป็นองค์ความรู้ กับเล็คเชอร์ที่เป็นแรงบันดาลใจ มีความสำคัญเท่ากัน เราต้องมีทั้งคู่”
สถาปนิกไม่ต้องเป็นดีไซเนอร์ก็ได้
สมาคมฯ ยังมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงสถาปนิกที่ทำงานในแขนงต่าง ๆ ซึ่งมีคุณค่า และความสุขกับการทำงานไม่แพ้ดีไซน์ฮีโร่เลย
คุณชนะ : “เป็นการยกระดับของคนที่ทำสเป็ค ตรวจงานก่อสร้าง หรืออยู่ในองค์กรที่ดูแลอาคาร อยากจะบอกเขาว่า อาชีพเรามีหลากหลายทิศทางนะ ไม่ต้องมาเป็นดีไซเนอร์กันหมดหรอก รู้จักวัสดุไปทางสายวัสดุ ทางสื่อสารก็มี บางคนไปถ่ายภาพโด่งดัง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จได้ มีความสุขในการทำงานได้เหมือนกัน
“ช่วงแรก ๆ คิดแค่นั้น แต่พอเริ่มทำ ISA มีความรู้สึกว่า มีหลายคนที่นำมาพูดถึงได้ อย่างบางคนทำ AutoCad ขั้นแอดวานซ์ได้เงินเดือนมากกว่าคนที่ทำงานด้านดีไซน์อีก เลยอยากจะให้คนที่รู้สึกว่าถ้ากำลังตันกับวิชาชีพออกแบบ อยากให้เห็นทิศทางที่กว้างขึ้นว่า คนเหล่านี้หล่อเหมือนกันนะ แล้วก็ปวดหัวน้อยกว่าดีไซเนอร์ ซึ่งมีเยอะเลย บางทีเป็นสถาปนิกที่นั่งทำช็อปดรออิ้งในองค์กรใหญ่ ๆ สถาปนิกบางคนไปขายวัสดุก่อสร้าง สมัยก่อนอาจจะมองว่าไม่เป็นที่นิยม แต่ตอนนี้ไม่แล้ว บางคนเขาก็มีความสุขที่ได้ใช้ความรู้นี้ไปให้ความรู้แก่คนอื่นต่ออีกที ถ้ามองให้เป็นบวกก็จะเห็นแนวทางต่าง ๆ อีกเยอะ เด็กทุกคนไม่ต้องจบมาแล้วเป็นดีไซเนอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์หมดหรอก”
อะไรจะเกิดขึ้นกับงาน ASA หรืองานสถาปนิก
ปกติทางสมาคมฯ จะมีกิจกรรมในการจัดงานสถาปนิกมาโดยตลอด ทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้และหารายได้จากบู๊ธ เพื่อมาสนับสนุนงานต่าง ๆ แต่เมื่อโควิดมางานตามแผนจึงจัดไม่ได้
คุณชนะ : “พอมีโควิดมันกระเทือนกับสมาคมฯ ทำให้ปีนี้เราจัดงานไม่ได้ รายรับจะกลายเป็นศูนย์ เราก็ไม่ได้อยากให้คนที่สร้างรายรับให้กับสมาคม ฯ มาโดยตลอด เขาต้องเจ็บ ทั้งปีนี้และปีหน้ารายได้เกือบไม่มีเลย เพราะปีหน้าก็ต้องให้ตัวเลขกลับมาใหม่จากการจัดงาน โดยเราต้องให้สมาคมฯ ขาดทุนน้อยสุด
“การไม่มีรายได้สำหรับพี่ ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดปาดตาย แต่เป็นเรื่องน้ำจิตน้ำใจมากกว่า เรามีน้อย เราก็ใช้น้อย (หัวเราะ) คือเรากลับมองไกลไปกว่าปีหน้า เราจะพึ่งรายรับจากงาน ASA เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องคิดกิจกรรมขึ้นมาใหม่ และอาจจะยั่งยืนขึ้นในอนาคต เพราะในอดีตปีหนึ่งจะขึ้นอยู่กับเงินก้อนเดียว เพราะฉะนั้นลองนึกภาพดูปีแรกไม่มีเงิน ปีสองไม่มีเงิน แสดงว่าในปีหน้าของพี่ต้องจัดอีกงานหนึ่ง การจัดอีกงานคือทางแก้ปัญหา การลดกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คืออีกหนึ่งทางแก้ปัญหา นอกเหนือจากการให้ความรู้ ต้องมีกิจกรรมที่สร้างรายได้กลับมาให้กับสมาคมฯ ด้วย อย่าโกธรกัน ถ้าเล็คเชอร์จะเก็บเงิน (หัวเราะ)”
งานใหม่ และโมเมนตัมใหม่ ๆ ของวงการ
คุณชนะ : “ไฮไลท์ปีหน้าจะมีสองงาน คืองาน ASA และอีกงานขอเรียกง่าย ๆ ว่า ASA Real Estate ไปก่อน สองงานนี้ไม่เหมือนกัน งานแรกไม่ห่วงเงินเพราะเราจัดเพื่อให้รอดจากเศรษฐกิจโควิด-19 แต่จะถือโอกาสนี้สร้างจุดสำคัญใหม่ของงาน ASA คือจะเชิญสมาคมวิชาชีพทั้งหมดเลย รวมทั้งสภาสถาปนิกมาร่วมกันจัด โดยที่ทุกคนไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทอง เพราะเราไม่มี(หัวเราะ) ผมคิดแค่การที่สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ มาร่วมกิจกรรมก็เป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว ตอนนี้ทุกคนรับปากหมดแล้วครับ ทั้งแลนด์สเคป สมาคมอินทีเรียร์ ผังเมือง สภาสถาปนิก ตอนนี้ก็ไปชวนมูลนิธิอาคารเขียว
“ส่วนอันที่สองเป็นอีเว้นต์ใหม่ คือ ASA Real Estate แต่ก่อนเคยจัดและจัดแค่วันเดียว เป็นการประกาศรางวัลง่าย ๆ คราวนี้คิดว่าถ้าเป็นแฟร์จะเป็นแฟร์ที่น่าสนใจมาก เราจะมาขยายรางวัลให้ดูสำคัญ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามา
“คือการที่ทำให้ผู้ประกอบการฟื้น หรือมีโมเมนตัมใหม่ ดีไซเนอร์ และทุกคนจะได้รับโมเมนตัมนั้นไปหมด แรก ๆ มีคนทักว่าเป็นหน้าที่ของสมาคมฯ หรือเปล่า ก็คิดว่าต้องแก้ที่ตัวเรา และต้องแก้สิ่งที่แวดล้อมด้วย ส่วนธีมของงานจะว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นธีมที่ดีเวลลอปเปอร์ต้องตระหนัก อาจมีรางวัลให้กับการออกแบบที่สามารถลดการสร้างขยะให้โลกน้อยลง หรือโครงการที่ไม่ปล่อยฝุ่นออกมาจากงานก่อสร้าง เพื่อประกาศให้กับคนที่ทำดี ดีกว่าการออกเป็นกฎหมายว่าคุณต้องห้ามปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นะ เพราะคนจะทำตามหรือไม่ทำตามนั้นเป็นสิ่งที่วัดกันยาก”
อาคารอนุรักษ์ แค่ ‘รัก’ มันไม่พอ
บทบาทอีกด้านหนึ่งของสมาคมฯ ที่ผู้คนคาดหวังคือ งานประเภทอาคารอนุรักษ์ อย่างกรณีบ้านสำนักงานป่าไม้ที่จังหวัดแพร่ จนนำไปสู่โมเดลการปัญหาใหม่ เพื่อความยั่งยืนในการทำให้อาคารเหล่านั้นได้กลับมาใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องรอวันผุพังอีกครั้ง
คุณชนะ : “สนุกมากเลย (หัวเราะ) จริง ๆ ส่วนตัวก็ทำแต่งานโมเดิร์น แต่พอรับตำแหน่งได้ 2 อาทิตย์ ก็มีเรื่องบ้านสำนักงานป่าไม้ที่แพร่ก็มีความเห็นเข้ามาว่า สมาคมฯ ต้องจัดการ ต้องประท้วง นับเป็นสิ่งใหม่จริง ๆ พอเราไม่รู้ ก็ถามต่อไปถึงความสำคัญในแง่มุมต่าง ๆ
“เราไปในพื้นที่ ได้ฟังผู้เชี่ยวชาญ มีชาวบ้านมาเล่าให้ฟัง ได้เห็นสีหน้าเขา รู้ว่าเขาเจ็บปวดใจเหมือนโดนรื้อบ้านตัวเองทิ้ง เห็นถึงความสำคัญจริง ๆ ทั้งเรื่องของลวดลายอาคาร สีที่ซ่อนอยู่ในทุกเลเยอร์ของไม้ มีความสำคัญอย่างไร ตัวบ้านได้เล่าเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมาอย่างไร แล้วก็ลองนำตัวเราไปเทียบกับเจ้าหน้าที่ที่รื้อบ้านทิ้ง ถ้าเป็นเราไม่เห็นความสำคัญก็อาจจะรื้อเหมือนกันนะ เพราะเราไม่เห็นคุณค่า ฉะนั้นเรื่องงานอนุรักษ์ก็เป็นเรื่ององค์ความรู้เหมือนกัน คือทำอย่างไรให้คนมีความรู้เท่า ๆ กัน หรือมีพื้นความรู้คล้าย ๆ กันที่จะรู้ว่าหลังนี้มันสำคัญ แบบไหนควรจะเก็บ และเก็บไว้เพื่ออะไร
“อันนั้นเป็นคำถามที่พี่ถามเขากลับทุกครั้งเลย ไม่ว่าจะอาคารอีสต์ เอเชียติก บ้านหลุยซ์ที่ลำปาง แม้แต่สกาลา คำถามคือเมื่อเรียกร้องแล้วจะเก็บไว้ทำอะไร เมื่อได้กลับมาแล้ว สิ่งที่ทำให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง มีคนมาดูหรือมีคนมาใช้อย่างเหมาะสมอีกครั้งจะต้องทำอย่างไร หลายคนตอบไม่ได้ หรือเป็นคำตอบที่เป็นการสตัฟฟ์ไว้ให้พังอีกรอบหนึ่ง รอเวลาซ่อมแซมใหม่ เช่น การทำเป็นมิวเซียม หรืออาคารการเรียนรู้ เรื่องจริงคือไม่มีคนมาเดิน ต้องคิดมากกว่านั้น กว่าจะเป็นอาคารการเรียนรู้ที่ไม่มีคนเดิน หรืออาจจะมีคนมาเดินวันละ 3 คน ได้ค่าเข้าชมวันละ 20 บาท สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่ทุกคนตอบไม่ได้ ทุกคนแค่รัก แต่แค่รักไม่พอ พูดในที่ชุมชนหลาย ๆ ครั้งว่า รักไม่พอนะ คิดเยอะ ๆ ด้วย”
การแก้ปัญหา อาคารอนุรักษ์ อย่างเป็นระบบ
คุณชนะ : “สืบเนื่องจากการติดตามข่าวบ้านของกรมป่าไม้ (บอบเบย์ เบอร์มา) ที่ถูกรื้อโดยไมได้ตั้งใจ จนเกิดความเสียหายของมรดกของชาติที่เป็นข่าวหลายเดือนก่อน ทางสมาคมฯ มีความคิดที่จะสร้างแอปพลิเคชันที่ทำให้คนทั่วไปรู้ว่าอาคารไหนที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม หรือแอปพลิเคชันนี้อาจจะสร้างให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาอาคารที่เป็นมรดกของชาติได้
“สมมติเราวางโครงเสร็จแล้ว ประกาศไปว่าใครที่อยู่ตรงไหนในพื้นที่มาช่วยแจ้งหน่อยว่า มีตึกตรงไหนสวย แค่สวยนะ แล้วมีอายุพอสมควร มีความสำคัญกับจิตใจของคน แสดงถึงวิวัฒนาการของชุมชนนั้น ๆ อาจจะมีใครสักคนอยู่ตรงนั้น อาจจะไม่ได้สำคัญมาก แต่สำหรับชุมชนที่นี่คือดี ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ขอให้แจ้งไว้ บันทึกไว้ อยากทำแพลตฟอร์มที่แค่ถ่ายรูปแล้วบันทึกไว้เป็นข้อมูลต้นทาง วิธีการแบบนี้เราช่วย ๆ กันทำได้ วันไหนเกิดอาคารหลังไหนกำลังจะถูกทำลาย อย่างน้อยเหตุการณ์นั้นมันก็อาจจะไม่เกิด หรือลดน้อยลง จริง ๆ แล้วมีหลายตึก ไม่ใช่ตึกสาธารณะนะ เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่เราให้ความรู้เขาได้
“จากเหตุกาณ์ดังกล่าวนี้ การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทางสมาคมฯ มีความเห็นว่าจากนี้หรือต่อไป การซ่อมแซมอะไรก็แล้วแต่ เราอยากให้มีสถาปนิก วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ทั้ง 4 กลุ่ม นี้ เข้ามาช่วยกันวิพากษ์ หรือนำข้อมูลตามสิ่งที่ตนเองรู้ทั้งหมดมากองรวมกัน เราจะได้งานที่ไม่ตกหล่น และได้การก่อสร้างที่สมบูรณ์ ไม่ใช่การรื้อทิ้ง แล้วไปสั่งไม้ใหม่จากโรงไม้มาทำ แน่นอนว่าเราจะได้ไม้เรียบ เนี้ยบ เลย แต่มันคือของปลอม การซ่อมแซมตามหลักโบราณคดีจริง ๆ นั้น ไม้ที่ถูกถากด้วยขวานก็ต้องใช้ขวาน ถูกเลื่อยวงจักรที่เห็นผิวเป็นวง ๆ ก็ต้องเลื่อยแบบนั้น จะเป็นเสน่ห์ที่เล่าเรื่องได้ เพราะฉะนั้นการซ่อมแซมบ้านป่าไม้ที่แพร่ให้กลับมาในอนาคต หรือคนส่วนหนึ่งเรียกว่า “แพร่โมเดล” เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างขั้นตอนที่ถูกต้องของงานอนุรักษ์ เราไม่อยากได้บ้านใหม่กลับมาแล้ว ทุกคนคิดว่าเรื่องนี้จบไป อยากให้อุทาหรณ์ในครั้งนี้ได้รับการบันทึก และเป็นแนวทางการทำงานสำหรับทุก ๆ หน่วยงาน และชุมชนในอนาคต”
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
BAMBUNIQUE แบรนด์ไทยที่พาไม้ไผ่ก้าวข้ามขีดจำกัดไปสู่เฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งระดับลักชัวรี่